กกดอกขาว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

กกดอกขาว
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
อาณาจักร: พืช
เคลด: พืชมีท่อลำเลียง
เคลด: พืชดอก
เคลด: พืชใบเลี้ยงเดี่ยว
เคลด: Commelinids
อันดับ: หญ้า
วงศ์: วงศ์กก
สกุล: Kyllinga
Rottb.
สปีชีส์: Kyllinga brevifolia
ชื่อทวินาม
Kyllinga brevifolia
Rottb.
ชื่อพ้อง[1]
  • Cyperus brevifolius (Rottb.) Hassk.
  • Cyperus cruciformis (Schrad. ex Schult.) Endl.
  • Kyllinga aurata Nees
  • Kyllinga cruciata Nees nom. inval.
  • Kyllinga cruciformis Schrad. ex Schult.
  • Kyllinga elongata Kunth
  • Kyllinga fuscata Miq.
  • Kyllinga gracilis Kunth
  • Kyllinga hohenackeri Hochst. ex Steud.
  • Kyllinga honolulu Steud. ex Jard.
  • Kyllinga intermedia R.Br.
  • Kyllinga intricata Cherm.
  • Kyllinga laxa Schrad. ex Nees
  • Kyllinga longiculmis Miq.
  • Kyllinga monocephala L.f. nom. illeg.
  • Kyllinga monocephala Thunb. nom. illeg.
  • Kyllinga nivea Pers.
  • Kyllinga odorata Liebm. nom. illeg.
  • Kyllinga oligostachya Boeckeler
  • Kyllinga pumilio Steud.
  • Kyllinga sojauxii Boeckeler
  • Kyllinga sororia Kunth
  • Kyllinga tenuis Baldwin
  • Kyllinga tenuissima Steud.
  • Kyllinga tricephala Salisb.
  • Mariscus kyllingioides Steud.
  • Schoenus capitatus Crantz

กกดอกขาว (ชื่อวิทยาศาสตร์: Cyperus brevifolius)[2] เป็นพืชจำพวกหญ้าเป็นกกที่มีอายุยืนหลายปี มีลำต้นอยู่ใต้ดิน (rhizome) เลื้อยทอดขนานไปกับดิน ชูส่วนที่เป็นยอดและช่อดอก สูง 15–20 เซนติเมตร มีกาบหุ้มลำต้นสีน้ำตาลอมแดง ลำต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5–2 มิลลิเมตร ระบบรากเป็นระบบรากฝอยออกตามข้อของลำต้นใต้ดิน ใบ เป็นใบเดี่ยวออกจากส่วนโคนของลำต้น ใบมีรูปร่างเรียว ยาวประมาณ 5–15 เซนติเมตร ขอบใบเรียว มีปลายใบที่แหลม ฐานใบมีสีน้ำตาลแดงแผ่ห่อหุ้มลำต้น ดอกออกเป็นช่อแบบเฮด (head) มีดอกย่อยเป็นจำนวนมากอัดแน่นอยู่ที่ปลายยอดของลำต้น ส่วนของลำต้นที่ชูช่อดอกจะมีรูปร่างเป็นสามเหลี่ยมที่ฐานของช่อดอกมีแผ่นรองดอกสีเขียวคล้ายใบ (bracts) จำนวน 3 ใบ เป็นใบยาว 1 ใบ และใบสั้น 2 ใบ ในช่อดอกประกอบด้วยดอกย่อย 2 ดอก คือดอกด้านล่างจะมีกาบ (glume) สีเขียวใส พับงอเข้าหากัน ปลายแหลม ดอกด้านบนจะมีกาบยาวกว่าด้านล่าง มีเกสรตัวผู้ 3 อัน อับละอองเกสร 2 อัน ส่วนเกสรตัวเมียมีรังไข่อยู่เหนือฐานรองดอก ปลายยอดเกสรตัวเมียแยกเป็น 2 แฉก ช่อดอกดูเป็นสีเขียวอ่อน เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อแก่ ผล เป็นชนิดอะคีน (achene) รูปร่างแบบไข่กลับหัว มีสีน้ำตาล

ลักษณะทั่วไป[แก้]

ต้น เป็นพรรณไม้ประเภทเดียวกับหญ้า ลำต้นมีลักษณะเป็นเส้นเล็กยาวและเป็นเหลี่ยม ผิวเรียบ มีสีเขียว ลำต้นมีความสูงประมาณ 4–20 นิ้ว ลำต้นมีรากมาก เมื่อขยี้ดม มีกลิ่นหอม

ใบ ใบมีลักษณะเป็นเส้น ยาวแคบ ปลายใบแหลม โคนใบเป็นสีม่วง ขนาดของใบกว้างประมาณ 1.5–3 มม. ยาวประมาณ 1–4 นิ้ว

ดอก ดอกออกเป็นช่อ มีรูปทรงกลม ติดกันเป็นกลุ่มแน่น สีเขียวออกขาว ยาวประมาณ 4–8 มม. ดอกออกบริเวณปลายยอด โคนดอกมีกลีบรองช่อดอก 3 กลีบ มีลักษณะคล้ายใบยาวประมาณ 1.6–5 นิ้ว ดอกเมื่อแก่เต็มที่จะหลุดร่วงไป

ผล ผลมีลักษณะค่อนข้างแบน กลมรี

ส่วนที่ใช้ ทั้งลำต้น และรากเหง้า

แหล่งที่พบ[แก้]

พบขึ้นอยู่ทั่วไปตามธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่มีความชุ่มชื้นหรือในนาข้าว ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นที่ที่มีน้ำขัง แพร่กระจายพันธุ์ด้วยเมล็ด

การขยายพันธุ์[แก้]

ขยายพันธุ์ด้วยการใช้เมล็ด แพร่กระจายพันธุ์ด้วยเมล็ด และส่วนของลำต้นใต้ดิน ซึ่งจะเลื้อยแผ่ขยายออกไป

สรรพคุณ[แก้]

ราก มีรสฝาด แก้ผดผื่น คันตามผิวหนัง แก้ลมพิษ แก้พิษภายใน แก้ตับไตพิการ บำรุงกำลัง ขับระดู ขับปัสสาวะ หัว รสหอมร้อน ต้มเอาน้ำดื่ม แก้ไข้ แก้ไอ แก้เจ็บคอ แก้บิดมูกเลือด แก้ปวดกระดูก แก้หลอดลมอักเสบ ขับลมในกระเพาะอาหาร ถ่ายเป็นมูกเลือด ไอกรน ไข้มาลาเรีย ปวดข้อ ปวดกระดูก โรคดีซ่าน ตับอักเสบ อืดแน่นท้อง ขับเสมหะ หรือใช้ภายนอก นำมาต้มเอาน้ำ หรือตำพอกบริเวณแผลมีหนองบวมอักเสบ ผิวหนังเป็นผดผื่นคัน แผลเจ็บจากการหกล้ม แผลมีดบาด กระดูกหัก และพิษงูกัด

ชื่ออื่น ๆ[แก้]

หญ้ากกดอกขาว

หญ้ากกตุ้มหู, หญ้ากกดอกขาว, หญ้าขนหนู, หญ้าหน่วยฝ้าย, หญ้าแห้วหมูเล็ก หญ้าหัวโม่ง (สุราษฏร์ธานี) , จุยโงวซัง (水蜈蚣 จีน-แต้จิ๋ว)

อ้างอิง[แก้]

  1. "The Plant List: A Working List of All Plant Species". สืบค้นเมื่อ 10 February 2015.
  2. "Cyperus brevifolius (Rottb.) Hassk. Kyllinga Weed". FloraBase. Western Australian Government Department of Parks and Wildlife.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]