ปลาหมอสีเลบโตโซม่า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Paratilapia leptosoma)
ปลาหมอสีเลบโตโซม่า
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Perciformes
วงศ์: Cichlidae
วงศ์ย่อย: Pseudocrenilabrinae
เผ่า: Cyprichromini
สกุล: Cyprichromis
สปีชีส์: C.  leptosoma
ชื่อทวินาม
Cyprichromis leptosoma
(Boulenger, 1898)
ชนิดย่อย
ดูในเนื้อหา (อย่างไม่เป็นทางการ)
ชื่อพ้อง
  • Limnochromis leptosoma (Boulenger, 1898)
  • Paratilapia leptosoma Boulenger, 1898

ปลาหมอสีเลบโตโซม่า (อังกฤษ: Herring cichlid, Sardine cichlid; ตัวย่อ: CYPS) เป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็กชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cyprichromis leptosoma ในวงศ์ปลาหมอสี (Cichlidae)

จัดเป็นปลาขนาดเล็ก มีความยาวเต็มที่ประมาณ 5-6 นิ้ว โดยเฉลี่ยประมาณ 3.5 นิ้ว จัดเป็นปลาที่มีนิสัยรักสงบ มีพฤติกรรมอยู่รวมตัวกันเป็นฝูงขนาดใหญ่ตั้งแต่หลักร้อยจนถึงหลักพัน มีรูปร่างเรียวยาว ตากลมโต ปลายปากยาว ตัวผู้มีสีสันที่สดใสสวยงาม มักมีสีต่าง ๆ เช่น ฟ้า, เหลือง, ดำ, ม่วง หรือมีเหลือบสีขาว และมีการพัฒนาการของสีตามช่วงวัย มักอาศัยอยู่ตามโขดหินหรือตามหลีบซอกของวัสดุต่าง ๆ ใต้น้ำ หากินบริเวณกลางน้ำและผิวน้ำ กินอาหารจำพวก แพลงก์ตอนและสัตว์น้ำขนาดเล็กที่ลอยตามกระแสน้ำ

ขณะที่ปลาตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่า พฤติกรรมเมื่อผสมพันธุ์ ปลาตัวผู้ที่มีขนาดใหญ่สุดจะเป็นจ่าฝูง จะคอยกางครีบและขับสีออกมาเรียกร้องความสนใจจากตัวเมียภายในฝูง และข่มตัวผู้ตัวอื่น ๆ เมื่อผสมพันธุ์กัน ตัวผู้จะงอตัวและทำปากห่อ เพื่อกระตุ้นให้ตัวเมียปล่อยไข่ออกมา เมื่อไข่ถูกปล่อยออกมา ตัวเมียจะงับน้ำเชื้อจากตัวผู้ที่ปล่อยออกมา ให้ผสมกับไข่ที่อยู่ในปาก จำนวนของไข่ขึ้นอยู่กับขนาดของปลาตัวเมีย โดยมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.3 เซนติเมตร จำนวนไข่ในแต่ละครั้งประมาณ 5-25 ฟอง โดยตัวเมียจะอมไข่จนกว่าไข่จะฟักเป็นตัวใช้เวลาประมาณ 18-20 วัน โดยไม่กินอะไรเลย

เป็นปลาที่อาศัยอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของทะเลสาบแทนกันยีกา จัดเป็นปลาชนิดแรกในสกุลนี้ที่ได้รับการค้นพบและอนุกรมวิธาน นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามกันอย่างยาวนานแล้ว ซึ่งในทางการค้าปลาสวยงามยังสามารถแบ่งออกเป็นชนิดแยกย่อยได้อีก ที่แตกต่างกันตามสีสันและแหล่งที่พบ อาทิ "จัมโบ" หรือ "คิโกม่า" ค้นพบในแหล่งคิโกม่าเท่านั้น ตัวผู้มีทั้งแบบหางสีน้ำเงิน และแบบหางสีเหลือง และมีสีเหลืองใต้บริเวณคอไปจนถึงช่วงท้อง ครีบหลังมีสีฟ้า และสีเหลืองเลอะผสมกัน, "เอ็มพูลังกู" หรือ "นีออน เฮด" เป็นปลาที่ไม่มีสีตามลำตัว แต่จะมีสีน้ำเงินสว่างที่ส่วนหัว อันเป็นที่มาของชื่อเรียก, "อูทินตา" ตัวผู้มีสีน้ำเงินตามตัวจากหัวไปจนถึงกลางหลัง ครีบหลังมีสีฟ้าสว่างที่สุด และมีจุดแต้มสีเหลืองอยู่หลายครีบหลัง, "ไทรคัลเลอร์" ตัวผู้มีสีเหลืองเข้มบริเวณส่วนหัว และส่วนหาง ลำตัว ครีบหลัง และครีบก้นมีสีออกดำกำมะหยี่ ตัวเมียมีสีน้ำตาลและสีเหลืองอ่อนบริเวณครีบหลังและครีบหาง และ "คิทุมบา" มีสีที่เปลี่ยนแปลงไปตามอายุ โดยมีสีเหลืองขยายลุกลามจากส่วนครีบหางไปสู่ส่วนอื่นของร่างกาย แทนสีอื่นที่มีอยู่จนกลายเป็นสีเหลืองทั้งตัวไป แต่ขณะที่บางตัวจะไม่เป็นเช่นนั้นแต่จะมีสีน้ำเงินที่คงที่ทั้งตัว[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. ปลาบ้านโรม. คอลัมน์ Cichild Conner ตอน ดำดิ่งสู่ Lake Tanganyika มารู้จักกับ Cyprichromis กันดีกว่า. Aquarium Biz ฉบับเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2554.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Cyprichromis leptosoma ที่วิกิสปีชีส์