ตรูญัน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Trunyan)
ลานไว้ศพและต้นไทรเก่าแก่ที่เป็นที่รู้จักของหมู่บ้านตรูญัน

ตรูญัน (อักษรโรมัน: Trunyan) หรือ เตอรูญัน (อักษรโรมัน: Terunyan) เป็นหมู่บ้านชาวบาหลี (บันจาร์; banjar) ตั้งอยู่บนชายฝั่งตะวันออกของทะเลสาบบาตูร์ ซึ่งเป็นทะเลสาบแอ่งกะทะในตำบลบังลี ทางตอนกลางของเกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย หมู่บ้านนี้เป็นหนึ่งในหมู่บ้านของชาวบาหลีอากาที่สำคัญที่สุด เช่นเดียวกับหมู่บ้านเตอกานัน และซัมบีรัน ตรูญันเป็นที่รู้จักมากเป็นพิเศษจากพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดูแลศพ หมู่บ้านตรูญันวางศพผู้วายชนม์ไว้บนพื้นดินในที่โล่ง มีแค่เสื้อผ้าและไผ่สานคลุมอยู่เท่านั้น และทิ้งไว้เช่นนั้นให้ย่อยสลาย ส่วนกลิ่นศพเชื่อกันว่ามีต้นไม้ใกล้เคียงดับไว้

ข้อมูลทั่วไป[แก้]

ตรูญันเป็นหนึ่งในหมู่บ้านชาวบาหลีอากาที่มีความโดดเดี่ยวทางวัฒนธรรมสูงที่สุดในเกาะบาหลี และตั้งอยู่บนเชิงเขาอากุง หมู่บ้านสามารถเข้าถึงได้ง่ายที่สุดโดยทางเรือ

โดยทั่วไปถือว่าชาวบ้านในชุมชนเป็นชาวบาหลีอากา หรือชาวบาหลีภูเขา ซึ่งต่างกับชาวบาหลีที่ราบ โดยที่บาหลีอากายังคงปฏิบัติตามธรรมเนียมพิธีที่มีอยู่เดิมก่อนการเข้ามาของอิทธิพลศาสนาฮินดูและพุทธดังที่ชาวบาหลีที่ราบนำมาปฏิบัติมากกว่า พิธีกรรมและวัฒนธรรมของตรูญันถือว่าโดดเด่นแม้กระทั่งในบรรดาหมู่บ้านบาหลีอากาด้วยกันเอง โบสถ์พราหมณ์ (ปูรา) หลักของหมู่บ้านมีป้ายข้อความอ้างว่าปูรานี้สร้างขึ้นในอย่างน้อยศตวรรษที่ 10 (ปี 833 ตามปฏิทินซากา) ส่วนหมู่บ้านน่าจะเก่าแก่กว่าปูรา[1]

สังคม[แก้]

สังคมตรูญันประกอบด้วยสอง "วรรณะ" สำคัญ คือ บันจาร์เจอโร (banjar jero) และ บันจาร์จาบา (banjar jaba) วรรณะในระบบของตรูญันได้มาจากการสืบเชื้อสายที่มีมาตั้งแต่สมัยจักรวรรดิเกลเกล โดยบันจาร์เจอโรเป็นผู้สืบทอดของชาวตรูญันที่เดินทางออกจากหมู่บ้านเพื่อไปรับการแต่บตั้งโดยกษัตริย์แห่งเกลเกล ส่วนบันจาร์จาบา คือคนที่ถูกปกครองโดยบันจาร์เจอโรอีกที ระบบวรรณะนี้เป็นหนึ่งในตัวอย่างไม่กี่ตัวอย่างที่สังคมภายนอกมีอิทธิพลต่อสังคมตรูญันที่ตั้งอยู่ห่างไกลมากจากสังคมอื่น ๆ[2] อีกอิทธิพลภายนอกที่โดดเด่นคือการบังคับให้ชายหนุ่มของตรูญันต้องเดินทางลงไปยังที่ราบของบาหลีเป็นช่วงเวลาหนึ่งเพื่อไปเป็นขอทานในลักษณะเช่นเดียวกับการบิณฑบาตของพระสงฆ์ในประเทศไทย อิทธิพลนี้ได้รับมาจากพระพุทธศาสนาที่เข้ามามีอทิธิพลเด่นชัดในศตวรรษที่ 10[3]

เช่นเดียวกับชาวบาหลีกลุ่มอื่น ๆ ชาวตรูญันให้ความสำคัญกับการประดับประดาสิ่งสร้างต่าง ๆ อย่างสวยงามวิจิตร พิธีกรรมต่าง ๆ ต้องจัดอย่างตระการตาที่สุดเท่าที่ทำได้ เช่นหากจะจัดงานมงคลสมรส ก็จะต้องจัดให้อลังการที่สุด มิฉะนั้นก็ไม่ต้องจัดเลย เนื่องจากเศรษฐกิจของตรูญันมีขนาดเล็กและเป็นกสิกรรมอยู่ คนจำนวนมากไม่ได้มั่งคั่ง คู่รักที่แต่งงานหลายคู่แม้จะมีลูกแล้วก็เลือกที่จะเลื่อนงานแต่งงานออกไปตลอดกาล เพียงเพราะค่าใช้จ่ายในการจัดพิธีที่สูงมาก[2]

พิธีศพ[แก้]

ร่างศพที่ไว้บนพื้นและคลุมด้วยกรงไผ่

ชาวตรูญันมีพิธีศพที่ไม่เหมือนชนกลุ่มอื่นใดในเกาะบาหลี แทนที่การฝังศพ พิธีศพของตรูญันจะไว้ร่างของผู้วายชนม์ไว้บนพื้นเฉย ๆ คลุมด้วยผ้า และกรงไผ่ และทิ้งไว้เช่นนั้นให้ย่อยสลายตามกาลเวลา ว่ากันว่าต้นไทรเก่าแก่ (ขื่อว่า ตารูเมอญัน; taru menyan, แปลว่า "ต้นกลิ่นหอม") ที่โตอยู่ใกล้กับที่ไว้ศพช่วยดับกลิ่นย่อยสลายของศพได้ นอกจากนี้ยังว่ากันว่าชื่อหมู่บ้าน "ตรูญัน" น่าจะมาจากชื่อของต้นไม้นี้ด้วย เมื่อศพย่อยสลายหมดจนเหลือแต่กระดูกแล้ว กะโหลกจะถูกแยกไปตั้งบนแท่นบูชารูปบันได ตั้งอยู่ห่างไปราว 500 เมตรจากบันจาร์กูบัน (Banjar Kuban) ซึ่งเข้าถึงได้จากทางเรือเท่านั้น อย่างไรก็ตาม พิธีศพเช่นนี้มีไว้สำหรับร่างของคนที่แต่งงานแล้วเท่านั้น หากเป็นโสด ศพจะถูกฝังในหลุม[1]

พิธีศพเช่นนี้มีอายุเก่าแก่ไปถึงสมัยยุคหินใหม่ ในศาสนาบายู (Agama Bayu) ในบาหลียุคก่อนอิทธิพลฮินดู ลัทธิที่ว่านี้บูชาดวงดาวและสายลม (angin ngelinus)[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 "Trunyan, traditional Bali village". Wonderful Bali. Wonderfulbali. 2016. สืบค้นเมื่อ November 21, 2016.
  2. 2.0 2.1 Emiko Susilo 1997, p. 6.
  3. Cooke 2005.

บรรณานุกรม[แก้]