ข้ามไปเนื้อหา

ศีลธรรม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Morality)

ศีลธรรม (อังกฤษ: Morality) หมายถึงความประพฤติที่ดีที่ชอบทั้งศีลและธรรม

ศีลธรรม ในคำวัดหมายถึง เบญจศีล และ เบญจธรรม คือศีล 5 และธรรม 5 ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ของสังคมระดับต้นสำหรับให้สมาชิกสังคมประพฤติปฏิบัติเพื่อให้เกิดความสงบสุข ไม่สดุ้งกลัว ไม่หวาดระแวงภัย เป็นหลักประกันสังคมที่สำคัญ สังคมที่สงบสุข ไว้วางใจกันได้ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน ไม่เบียดเบียน ไม่ทะเลาะ ไม่กดขี่ข่มเหง ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน เป็นต้น ก็เพราะสมาชิกของสังคมยึดมั่นอยู่ในหลักศีลธรรมนี้

ศีลธรรม เป็นชื่อวิชาหนึ่งในโรงเรียนที่กำหนดให้นักเรียนทุกคนต้องเรียนมาตั้งแต่สมัยโบราณเรียกว่า วิชาศีลธรรม ปัจจุบันเรียกว่า วิชาพุทธศาสนา

ทัศนะตะวันตก

[แก้]

Morality ในทัศนะตะวันตกมาจากภาษาลาตินว่า “moralitas” ที่แปลว่า “กิริยา, ลักษณะ และการปฏิบัติอันเหมาะสม” (manner, character, proper behavior) มีความหมายหลักสามประการ

ประการแรกหมายถึงประมวลความประพฤติ (code of conduct) หรือความเชื่อซึ่งถือเป็นหลักวัดความถูกและผิด “จริยธรรม” เป็นสิ่งที่ไม่เป็นกลางที่ขึ้นอยู่กับการให้คำจำกัดความของสังคม หลักปรัชญา หลักศาสนา และ/หรือ ทัศนคติของแต่ละบุคคล ฉะนั้นกฎการปฏิบัติจึงเปลี่ยนไปตามกาลเวลาหรือกฎการปฏิบัติที่ถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องในสมัยหนึ่งอาจจะถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติในสมัยต่อมา หรือมาตรฐานของกฎการปฏิบัติอันเหมาะสมของสังคมหนึ่งอาจจะไม่เป็นที่ยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติในอีกสังคมหนึ่งเป็นต้น

ประการที่สองในความหมายอย่างกว้างๆ ศีลธรรมหมายถึงกฎความเชื่อและหลักปฏิบัติอันเป็นอุดมคติ เช่น ในปรัชญาที่ว่า “การฆาตกรรมเป็นการผิดจริยธรรม” ซึ่งในการตีความหมายในข้อแรกอาจจะไม่เห็นว่าเป็นสิ่งผิดด้วยเหตุผลบางประการก็เป็นได้แต่ก็อาจจะบ่งว่าไม่ควรจะใช้เป็นกฎการปฏิบัติเพราะเป็นความเชื่อโดยทั่วไป กรณีที่ว่านี้เรียกว่าวิมตินิยมทางศีลธรรม (moral skepticism) [1]

ประการที่สาม “ศีลธรรม” มีความหมายพ้องกับคำว่าจริยธรรมหรือจริยศาสตร์ (Ethics) จริยศาสตร์เป็นการศึกษาของระบบปรัชญาที่เกี่ยวกับจริยธรรม[2] จริยศาสตร์แสวงหาคำตอบของปัญหาต่าง ๆ เช่นการกระทำเช่นใดจึงจะทำให้เกิดผลทางจริยธรรมในสถานการณ์ที่ระบุ (จริยศาสตร์ประยุกต์/applied ethics) คุณค่าของจริยธรรมวัดกันได้อย่างไร (จริยศาสตร์เชิงปทัสถาน/normative ethics) ผู้มีจริยธรรมปฏิบัติตามกฎใด (จริยศาสตร์เชิงพรรณนา/descriptive ethics) พื้นฐานของจริยศาสตร์หรือจริยธรรมคืออะไรและรวมทั้งปัญหาที่ว่ามีจุดประสงค์ที่เป็นกลางหรือไม่ (อภิจริยศาสตร์ metaethics) และ จริยศาสตร์และจริยธรรมวิวัฒนาการขึ้นได้อย่างไรและธรรมชาติของสองสิ่งนี้คืออะไร (จิตวิทยาศีลธรรม/moral psychology) [3]

อ้างอิง

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]