เบลอเดอตาแวร์นีเย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Tavernier Blue)
เบลอเดอตาแวร์นีเย ซึ่งจำลองขึ้นใหม่

เบลอเดอตาแวร์นีเย (ฝรั่งเศส: Bleu de Tavernier) หรือ แทเวอร์เนียร์บลู (อังกฤษ: Tavernier Blue) เป็นเพชรขนาดยักษ์ สีน้ำเงิน ซึ่งพ่อค้าชาวฝรั่งเศสนาม ฌ็อง-บาติสต์ ตาแวร์นีเย (Jean-Baptiste Tavernier) นำมาจากประเทศอินเดียมาขายให้แก่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส และภายหลังถูกโจรกรรมไปใน ค.ศ. 1792 ช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส ปัจจุบันเชื่อว่าถูกตัดแบ่งออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยเพื่ออำพรางอัตลักษณ์ และกระจัดกระจายอยู่ตามที่ต่าง ๆ หนึ่งในชิ้นส่วนดังกล่าวเชื่อกันว่าได้แก่เพชรโฮป[1][2]

ตัวเพชรดั้งเดิมหนัก 112 3/16 กะรัตฝรั่งเศสโบราณ[3] ฌ็อง-บาติสต์ ตาแวร์นีเย พ่อค้าชาวฝรั่งเศส ขายเพชรนี้ให้แก่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 โดยได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินสดและบรรดาศักดิ์[4] เพชรได้รับการนำไปประดับไว้บนเข็มกลัดอกเมื่อ ค.ศ. 1674 ต่อมาใน ค.ศ. 1715 ได้รับการนำไปประดับไว้บนเข็มอิสริยาภรณ์ขนแกะทองคำ[1][2] เข็มอิสริยาภรณ์ดังกล่าว พร้อมทั้งเพชรนี้ ได้รับการบรรจุเข้าเป็นหนึ่งในเครื่องอัญมณีประจำราชาธิปไตยฝรั่งเศสเมื่อ ค.ศ. 1749 ต่อมาใน ค.ศ. 1775 พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 แห่งฝรั่งเศส รับสั่งให้ถอดเพชรนี้ออกจากเข็มอิสริยาภรณ์ และให้ฌ็อง ปีโต (Jean Pitau) ช่างเพชรหลวง เจียระไนกลายเป็นเพชร 68 กะรัต ตั้งชื่อใหม่ว่า เบลอเดอฟร็องส์ (Bleu de France)[1][3] จากนั้น เพชรจึงได้รับการบรรจุกลับเข้าเป็นหนึ่งในเครื่องอัญมณีประจำราชาธิปไตย[4]

ใน ค.ศ. 1792 ระหว่างชุลมุนในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส มีผู้โจรกรรมเพชรเบลอเดอฟร็องส์นี้ไป[3] เชื่อกันว่า เพชรถูกตัดออกเป็นชิ้นย่อยเพื่อปกปิดอัตลักษณ์ และหนึ่งในชิ้นเหล่านั้นคือเพชรโฮป หนัก 45.52 กะรัต[5] ความเชื่อนี้เป็นที่ยอมรับของนักประวัติศาสตร์และนักอัญมณีมายาวนาน และใน ค.ศ. 2005 มีงานวิจัยสนับสนุนความเชื่อดังกล่าว โดยใช้วิทยาการสมัยใหม่จำลองภาพ 3 มิติขึ้น[6][5]

นอกจากเพชรโฮปแล้ว เชื่อกันว่า อีกชิ้นส่วนหนึ่งของเพชรเบลอเดอฟร็องส์ได้แก่เพชรซึ่งจักรพรรดินีมาเรีย พระมเหสีของจักรพรรดิปัฟเวลที่ 1 แห่งรัสเซีย ทรงนำไปประดับไว้บนพระธำมรงค์ และต่อมาใน ค.ศ. 1860 ทายาทของพระนางโอนให้แก่กองทุนเพชรแห่งรัสเซีย ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พระราชวังอะเล็กซานเดอร์[6]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 T. Edgar Willson (February 7, 1911). "Editor Jewelers' Circular Writes of the Stories of Misfortunes". The New York Times. สืบค้นเมื่อ July 9, 2011. ..as far as he can learn, the authentic history of this gem goes back only to 1830...
  2. 2.0 2.1 Agence France-Presse (November 18, 2008). "U.S. has Sun King's stolen gem, say French experts". Canada.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 10, 2012. สืบค้นเมื่อ July 9, 2011. ...new evidence unearthed in France's National Museum of Natural History shows beyond reasonable doubt that the Hope Diamond is the same steely-blue stone once sported by the Sun King...
  3. 3.0 3.1 3.2 "The Hope Diamond". Encyclopedia Smithsonian. Smithsonian Institution. January 2003. สืบค้นเมื่อ February 24, 2017.
  4. 4.0 4.1 "Hope Diamond: Timeline". Treasures of the World. Corporation for Public Broadcasting (PBS). 1999. สืบค้นเมื่อ February 24, 2017.
  5. 5.0 5.1 Wise, Richard W. (2009), "From the Sun King to the Smithsonian: The Epic Journey of the Hope Diamond", The French Blue, สืบค้นเมื่อ February 24, 2017
  6. 6.0 6.1 "Tracing the Hope Diamond's Lineage". Spotlight on Science. Vol. 3 no. 2. Smithsonian Institution. February 25, 2005. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 4, 2005.