ข้ามไปเนื้อหา

กองทัพแห่งชาติพม่า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

กองทัพแห่งชาติพม่า (Burma National Army; ภาษาพม่า: ဗမာ့အမျိုးသားတပ်မတော် ออกเสียง: [bəma̰ əmjó ðá taʔ mədɔ̀]) เป็นกองทัพของรัฐบาลพม่าที่จัดตั้งโดยญี่ปุ่นระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 และเข้าร่วมในการทัพพม่าซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการร่วมรบกับญี่ปุ่น แต่ในภายหลังได้แยกตัวออกมาร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตรแทน

การก่อตั้ง

[แก้]

ใน พ.ศ. 2483 ความสนใจต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของกองทัพญี่ปุ่นได้เพิ่มขึ้นเพราะอังกฤษได้ให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่กองทัพจีนคณะชาติเพื่อต่อต้านญี่ปุ่นระหว่างสงครามจีน – ญี่ปุ่นครั้งที่ 2 เส้นทางในการขนส่งยุทธปัจจัยคือถนนสายพม่า นายพลซูซูกิ เคอิจิ ได้รับมอบหมายในการหากลยุทธเพื่อดำเนินการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เขาจึงวางแผนยึดครองพม่าที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษ

ญี่ปุ่นรู้จักพม่าน้อยมากในเวลานั้น และมีการติดต่อกันน้อยมาก ตัวแทนระดบสูงของญี่ปุ่นในพม่าขณะนั้นคือโคกุบุ โชโซะซึ่งพักอยู่ในพม่าหลายปี และติดต่อกับกลุ่มต่อต้านอังกฤษในพม่า นายพลซูซูกิเดินทางมาพม่าอย่างเป็นความลับในเดือนกันยายน พ.ศ. 2483 เข้าพบกับผู้นำทางการเมือง ทะขิ่นโกด่อว์ไมง์ และทะขิ่นเมียะ ต่อมาญี่ปุ่นได้ติดต่อกับผู้นำนักศึกษาพม่าในจีนคืออองซาน อองซานนั้นออกจากพม่าใน พ.ศ. 2483 และเข้าสู่จีนเพื่อพยายามติดต่อกับกลุ่มคอมมิวนิสต์ เขาไปถึงอมอยและได้พบกับนายพลซูซูกิ

นายพลซูซูกิและอองซานเดินทางไป หลังจากพูดคุยกันได้ตกลงกันตั้งองค์กรชื่อมินามิ กิกันเพื่อสนับสนุนพม่าฝ่ายต่อต้าน และปิดถนนสายพม่าที่เข้าสู่จีน และฝึกนักรบพม่าสำหรับเรียกร้องเอกราชในไทยหรือดินแดนจีนที่ถูกญี่ปุ่นยึดครอง อองซานและทะขิ่น 30คน ถูกฝึกที่เกาะไหหลำ ทะขิ่นตุน โอเกได้รับเลือกให้เป็นผู้นำกลุ่มในการนำกองกำลังเข้าสู่พม่า นายพลซูซูกิได้ชื่อพม่าว่าโบโมโจในการทำงานในมินามิ กิกัน การทำงานของกองทัพพม่าเอกราช

ในวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ญี่ปุ่นได้โจมตีสหรัฐและอังกฤษ ในวันที่ 28 ธันวาคม ได้มีการลงนามในกรุงเทพฯ มินามิ กิกันได้สลายตัวไปและจัดตั้งกองทัพพม่าเอกราชขึ้นแทน ในครั้งนี้มีทหารพม่า 227 และทหารญี่ปุ่น 74 คน กองทัพนี้แบ่งเป็นหน่วยย่อยเพื่อสนับสนุนการรุกรานพม่าในเดือนมกราคม พ.ศ. 2485 ทหารพม่าบางส่วนเป็นชาวพม่าที่อาศัยอยู่ในไทยและพูดภาษาพม่าไม่ได้[1] เมื่อญี่ปุ่นเข้าสู่พม่า มีอาสาสมัครในพม่าจำนวนมากเข้าร่วมกับกองทัพ กองทัพญี่ปุ่นไปถึงย่างกุ้งเมื่อ 8 มีนาคม กองทัพพม่าขยายตัวจาก 12,000 คนไปเป็น 18,000 คน อาสาสมัครที่เข้าร่วมกับกองทัพไม่ได้ทำงานกับกองทัพอย่างจริงจัง แต่เป็นกองกำลังอิสระของตนเอง ญี่ปุ่นให้อาวุธแก่กองทัพเพียงบางส่วน อาวุธส่วนใหญ่ได้มาจากอังกฤษที่ยึดได้

การต่อสู้ภายใน

[แก้]

ทหารกองทัพพม่าเอกราชบางส่วนเกี่ยวข้องกับการโจมตีชนกลุ่มน้อยโดยเฉพาะชาวกะเหรี่ยงและผู้อพยพชาวอินเดีย โดยการปะทะกันที่รุนแรงที่สุดคือการปะทะกับกองกำลังกะเหรี่ยงที่ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดี กองทัพพม่าเอกราชเมื่อเข้าเมืองได้ได้พยายามจะจัดการปกครองในเมืองต่างๆ แต่ฝ่ายญี่ปุ่นไม่เห็นด้วย สั่งระงับและห้ามทหารกองทัพพม่าเอกราชเข้าเมือง

การจัดตั้งกองทัพแห่งชาติพม่า

[แก้]

หลังการสู้รบใน พ.ศ. 2485 สิ้นสุดลง กองทัพพม่าเอกราชได้สลายตัวไปญี่ปุ่นได้จัดตั้งกองทัพป้องกันพม่า (ภาษาพม่า: ဗမာ့ကာကြယ္ေရးတပ္မေတာ္) กองทัพใหม่มีทหาร 3,000 คน ที่ได้รับการฝึกจากทหารญี่ปุ่น ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2486 รัฐพม่าได้รับเอกราชจากญี่ปุ่น บามอว์ซึ่งเป็นนักโทษการเมืองในสมัยอังกฤษปกครองได้เป็นอธิปติแห่งรัฐและอองซานเป็นรัฐมนตรีกระทรวงป้องกันประเทศและถือเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพแห่งชาติพม่า สมาชิกของกองทัพทั้งหมดเป็นชาวพม่า มีเพียงกองพันเดียวที่เป็นชาวกะเหรี่ยง แม้ว่าพม่าจะเป็นรัฐเอกราชแต่ก็ยังมีทหารญี่ปุ่นประจำการในพม่าและทำให้ชาวพม่าหันมาต่อต้านญี่ปุ่นในที่สุด

การเปลี่ยนข้าง

[แก้]

ระหว่าง พ.ศ. 2486 – 2487 กองทัพแห่งชาติพม่าได้ติดต่อกับกลุ่มการเมืองในพม่า เช่นพรรคคอมมิวนิสต์พม่าที่ย้ายไปตั้งมั่นในเขตเทือกเขาตั้งแต่ พ.ศ. 2485 ในที่สุดได้ร่วมกันจัดตั้งองค์กรที่เรียกองค์กรต่อต้านฟาสซิสต์โดยมีทะขิ่นโส ผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์พม่าเป็นผู้นำ แม้ว่าจะมีกองทัพป้องกันอาระกันที่สนับสนุนญี่ปุ่นตั้งอยู่แต่กองทัพแห่งชาติพม่าสามารถติดต่อกับกองพลที่ 136 ของอังกฤษในอินเดีย โดยการติดต่อครั้งแรกเป็นการติดต่อโดยอ้อม ผ่านทางหน่วยทหารกะเหรี่ยงของกองทัพแห่งชาติพม่าในย่างกุ้งและส่งตัวแทนโดดร่มลงในรัฐกะเรนนีในพม่าตะวันออก

ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2487 องค์กรต่อต้านฟาสซิสต์ได้ติดต่อกับกองทัพอังกฤษเพื่อเตรียมการลุกฮือขึ้นต่อต้านญี่ปุ่นรวมทั้งกองทัพแห่งชาติพม่าด้วย กองทัพอังกฤษได้ติดต่อกับอองซาน การลุกฮือของกองทัพแห่งชาติพม่าครั้งแรกในพม่าตอนกลาง ในปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2488 กองทัพแห่งชาติพม่าได้ออกมาเดินขบวนและแยกย้ายกันไปสู่พม่าตอนกลางที่มีการสู้รบอย่างดุเดือด วันที่ 27 มีนาคมเป็นวันที่ประกาศสงครามกับญี่ปุ่นอย่างเปิดเผย

การร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตร

[แก้]

กองทัพ 136 ได้ติดต่อกับอองซาน และในวันที่ 15 พฤษภาคม เขาได้พบกับนายพลวิลเลียม สลิม ผู้บัญชาการกองทัพอังกฤษที่ 14 ในพม่า ทะขิ่นโสและอองซานหวังว่ากองทัพแห่งชาติพม่าจะได้รับการยอมรับให้เป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังสัมพันธมิตร และองค์กรต่อต้านฟาสซิสต์จะได้เป็นรัฐบาล แต่สลิมปฏิเสธ กองทัพแห่งชาติพม่าถูกกองทัพอังกฤษปลดอาวุธในพื้นที่ที่การสู้รบสิ้นสุดลง องค์กรต่อต้านฟาสซิสต์ยอมรับที่จะเป็นขบวนการทางการเมือง กองทัพแห่งชาติพม่าเปลี่ยนชื่อเป็นกองทัพนักรบพม่าและร่วมมือในการขับไล่ญี่ปุ่นออกไปจากพม่าภาคใต้ หลังจากนั้น สันนิบาตเสรีภาพประชาชนต่อต้านฟาสซิสต์ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่พัฒนาขึ้นมาจากองค์กรต่อต้านฟาสซิสต์ได้เข้าร่วมกับรัฐบาลพลเรือนของพม่า กองทัพนักรบพม่าถูกปลดอาวุธหลังการเจรจาเพื่อรวมเข้าเป็นกองพลหนึ่งของกองทัพพม่าหลังสงคราม ได้เกิดความยุ่งยากขึ้นในพม่าหลังจากที่กองทัพอังกฤษถอนตัวออกไป และทหารอินเดียไม่สามารถเข้าปฏิบัติการในพม่าได้ ในที่สุดสถานการณ์ได้นำไปสู่ความวุ่นวายใน พ.ศ. 2490 และกลายเป็นสงครามกลางเมืองเต็มรูปแบบใน พ.ศ. 2492

อ้างอิง

[แก้]
  1. Bayly and Harper, p.170
  • Allen, Louis (1984). Burma: The Longest War 1941-45. J.M. Dent and Sons. ISBN 0-460-02474-4.
  • Bayly, Christopher; Tim Harper (2005). Forgotten Armies. London: Penguin. ISBN 0-14-029331-0.
  • Latimer, Jon (2004). Burma: The Forgotten War. John Murray. ISBN 978-0-7195-6576-2.
  • Lintner, Bertil (1990). The Rise and Fall of the Communist Party of Burma (CPB). Cornell Southeast Asia Program. ISBN 0-87727-123-2.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]