คุนดุน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Kundun)
คุนดุน
กำกับมาร์ติน สกอร์เซซี
เขียนบทเมลิซซา แมททีสัน
อำนวยการสร้างบาร์บารา เดอ ฟีนา
กำกับภาพโรเจอร์ ดีคินส์
ดนตรีประกอบฟิลิปส์ กลาส
ผู้จัดจำหน่ายทัชสโตนพิกเจอส์
วันฉาย25 ธันวาคม ค.ศ. 1997
ความยาว134 นาที
ภาษาภาษาอังกฤษ
ทุนสร้าง28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทำเงิน5,684,789 ดอลลาร์สหรัฐ

คุนดุน (อังกฤษ: Kundun) เป็นภาพยนตร์ชีวประวัติของทะไลลามะ องค์ที่สิบสี่ กำกับโดยมาร์ติน สกอร์เซซี จากบทภาพยนตร์ของเมลิซซา แมททีสัน ดัดแปลงมาจากเรื่องราวและงานเขียนขององค์ทะไลลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณสูงสุดของทิเบตที่ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ หลังจากถูกรุกรานโดยกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ เทนซิง ทูลอบ ซารง ซึ่งเป็นหลานชายขององค์ทะไลลามะ มารับบทเป็นองค์ทะไลลามะในวัยผู้ใหญ่

ชื่อภาพยนตร์ "คุนดุน" (ทิเบต: སྐུ་མདུན་ ) แปลว่า "คนปัจจุบัน" มาจากคำสรรพนามที่ชาวทิเบตใช้เรียกทะไลลามะองค์ที่ดำรงตำแหน่งในขณะนั้น สืบมาตั้งแต่สมัยทะไลลามะ องค์ที่หนึ่ง

โครงการสร้างภาพยนตร์เริ่มต้นจากการที่เมลิซซา แมททีสัน ซึ่งมีชื่อเสียงจากการเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง อี.ที. เพื่อนรัก ให้พบกับองค์ทะไลลามะ และทูลขออนุญาตนำชีวประวัติของพระองค์มาสร้างภาพยนตร์ แมททีสันยังเป็นผู้เสนอบริษัทผู้สร้างให้สกอร์เซซีรับเป็นผู้กำกับ[1]

ในภาพยนตร์กล่าวถึงเหตุการณ์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1937 จนถึงปี ค.ศ. 1959 เริ่มจากการตามหาองค์ทะไลลามะองค์ใหม่ ที่เชื่อว่าเป็นทะไลลามะ องค์ที่สิบสามที่เพิ่งสิ้นพระชนม์ กลับชาติมาเกิดใหม่ จากนิมิตของเรทิงรินโปเช ที่รับหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการ และพบว่าเด็กชายอายุสองขวบ ชื่อ ลาโม ดอนดรุบ เป็นบุตรของชาวนาจากเมืองทักเซอร์ ใกล้ชายแดนจีน เป็นทะไลลามะองค์ที่สิบสามกลับชาติมาเกิด ลาโมถูกนำตัวเข้าพระราชวังโปตาลาตั้งแต่อายุสี่ขวบ ได้รับการสถาปนาพระนามว่า เท็นซิง เกียตโซ และได้รับการฝึกฝนเพื่อเตรียมพระองค์ สำหรับพิธีสถาปนาเป็นทะไลลามะ องค์ที่สิบสี่ เมื่อถึงเวลาอันควร

ช่วงชีวิตในวัยเด็กขององค์ทะไลลามะได้พบเห็นความขัดแย้งจากการเมืองในราชสำนัก และการที่ทิเบตถูกรุกรานโดยกองทัพปลดปล่อยประชาชน ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน จนทรงมีความเป็นผู้ใหญ่เกินวัย พรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องการให้ทรงเป็นผู้นำหุ่นเชิดของรัฐบาลทิเบต และทำการกวาดล้างชาวทิเบตผู้รักชาติ ที่ต่อต้านทหารจีน พระองค์ไม่ต้องการเห็นการฆ่าฟันกัน และพยายามใช้กุศโลบายเพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรง ทั้งการเสด็จฯ ไปเยือนเหมา เจ๋อตุงถึงกรุงปักกิ่ง ในที่สุดจึงทรงตัดสินพระทัยหนีเล็ดลอดออกจากทิเบตพร้อมด้วยผู้ติดตาม ข้ามชายแดนอินเดียเพื่อขอลี้ภัยและตั้งรัฐบาลทิเบตพลัดถิ่น ในปี ค.ศ. 1959 ขณะพระชนม์ 24 ปี

ภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายในเวลาใกล้เคียงกับภาพยนตร์เรื่อง Seven Years in Tibet และถูกต่อต้านจากรัฐบาลจีนเช่นเดียวกัน ส่งผลให้สกอร์เซซี, แมททีสัน และทีมงานสร้าง ถูกทางการจีนสั่งห้ามเข้าประเทศ และดิสนีย์ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของทัชสโตนพิกเจอส์ ถูกทางการจีนเพ่งเล็ง ภาพยนตร์ถ่ายทำในโมร็อกโก โดยบางส่วนถ่ายทำที่วัดทิเบตในนิวยอร์ก[2][3]

อ้างอิง[แก้]

  1. Overview of Kundun from the Turner Classic Movies website
  2. "Karma Triyana Dharmachakra - The Monastery". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-12-05. สืบค้นเมื่อ 2011-05-16.
  3. "Young Spiritual Leader Arrives in New York Ready to Teach and Be Taught" from the New York Times 16 May 2008

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]