ข้ามไปเนื้อหา

กรณีจอร์เจ มาร์ตีนอวิช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

จอร์เจ มาร์ตีนอวิช (เซอร์เบีย: Ђорђе Мартиновић / Đorđe Martinović; 1929 – 6 กันยายน 2000, ชิตลุก ประเทศเซอร์เบีย) เป็นเกษตรกรชาวเซอร์เบียจากคอซอวอ และเป็นศูนย์กลางของเหตุการณ์ในเดือนพฤษภาคม 1985 ภายหลังเขาเข้ารับการรักษาการบาดเจ็บจากการสอดเอาขวดเข้าในทวารหนักของตน เหตุการณ์นี้ต่อมาเป็นที่เรียกกันว่า กรณีมาร์ตีนอวิช (Martinović affair) ซึ่งกลายมาเป็นประเด็นสาธารณะในการเมืองเซอร์เบีย แม้ว่าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้จะยังเป็นที่ถกเถียงต่อไปอีกหลายปีให้หลัง แต่เหตุการณ์นี้ก็ได้ทำให้ความระหองระแหงระหว่างชาวเซิร์บกับชาวแอลเบเนียในคอซอวอ ที่มีอยู่เลวร้ายลงไปอีก

เหตุการณ์

[แก้]

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 1985 จอร์เจ มาร์ตีนอวิช ชายวัย 56 ปี พลเมืองของกญิลาเน เดินทางไปยังโรงพยาบาลท้องถิ่นด้วยเศษขวดแตกฝังอยู่ในทวารหนัก เขาอ้างว่าเขาถูกชายแอลเบเนียสองคนทำร้ายยขณะกำลังทำงานอยู่ในไร่นา หลังถูกนำตัวไปสอบสวนโดยพันเอกประจำกองทัพประชาชนยูโกสลาฟ มาร์ตีนอวิชยอมรับว่าการบาดเจ็บนี้เขาเป็นคนทำขึ้นเองขณะพยายามจะสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง ผู้ตรวจการณ์สาธารณะรายงานว่า "โจทก์ได้เขียนสรุปซึ่งปรากฏว่าบาดแผลนั้นเกิดจากการกระทำเพื่อ 'สำเร็จความใคร่ให้ตนเอง' ขณะอยู่ในไร่นาของตน [เขา] เอาขวดเบียร์วางบนแท่งไม้ปักบนพื้น แล้วจึงปีนขึ้นไปนั่ง 'บนขวด' [ให้ขวดเข้าในทวารหนัก] 'แล้วจึงมีความสุข'"[1] ผู้นำชุมชนที่จอร์เจอาศัยอยู่ได้ออกแถลงการณ์บรรยายการบาดเจ็บของจอร์เจว่าเป็น "ผลจากอุบัติเหตุที่เกิดจากการกระทำ[ทางเพศ]ด้วยตนเอง"[2]

เขาถูกส่งตัวไปยังเบลเกรดเพื่อเข้ารับการตรวจสอบต่อโดยสถาบันการแพทย์กองทัพซึ่งถือเป็นกองการแพทย์ที่มีเกียรติของเซอร์เบียในเวลานั้น กระนั้น ทีมแพทย์ที่เบลเกรดรายงานว่าการบาดเจ็บของเขาไม่สามารถเข้ากันได้กับบาดแผลที่เกิดจากที่ตนเป็นผู้กระทำเอง ทีมแพทย์ซึ่งประกอบด้วยแพทย์สองคนจากเบลเกรด หนึ่งคนจากลูบลิยานา, ซาเกร็บ และสกอเปีย (เป็นตัวแทนของสี่จากหกสาธารณรัฐของยูโกสลาเวีย) สรุปว่าการบาดเจ็บเกิดจาก "การอัดหรือสอดใส่ขวดขนาด 500 มิลลิลิตร อย่างรุนแรง ฉับพลัน โดยแรง - หรือที่น่าจะเป็นไปได้มากกว่า คือการใช้ปลายฝั่งกว้าง [ของขวด] - สอดเข้าไปในทวารหนัก" และเป็นไปได้ว่ามาร์ตีนอวิชไม่สามารถกระทำการที่รุนแรงเช่นนี้ด้วยตนเองได้ ทีมแพทย์เสนอว่าการบาดเจ็บนี้ "สามารถเกิดได้โดยมีผู้กระทำอย่างน้อยสองคนหรือมากกว่าเท่านั้น"[3]

ความเห็นสอง (second opinion) ได้มีรายงานออกมาในหนึ่งเดือนให้หลัง ภายใต้อำนาจของยาเนซ มิลชินสกี (Janez Milčinski [sl]) แพทย์ชาวสโลวีเนีย[4] ทีมของมิลชินสกีสรุปว่ามาร์ตีนอวิชเป็นคนสอดใส่ขวดนี้เข้าในทวารหนักด้วยตนเองโดยปักขวดบนแท่งไม้ที่ปักบนพื้น แต่เขาลื่นล้มขณะกำลังสำเร็จความใคร่ ทำให้ขวดแตกในทวารหนักภายใต้แรงกดจากน้ำหนักตัวของเขาเอง[3] ตำรวจลับยูโกสลาฟและหน่วยข่าวกรองทางทหารได้สรุปรายงานฉบับนี้ว่ามาร์ตีนอวิชเป็นผู้ก่อการบาดเจ็บด้วยตนเอง[5]

ในภายหลัง มาร์ตีนอวิชถอนคำให้การ อ้างว่าเขาถูกบังคับให้พูดหลังถูกสอบสวนนานสามสี่ชั่วโมงแล้วได้คำสัญญาว่าลูกของเขาจะได้รับการจ้างงานแลกกับให้เขาสารภาพ ลูกชายเขาได้ระบุกับสื่อว่าพ่อของตนถูกทำร้ายเพียงแค่เพราะเขาเป็นชาวเซิร์บ "เพื่อนเราบอกกันมาว่ากลุ่มเรียกร้องการรวมดินแดนแอลเบเนีย (Albanian irredentists) ทำ[ร้ายพ่อของเขา] เพราะ [...] พวกเขาไม่สนใจว่าเหยื่อจะเป็นใคร ตราบใดก็ตามที่เป็นคนเซิร์บ"[1]

ท้ายที่สุด ทางการของยูโกสลาฟและเซอร์เบียไม่ได้ทำการสืบสวนกรณีนี้ต่อ แม้แต่หลังเซอร์เบียเพิกถอนสถานะปกครองตนเองของคอซอวอในปี 1989 ก็ไม่มีความพยายามในการตามหาผู้ก่อเหตุ[5]

ผลสืบเนื่อง

[แก้]

กรณีนี้เจอกับกระแสชาตินิยมและต้านแอลเบเนียตามหน้าข่าวของเซอร์เบีย เหตุการณ์นี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เนื่องจากรัฐบาลยูโกสลาเวียพยายามทำให้แนวคิดชาตินิยมโดยเปิดเผยเป็นเรื่องต้องห้าม และสื่อของยูโกสลาเวียได้พยายามลดทอนแนวคิดขาติพันธุ์นิยมลงอย่างเป็นระบบ เรื่องชาตินิยมโดยเปิดเผยสูญความเป็นเรื่องห้ามพูดถึงหลังการรายงานข่าวกรณีมาร์ตีนอวิช และได้นำไปสู่การเติบโตของแนวคิดชาตินิยม จนนำไปสู่การล่มสลายของยูโกสลาเวียในปี 1991[1]

ตามหน้าสื่อมีการเปรียบเปรยเหตุการณ์นี้กับพวกชาวเติร์กออตโตมันซึ่งปกครองเซอร์เบียจนถึงปี 1833 (ส่วนคอซอวอถึงปี 1912) เหตุการณ์นี้ถูกนำไปเปรยกับการแทงทะลุที่ชาวเติร์กใช้เพื่อประหารชีวิตและทรมานคน

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 Mertus, Julie A. (1999). Kosovo: How Myths and Truths Started a War. Berkeley, California: University of California Press. pp. 100–110. ISBN 0-520-21865-5.
  2. Ramet, Sabrina P. (2005). Thinking About Yugoslavia: Scholarly Debates About the Yugoslav Breakup and the Wars in Bosnia and Kosovo. Cambridge: Cambridge University Press. pp. 153, 201. ISBN 978-0-521-61690-4.
  3. 3.0 3.1 Dragović-Soso, Jasna (2002). 'Saviours of the Nation': Serbia's Intellectual Opposition and the Revival of Nationalism. London: C. Hurst & Co. pp. 132–135. ISBN 1-85065-577-4.
  4. "Zgodovina Katedre". ism-mf.si (ภาษาสโลวีเนีย). Institute of Forensic Medicine. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 February 2019. สืบค้นเมื่อ 20 February 2019.
  5. 5.0 5.1 Sell, Louis (2002). Slobodan Milosevic and the Destruction of Yugoslavia. Durham, North Carolina: Duke University Press. pp. 78–79. ISBN 0-8223-2855-0.