ลิมนัยดรา

พิกัด: 35°49′36″N 14°26′11″E / 35.82667°N 14.43639°E / 35.82667; 14.43639
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Mnajdra)
ลิมนัยดรา
ช่องเว้าในวิหารล่าง มีการเจาะหลุมเล็ก ๆ ที่ผิวก้อนหินเพื่อตกแต่ง
ลิมนัยดราตั้งอยู่ในประเทศมอลตา
ลิมนัยดรา
ที่ตั้งลิมนัยดราในประเทศมอลตา
ที่ตั้งอิล-อเร็นดี มอลตา
พิกัด35°49′36″N 14°26′11″E / 35.82667°N 14.43639°E / 35.82667; 14.43639
ประเภทวิหาร
ความเป็นมา
วัสดุหินปูน
สร้างประมาณ 3,600–3,200 ปีก่อน ค.ศ.
สมัยระยะจกันตียา
ระยะฮัลตาร์ชีน
หมายเหตุเกี่ยวกับสถานที่
ขุดค้นค.ศ. 1840–1954
ผู้ขุดค้นเจ. จี. แวนซ์
ทิมิสโตคลีส แซมมิต
จอห์น เดวีส์ เอวันส์
สภาพซากปรักหักพังที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดี
ผู้ถือกรรมสิทธิ์รัฐบาลมอลตา
ผู้บริหารจัดการเฮริทิจมอลตา
การเปิดให้เข้าชมเปิด
เว็บไซต์เฮริทิจมอลตา
วิหารหินใหญ่แห่งมอลตา
(ลิมนัยดรา) *
  แหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก
ลิมนัยดราก่อนการสร้างโครงขึงผ้าใบ
ประเทศ มอลตา
ภูมิภาค **ยุโรปและอเมริกาเหนือ
ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม
เกณฑ์พิจารณา(iv)
อ้างอิง132
ประวัติการขึ้นทะเบียน
ขึ้นทะเบียน1980 (คณะกรรมการสมัยที่ 4)
เพิ่มเติม1992, 2015
พื้นที่0.563 เฮกตาร์ (1.39 เอเคอร์)
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีแหล่งมรดกโลก
** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก

ลิมนัยดรา (มอลตา: L-Imnajdra) คือหมู่วิหารหินใหญ่แห่งหนึ่งที่พบบนชายฝั่งตอนใต้ของเกาะมอลตาในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ตั้งอยู่ห่างจากหมู่วิหารหินใหญ่ฮาจาร์อีมประมาณ 497 เมตร สร้างขึ้นเมื่อประมาณสหัสวรรษที่ 4 ก่อนคริสต์ศักราช และถือเป็นหนึ่งในแหล่งโบราณคดีทางศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก[1] ใน ค.ศ. 1992 ยูเนสโกได้รับรองลิมนัยดราและโครงสร้างหินใหญ่อีก 4 แห่งในมอลตาเป็นแหล่งมรดกโลก โดยบรรยายว่าสิ่งก่อสร้างเหล่านี้เป็น "ผลงานชิ้นเอกทางสถาปัตยกรรมที่ไม่เหมือนที่ใด"[2] และใน ค.ศ. 2009 งานขึงผ้าใบป้องกันบริเวณสิ่งก่อสร้างได้เสร็จสิ้น[3]

การออกแบบ[แก้]

ทิวทัศนียภาพวิหารบน
ทิวทัศนียภาพวิหารล่าง

ลิมนัยดราสร้างขึ้นจากหินปูนปะการังซึ่งแข็งกว่าหินปูนแพลงก์ตอนโกลบิเจอไรนาที่ใช้ในการสร้างฮาจาร์อีม โครงสร้างหลักภายในหมู่วิหารได้รับการก่อให้เหลื่อมออกมาทีละชั้นโดยใช้หินก้อนเล็ก ในขณะที่เสากับทับหลังก่อขึ้นโดยใช้หินก้อนใหญ่

ผังรูปดอกจิกของลิมนัยดราดูสม่ำเสมอกว่าผังของฮาจาร์อีมและชวนให้นึกถึงหมู่วิหารที่จกันตียาซึ่งสร้างขึ้นก่อนหน้า โครงสร้างยุคก่อนประวัติศาสตร์ประกอบด้วยวิหาร 3 หลังที่อยู่ติดกันแต่ไม่เชื่อมเข้าด้วยกัน ได้แแก่ วิหารบน วิหารกลาง และวิหารล่าง[4][5]

วิหารบนเป็นโครงสร้างที่เก่าแก่ที่สุดในลิมนัยดราและมีอายุย้อนไปถึงระยะจกันตียา (3,600–3,200 ปีก่อนคริสต์ศักราช) มีมุขโค้ง 3 มุข ทางเข้ามุขกลางมีผนังเตี้ยกั้นไว้ เสาหินหลักมีรอยตกแต่งที่เกิดจากการเจาะหลุมเล็ก ๆ เป็นแถว ๆ ตามพื้นผิวด้านใน[6]

วิหารกลางได้รับการสร้างขึ้น (หรืออาจรื้อสร้างใหม่) ในช่วงปลายระยะฮัลตาร์ชีน (3,150–2,500 ปีก่อนคริสต์ศักราช)[7] ช่องประตูหลักตรงกลางก่อขึ้นจากการเจาะเข้าไปในแผ่นหินตั้งแผ่นใหญ่ ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่พบบ่อยในการก่อช่องประตูหินใหญ่ที่อื่น ๆ ในมอลตา วิหารนี้แต่เดิมดูเหมือนจะมีเพดานทรงโค้ง แต่ปัจจุบันเพดานดังกล่าวเหลืออยู่เพียงส่วนฐานที่ด้านบนของผนังเท่านั้น[8] ฐานเพดานนี้เป็นโครงสร้างที่ก่อขึ้นท้ายสุดจากการเรียงก้อนหินซ้อนกันให้เป็นชั้นตามแนวนอน

วิหารล่างสุดสร้างขึ้นในช่วงแรกเริ่มระยะฮัลตาร์ชีน มีความโดดเด่นที่สุดและอาจเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของสถาปัตยกรรมหินใหญ่ในมอลตา วิหารนี้มีลานด้านหน้าขนาดใหญ่ที่มีที่นั่งหิน ทางเข้าปูด้วยแผ่นพื้นซึ่งหนึ่งในนั้นยังหลงเหลือมาถึงปัจจุบัน และซากของสิ่งที่อาจจะเคยเป็นหลังคาทรงโดม[9] วิหารได้รับการตกแต่งด้วยหินสลักลายก้นหอย ตามผนังภายในเจาะเป็นช่องหน้าต่าง บ้างเจาะเข้าไปในห้องเล็ก ๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นมีก้อนหินวางเรียงกันอยู่ในลักษณะเฉพาะ[7]

หน้าที่[แก้]

วิหารล่างสุดของลิมนัยดราวางตัวในทิศทางสอดคล้องกับดาราศาสตร์ และด้วยเหตุนี้วิหารดังกล่าวจึงอาจเคยเป็นสถานที่สังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์หรือทางปฏิทิน[10] ในวันวสันตวิษุวัตและวันศารทวิษุวัต แสงอาทิตย์จะลอดผ่านช่องประตูหลักและทำให้แกนหลักสว่างไสว ส่วนในวันครีษมายันและวันเหมายัน แสงอาทิตย์จะส่องสว่างตามขอบของหินใหญ่ทางด้านซ้ายและด้านขวาของช่องประตูนี้[11]

แม้จะไม่มีหลักฐานลายลักษณ์อักษรที่ระบุวัตถุประสงค์ของการสร้างลิมนัยดรา แต่นักโบราณคดีได้อนุมานหน้าที่การใช้งานของวิหารเหล่านี้จากวัตถุที่ใช้ในพิธีกรรมที่พบในบริเวณวิหาร ได้แก่ มีดหินเหล็กไฟสำหรับการบูชายัญและรูเชือกที่อาจใช้สำหรับมัดสัตว์บูชายัญ (เนื่องจากมีการพบกระดูกสัตว์หลายชิ้น)[ต้องการอ้างอิง] โครงสร้างเหล่านี้ไม่ได้ใช้เป็นสุสานเนื่องจากไม่พบกระดูกมนุษย์[12] วิหารมีเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น ที่นั่งและโต๊ะหิน นอกจากนี้ยังพบโบราณวัตถุจำนวนมากภายในพื้นที่วิหาร แสดงว่าวิหารเหล่านี้เคยใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางศาสนา อาจใช้รักษาโรคหรือขอให้เกิดความอุดมสมบูรณ์[10]

การตีความร่วมสมัย[แก้]

แคทริน ราวน์ทรี นักมานุษยวิทยา ได้สำรวจว่า "วิหารยุคหินใหม่ของมอลตา" ซึ่งรวมถึงจกันตียา "ได้รับการตีความ โต้แย้ง และใช้ประโยชน์จากกลุ่มผลประโยชน์ท้องถิ่นและต่างถิ่นต่าง ๆ อย่างไร ได้แก่ ผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ปัญญาชน และนักชาตินิยมชาวมอลตา นักล่า นักโบราณคดี ศิลปิน และผู้มีส่วนร่วมในขบวนการบูชาเทวสตรีทั่วโลก"[13]

แหล่งข้อมูลหนึ่งจากช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 วิเคราะห์ว่าผังรูปร่างคล้ายดอกจิกของลิมนัยดรา (คงหมายถึงวิหารบนเป็นหลัก) อาจเป็นตัวแทนของ "ปัจจุบัน อดีต และอนาคต (หรือการเกิด ชีวิต และความตาย)" ในขณะที่การเรียงตัวที่สอดคล้องกับแสงอาทิตย์อาจหมายความว่า "พลังงานเพศชายของพระอาทิตย์ได้รับตำแหน่งอันทรงเกียรติในวิหารเหล่านี้เช่นกัน" และ "มารดาโลกได้รับการแทนด้วยรูปปั้น ในขณะที่บิดาพระอาทิตย์ได้รับการเคารพผ่านการวางตำแหน่งวิหารในลักษณะนี้"[14]

ระเบียงภาพ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Malta Temples and The OTS Foundation". Otsf.org. สืบค้นเมื่อ 2009-05-05.
  2. "Megalithic Temples of Malta - UNESCO World Heritage Centre". Whc.unesco.org. สืบค้นเมื่อ 2009-05-05.
  3. "Prehistoric temples get futuristic roof". Times of Malta. 2009-04-07. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 April 2009. สืบค้นเมื่อ 2009-07-02.
  4. Gunther, Michael D. "Plan Of The Temple Complex At Mnajdra". art-and-archaeology.com.
  5. "Mnajdra Temples, Malta". Sacred-destinations.com. สืบค้นเมื่อ 2009-05-05.
  6. "Places of Interest - Mnajdra". Maltavoyager.com. 1927-03-04. สืบค้นเมื่อ 2009-05-05.
  7. 7.0 7.1 "Heritage Malta". Heritage Malta. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-03-01. สืบค้นเมื่อ 2013-03-26.
  8. "National Inventory of the Cultural Property of the Maltese Islands" (PDF). Government of Malta. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 23 September 2015. สืบค้นเมื่อ 23 March 2013.
  9. "ĦaÄ¡ar Qim and Mnajdra (2)". Beautytruegood.co.uk. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-05. สืบค้นเมื่อ 2009-05-05.
  10. 10.0 10.1 "Malta". Sacredsites.com. สืบค้นเมื่อ 2009-05-05.
  11. "Equinox at Mnajdra Temples » Chris and Marika's Online Journal". Chrisf.com.au. 2004-09-22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-04-30. สืบค้นเมื่อ 2009-05-05.
  12. "Hypogeum,Tarxien & Malta as tip of Atlantis". Carnaval.com. 2002-06-22. สืบค้นเมื่อ 2009-05-05.
  13. Rountree, Kathryn (2002). "Re-inventing Malta's neolithic temples: Contemporary interpretations and agendas". History and Anthropology. 13: 31–51. doi:10.1080/02757200290002879. S2CID 154790343 – โดยทาง ResearchGate.
  14. "Malta's NeolithicTemples". www.carnaval.com. สืบค้นเมื่อ 2021-03-28.