ตรีอัครสงฆ์ผู้ศักดิ์สิทธิ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Three Holy Hierarchs)
ตรีอัครสงฆ์ผู้ศักดิ์สิทธิ์
รูปเคารพของตรีอัครบิดรผู้ศักดิ์สิทธิ์ที่โบสถ์ในเชอร์ลีกี เทศมณฑลนีมซ์ ประเทศโรมาเนีย ประกอบด้วยนักบุญบาซิลแห่งซีซารียา, นักบุญเกรกอรีแห่งนาซิอันซัส และ นักบุญยอห์นคริสซอสตอม จากซ้ายไปขวา
บิดาในบรรดานักบุญ
บรรดาหมอแห่งคริสตจักร
เกิด330 (บาซิล)
349 (ยอห์น)
329 (เกรกอรี)
เสียชีวิต379 (บาซิล)
407 (ยอห์น)
389 (เกรกอรี)
นับถือ ในคาทอลิก
ออร์ทอดอกซ์ตะวันออก
โอเรียนทอลออร์ทอดอกซ์
คริสตจักรอังกฤษ
วันฉลองมกราคม 30
สัญลักษณ์ทรงอาภรณ์ดั่งพระมุขนายก, สวมโอโมฟอเรีย; ชูมือขวาขึ้นให้พร; ถือหนังสือคำสอนหรือม้วนกระดาษ

ตรีอัครสงฆ์ หรือ ตรีอัครบิดร (อังกฤษ: Three Hierarchs; กรีกโบราณ: Οἱ Τρεῖς Ἱεράρχαι; กรีกใหม่: Οι Τρεις Ιεράρχες) ในคริสต์ศาสนาตะวันออก ประกอบด้วยนักบุญบาซิลแห่งซีซารียา, นักบุญเกรกอรีแห่งนาซิอันซัส และ นักบุญยอห์นคริสซอสตอม ทั้งสามเป็นพระมุขนายกที่มีอิทธิพลมากในศาสนาคริสต์ยุคแรก และมีบทบาทสำคัญในการก่อร่างของเทววิทยาศาสนาคริสต์ ในศาสนาคริสต์แบบตะวันออกเรียกขานทั้งสามว่าเป็นพระอัครบิดรผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสาม และเป็นอาจารย์ของคริสต์ชนทั่วโลก (Ecumenical Teachers) ส่วนในโรมันคาทอลิก เทิดเกียรติให้เป็นหมอแห่งคริสตจักร ทั้งสามได้รับการยกย่องในฐานะนักบุญในออร์ทอดอกซ์ตะวันออก, คาทอลิก, อังกลิคัน และคริสตจักรอื่น ๆ

ที่มาของตรีอัครสงฆ์สามารถย้อนไปถึงเรื่องเล่าว่าในคอนสแตนติโนเปิล สมัยศตวรรษที่ 11 ได้เกิดข้อถกเถียงขึ้นว่าในสามอัครสงฆ์นี้ ผู้ใดยิ่งใหญ่ที่สุด บ้างว่าเป็นนักบุญบาซิลเนื่องจากเป็นผู้อธิบายถึงความเชื่อและวิถีสงฆ์ บ้างว่าเป็นนักบุญยอห์นคริสซอสตอม "โอษฐ์ทอง" (กรีก: Χρυσόστομος) ผู้เป็นอัครมุขนายกแห่งคอนสแตนติโนเปิล ว่ามีทั้งวาจาที่คมคายและโดดเด่นในการพาคนบาปมากลับใจ ส่วนที่เหลือว่าเป็นนักบุญเกรกอรี ซึ่งมีอำนาจยิ่งใหญ่, บริสุทธิ์ และมีความชำนาญในการเทศนา รวมถึงยังเป็นผู้ปกป้องคริสต์ศาสนาจากพวกนอกรีตลัทธิอาเรียน ทั้งสามมีวันสมโภชคนละวัน แต่ล้วนอยู่ในเดือนมกราคม: นักบุญบาซิลตรงกับวันที่ 1 มกราคม, นักบุญเกรกอรีในวันที่ 25 มกราคม และ นกบุญคริสซอสตอมในวันที่ 27 มกราคม คริสต์จักรตะวันออกเชื่อว่าทั้งสามปรากฏร่วมกันในนิมิตของนักบุญยอห์น เมาโรเพาส์ มุขนายกแห่งยูชาอีตาในปี 1084 และได้กล่าวว่าพวกตนล้วนแล้วแต่เท่ากันต่อหน้าพระเป็นเจ้า โดย "ไม่มีซึ่งความแตกแยกระหว่างเรา และไม่มีความขัดแย้งซึ่งกันและกัน" จักรพรรดิบีแซนทีน อาเล็กซีออสที่หนึ่ง คอมเนนอส จึงมีการให้วันที่ 30 มกราคมเป็นวันสมโภชทั้งสามขึ้นตั้งแต่ราวปี 1100 เรื่อยมา[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. Parry (1999), pp. 491–492.

บรรณานุกรม[แก้]

  • Parry, David; David Melling; และคณะ, บ.ก. (1999). The Blackwell Dictionary of Eastern Christianity. Oxford: Blackwell. ISBN 0-631-18966-1.