NK THX

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

NK THX เป็นโรงภาพยนตร์ในเครือของบริษัท เอ็นเค เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด ในเครือ บริษัท นนทนันท์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด บริหารโดย นายสุพจน์ พิสิฐวุฒินันท์ มีจุดเด่น คือเป็นโรงภาพยนตร์ที่ฉายในระบบ THX ทั้งหมด

ประวัติ[แก้]

หลังจากที่นายวิชัย พูลวรลักษณ์ ได้ประสบความสำเร็จในการเปิดตัวโรงภาพยนตร์ อีจีวี บางแค 10 ในปี พ.ศ. 2537 จึงทำให้มีโรงภาพยนตร์แบบมัลติเพล็กซ์เกิดขึ้นมากมายในกรุงเทพและปริมณฑล ซึ่งระบบเสียงแต่ละที่ก็แทบจะไม่แตกต่างกันเลย ดังนั้น จึงมีแนวคิดที่จะสร้างโรงภาพยนตร์ที่เป็น All THX ขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย

สาขาต่าง ๆ ของ NK THX[แก้]

  • เปิดสาขาแรกในต้นปี พ.ศ. 2539 ที่ชั้น 3 ห้างสรรพสินค้านิวเวิลด์ รัตนาธิเบศร์ นนทบุรี จำนวนทั้งสิ้น 6 โรง ใช้ชื่อว่า "NK6 THX" นับเป็นโรงภาพยนตร์แห่งแรกในประเทศไทยที่เป็นโรงภาพยนตร์ในระบบ THX ทั้งหมด[1] (โรงภาพยนตร์แห่งนี้ปิดตัวไปแล้วพร้อมกับห้างสรรพสินค้าในปี พ.ศ. 2547 )
  • วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2540 ได้มีการเปิดอีก 4 โรงที่ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ ท่าพระ ใช้ชื่อว่า "NK THX เดอะมอลล์ ท่าพระ" โดยจัดฉายภาพยนตร์เรื่อง Air Force One และ SPAWN เป็นรอบปฐมทัศน์
  • ศูนย์การค้าแอ๊บบลูม นวนคร ใช้ชื่อว่า "NK Multiplex นวนคร" 5 โรงภาพยนตร์

ปิดกิจการ[แก้]

ในปัจจุบันนี้ โรงภาพยนตร์ในประเทศไทยแต่ละแห่งล้วนไม่ได้ใช้ระบบ THX อีกแล้ว เนื่องจากต้องเสียค่าลิขสิทธิ์เป็นรายปี ซึ่งมีเพียงโรงภาพยนตร์ในเครือ NK THX เพียงเครือเดียว ที่ยังคงเป็นระบบ THX อยู่ [2] [3]

หลังจากที่ NK6 THX ปิดตัวไปในปี พ.ศ. 2547 ในปี พ.ศ. 2549 NK6 THX ก็ได้มีกลับมาอีกครั้งในย่านถนนรัตนาธิเบศร์ แต่ร่วมทุนจดทะเบียนกับ เอสเอฟ ซีเนมา ซิตี้ เป็นโรงภาพยนตร์ร่วมใช้ชื่อว่า "SF Cinema City NK" ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซ่า รัตนาธิเบศร์ มีทั้งหมด 7 โรง ซึ่งเดิมทีนั้น NK THX ได้เซ็นสัญญาเช่าพื้นที่ที่ห้างสรรพสินค้าแห่งนี้เอาไว้ก่อนนานแล้ว และได้วางแผนจะเปิดสาขาใหม่ของตนที่นี้ แต่ตอนหลัง SF Cinema ได้ติดต่อขอร่วมหุ้นด้วย โดยชุดลำโพงและจอภาพยนตร์บางส่วนจากที่นิวเวิลด์ รัตนาธิเบศร์ ได้ถูกนำมาติดตั้งที่นี้ ทำให้ที่นี่ กลายเป็นโรงภาพยนตร์ที่มีคุณภาพอีกแห่งหนึ่ง ภายใต้การบริหารโดยเครือเอสเอฟซีนีม่า และนอกจากนั้น ยังได้ยกเก้าอี้ชมภาพยนตร์และระบบต่าง ๆ ไปติดตั้งยังโรงภาพยนตร์นครนนท์รามา ซึ่งอยู่ในเครือนครหลวง ต้นสังกัดของ NK เช่นกันแทน

ต่อมาในกลางปี พ.ศ. 2550 NK THX เดอะมอลล์ ท่าพระ ก็ได้ปิดตัวไปอีกแห่ง และได้ทำการปรับปรุงและต่อเติมกลายเป็นโรงภาพยนตร์ SF Cinema City The Mall Thaphra 8 โรงภาพยนตร์ แทน[4]

ต่อมากิจการของ NK THX เหลือเพียงสาขาเดียวคือที่ นวนคร แต่ก็มีสภาพกิจการที่ซบเซามาก ต้องลดจำนวนโรงภาพยนตร์จากเดิมลงจาก 5 โรงเป็น 3 โรง และประมาณเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2551 ก็ได้ผันตัวเองจากโรงภาพยนตร์มัลติเพล็กซ์ ไปดำเนินกิจการรูปแบบโรงภาพยนตร์ชั้น 2 โดยเปิดโรง 1 และ 3 ฉายวนทั้งวัน 3 เรื่อง ในราคา 50 บาท และปลายปี พ.ศ. 2551 เมื่อเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ได้เปิดสาขาของตนเองในห้างบิ๊กซี และโลตัส รวมทั้งสิ้น 7 โรง ซึ่งอยู่บริเวณปากทางเข้า นวนคร ทำให้โรงภาพยนตร์ NK นวนคร ได้ปิดกิจการและรื้อถอนจนถูกทุบทิ้งไปในที่สุด

อ้างอิง[แก้]

  1. รายการตามไปดู ทางช่อง 9 พ.ศ. 2539
  2. "ขอแนะนำโรงหนังที่มีระบบเสียงดีดีต้องที่นี่ครับ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-04-29. สืบค้นเมื่อ 2007-12-26.
  3. โรง THX ในเมืองไทยยังมีอยู่
  4. "เครื่องเสียงในโรงภาพยนตร์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-17. สืบค้นเมื่อ 2007-12-26.