หูฟัง
หูฟัง (อังกฤษ: headphone) เป็นอุปกรณ์เครื่องเสียงชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในประเภทอุปกรณ์แสดงผลข้อมูลในรูปแบบเสียง โดยมีหน้าที่คล้ายกับลำโพง ประกอบด้วยตัวหูฟัง
ประวัติ
[แก้]หูฟังมีต้นกำเนิดมาจาก นาทาเนียล บอลด์วิน (อังกฤษ: Nathaniel Baldwin) นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เป็นผู้ประดิษฐ์ชุดหูฟังวิทยุคนแรก แรกเริ่มการคิดค้นยังไม่ได้รับความสนใจจากนักธุรกิจเท่าไหร่ จนกระทั่งช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง กองทัพเรือสหรัฐอเมริกาได้สั่งซื้อชุดหูฟัง 100 ชุด ทำให้วงการชุดหูฟังเป็นที่รู้จักมากขึ้น หลังจากนั้นนักบินสองคนซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทแพนทรอนิกส์ (อังกฤษ: Plantronics) ได้เริ่มผลิตชุดหูฟังที่มีน้ำหนักเบาเหมาะสำหรับการสวมใส่ โดยทดลองใช้ในเครื่องบินเป็นครั้งแรก เพื่อแก้ปัญหาความยากลำบากที่ได้รับจากการใช้หูฟังขนาดใหญ่ ทำให้หูฟังเป็นอุปกรณ์ที่ได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบันรวมทั้งพัฒนาให้มีการใช้งานไร้สายหรือที่เรียกกันว่า บลูทูธ
ประเภทของหูฟัง
[แก้]หูฟังขนาดเล็ก
[แก้]หูฟังประเภทหูฟังขนาดเล็ก เป็นหูฟังที่ถูกพัฒนามาจากหูฟังขนาดกลาง หูฟังจะมีขนาดเล็กกว่าใบหู เพื่อที่จะพกพาและสามารถใช้งานได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น จุดเด่นของหูฟังประเภทนี้คือ มีระยะที่ใกล้ชิดกับหูทำให้ได้ยินเสียงทุกมิติชัดเจน ป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอกได้ดี และยังมีน้ำหนักเบาทำให้พกพาได้สะดวก จุดด้อยของหูฟังประเภทนี้คือ ทำให้ไม่ได้ยินเสียงภายนอกที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ตัว เนื่องจากเวลาใช้งานจะต้องใส่เข้าไปในรูหูให้แน่น จึงอาจทำให้เกิดอันตรายได้ หากใช้ขณะทำกิจกรรมบางอย่าง เช่น การขับรถหรือการเดินทางเท้าที่มีการจราจรหนาแน่น และอัตราคุณภาพต่อราคามีความคุ้มค่าน้อยที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับหูฟังประเภทอื่น ๆ
หูฟังประเภทหูฟังขนาดเล็กสามารถแบ่งออกได้อีกเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ ดังนี้
- Ear Bud หูฟังประเภทนี้จะมีลักษณะกลมแบนขนาดใหญ่กว่ารูหูไม่มาก เมื่อสวมใส่หูฟังตัวหูฟังจะปิดรูหูไว้พอดี บางชนิดจะมีตัวไมโครโฟนอยู่ที่สายของหูฟังด้วย เพื่อที่จะเอาไว้ใช้พูดคุยติดต่อสื่อสารได้ (การคุยโทรศัพท์) หูฟังประเภทนี้เป็นหูฟังที่มีขายอยู่ตามทั่วทุกที่อย่างมากมาย เหมาะสำหรับผู้ที่จะเริ่มใช้หูฟังเพราะว่าสามารถหาซื้อได้ง่าย เป็นที่รู้จักกันในคนหมู่มาก เมื่อเราซื้อมือถือหรือเครื่องเล่นเพลงแบบพกพา หูฟังที่ทางร้านแถมมาให้นั้นส่วนใหญ่ก็จะเป็นหูฟังประเภทนี้ ดังนั้นเมื่อมีการกล่าวถึงหูฟังคนส่วนมากจะรู้จักและนึกถึงหูฟังประเภทนี้ แต่หูฟังประเภทนี้อาจจะไม่เหมาะสมสำหรับผู้ที่นิยมชื่นชอบในการเล่นหูฟัง เพราะว่าหูฟังประเภทนี้นั้นจะออกแบบออกมาให้ดีมากนั้นทำได้ยาก เนื่องจากมีข้อจำกัดในเรื่องของขนาดส่งผลให้ระยะของเสียงจากตัวหูฟังไปยังแก้วหูนั้นอยู่ในระยะที่ใกล้มาก ทำให้คุณภาพของเสียงที่ผู้ฟังได้รับนั้นก็จะมีประสิทธิภาพด้อยลงไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับยี่ห้อของหูฟังด้วยว่ายี่ห้อต่าง ๆ นั้นได้ทำการผลิตออกมาได้เป็นอย่างไร ถ้าเป็นของยี่ห้อที่ไม่มีชื่อเสียงที่ทำการลอกเลียนแบบยี่ห้อที่มีชื่อเสียงนั้น หูฟังที่ผลิตออกมาก็จะมีคุณภาพเสียงที่ไม่ดีและหูฟังอาจจะพังง่ายเพราะสายไฟด้านในขาด เป็นต้น
- In Ear หูฟังประเภทนี้มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Ear Plug หูฟังประเภทนี้จะมีจุกยางโค้งมนครอบตัวปล่อยเสียงไว้เพื่อสวมใส่เข้าที่รูหู ขนาดของจุกยางจะมีหลายขนาดตามความเหมาะสมของผู้ที่จะนำไปใช้ หูฟังประเภทนี้กำลังก้าวมาเป็นหูฟังที่นิยมใช้กันในปัจจุบันเป็นอย่างมาก ใกล้จะมาแทนที่หูฟังประเภท Ear Bud ได้อย่างเต็มตัว จากการที่เห็นได้จากปัจจุบันนี้ร้านค้าที่ขายเครื่องเล่นเพลงแบบพกพาหรือร้านขายโทรศัพท์มือถือก็เริ่มที่จะให้หูฟังประเภทนี้มาเป็นของแถมแทนที่หูฟังประเภท Ear Bud จึงเป็นข้อสังเกตของค่านิยมที่กำลังจะเปลี่ยนไป หูฟังประเภทนี้จะให้เสียงที่มีรายละเอียดดีมีความเพี้ยนต่ำเพราะว่าตัวลำโพงของหูฟังจะมีขนาดเล็กและอยู่ใกล้กับโครงสร้างของหูในส่วนที่ใช้รับเสียงมากกว่าหูฟังประเภทอื่น ส่งผลให้ไม่ต้องเปิดเสียงดังมากจนทำให้เสียงเกิดความเพี้ยนขึ้นมา หูฟังประเภทนี้จะให้มิติของเสียงได้ดีเนื่องจากตอนใช้งานจะต้องใส่ลงไปในรูหูให้พอดี ซึ่งจะช่วยป้องกันเสียงจากภายนอกไม่ให้เข้าไปรบกวนได้
- Hybrid หูฟังประเภทนี้เกิดขึ้นจากการผสมผสานระหว่างหูฟังประเภท Ear Bud และหูฟังประเภท In Ear หูฟังประเภทนี้ที่ตัวฐานจะมีลักษณะกลมแบนคล้ายกับหูฟังประเภท Ear Bud ส่วนตัวลำโพงจะต่อยื่นจากฐานออกมาโดยมีรูปทรงคล้ายหูฟังประเภท In Ear คือจะมีจุกยางที่โค้งมนไว้เพื่อสวมใส่เข้าที่รูหู ในปัจจุบันหูฟังประเภทนี้ยังไม่ได้รับความนิยมจากผู้ที่ชื่นชอบการใช้หูฟัง อีกทั้งบริษัทที่ทำการผลิตหูฟังประเภทนี้ก็ยังมีน้อย ทำให้หูฟังประเภทนี้คนส่วนใหญ่จะไม่รู้จักหรือไม่รู้ว่ามีหูฟังประเภทนี้อยู่
หูฟังขนาดกลาง
[แก้]หูฟังประเภทหูฟังขนาดกลาง เป็นหูฟังที่มีขนาดใหญ่กว่าหูฟังขนาดเล็กเพียงเล็กน้อย โดยถูกออกแบบมาเพื่อความสะดวกสบายในการพกพาที่มากขึ้นเมื่อเทียบกับหูฟังขนาดใหญ่ ลักษณะของหูฟังขนาดกลาง จะมีขนาดใกล้เคียงกับใบหู เมื่อใส่แล้วจะแนบหูพอดี ไม่ได้ครอบปิดหูทั้งหมดเหมือนแบบหูฟังขนาดใหญ่ จุดเด่นของหูฟังขนาดกลางคือ จะได้คุณภาพเสียงที่ดีขึ้นจากหูฟังขนาดเล็กเพราะว่าหูฟังขนาดกลางจะมีตัวขับเสียงที่ใหญ่กว่าหูฟังขนาดเล็ก ทำให้มีเวทีของเสียงที่กว้างกว่า จุดด้อยของหูฟังขนาดกลางคือ การป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอก จะทำได้ไม่ดีเท่าหูฟังขนาดเล็ก และเนื่องจากน้ำหนักและขนาดที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับหูฟังขนาดเล็ก ทำให้หูฟังขนาดกลางจะไม่เหมาะสมสำหรับการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา เช่น การวิ่ง เป็นต้น
หูฟังประเภทหูฟังขนาดกลางสามารถแบ่งออกได้อีกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ดังนี้
- Street Style หูฟังประเภทนี้จะมีลักษณะเป็นหูฟังที่มีก้านเชื่อมหูฟังทั้งสองข้างอ้อมไปทางด้านหลังหัวหรือจะเป็นก้านเชื่อมหูฟังทั้งสองข้างแบบคาดหัว แบบแรกจะมีก้านล็อกตรงใบหูเพื่อช่วยให้ลำโพงแนบสนิทกับใบหูมากยิ่งขึ้นแต่ถ้าเป็นแบบคาดหัวที่ก้านจะไม่มีที่ล็อกตรงใบหู ตัวลำโพงของหูฟังประเภทนี้จะมีขนาดแนบพอดีกับใบหู ในปัจจุบันหูฟังประเภทนี้ก็มีการใช้กันในกลุ่มคนส่วนน้อยเพราะไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก
- Ear Clip หูฟังประเภทนี้จะมีลักษณะเป็นหูฟังที่มีก้านล็อกตรงใบหูทั้งสองข้าง แต่จะไม่มีก้านที่เชื่อมหูฟังทั้งสองข้างเหมือนกับหูฟังประเภท Street style เพราะว่าจะทำให้ใส่แล้วรู้สึกไม่สบายและยังทำให้พกพาได้สะดวกมากยิ่งขึ้นอีกด้วย ตัวลำโพงของหูฟังประเภทนี้ก็จะมีขนาดแนบพอดีกับใบหู หูฟังประเภทนี้ได้รับความนิยมพอสมควรเนื่องจากตัวหูฟังใส่แล้วไม่หลุดง่าย พกพาได้สะดวกและยังมีราคาที่ไม่สูงจนเกินไป ทำให้คนทั่วไปเลือกใช้หูฟังประเภทนี้
หูฟังขนาดใหญ่
[แก้]หูฟังประเภทหูฟังขนาดใหญ่ จะมีขนาดที่ใหญ่พอสมควร สามารถครอบได้ทั้งใบหู หรือแค่แนบบนใบหูก็เป็นได้ โดยส่วนมากจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่ต่ำกว่า 10 เซนติเมตรต่อหนึ่งข้าง และมีก้านคาดหัวระหว่างสองข้างทุกคู่ จุดเด่นของหูฟังขนาดใหญ่คือ จะมีลำโพงขนาดค่อนข้างใหญ่พอที่จะครอบหูได้ทั้งหมด ซึ่งช่วยให้เสียงที่ได้มีคุณภาพ มีบรรยากาศ มีมิติที่ดี มากกว่าหูฟังประเภทอื่น ๆ ทั้งหมด ทำให้เสียงที่ได้ยินนั้น สมจริงใกล้เคียงกับลำโพงเครื่องเสียงที่ใช้ภายในบ้าน ที่ลำโพงจะมีฟองน้ำหนุนครอบหูเอาไว้ ทำให้ตัวลำโพงไม่ต้องกดทับที่ใบหูมาก ทำให้ไม่รู้สึกเจ็บใบหูเวลาใช้งานไปนาน ๆ และอัตราคุณภาพต่อราคามีความคุ้มค่ามากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับหูฟังประเภทอื่น ๆ จุดด้อยของหูฟังขนาดใหญ่คือ พกพาไม่สะดวก เนื่องจากขนาดที่ใหญ่และน้ำหนักที่มากพอสมควร จึงไม่ค่อยเหมาะสมสำหรับผู้ใช้งานที่ต้องเคลื่อนไหวตลอดเวลา
หูฟังประเภทหูฟังขนาดใหญ่สามารถแบ่งออกได้อีกเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ ดังนี้
- หูฟังแบบเปิด หูฟังประเภทนี้จะมีลักษณะเด่นคือเสียงจะสามารถผ่านออกทางด้านข้างของตัวหูฟังได้ เพื่อที่จะทำให้ผู้ใช้หูฟังสามารถฟังได้นานโดยไม่รู้สึกอึดอัด หูฟังประเภทนี้เหมาะสำหรับผู้ใช้ฟังเพลงทั่วไปและใช้งานในที่พักอาศัยเพราะว่าจะมีเสียงภายนอกเข้ามารบกวนได้ ในปัจจุบันหูฟังประเภทนี้ก็จะได้รับความนิยมจากผู้ที่ชื่นชอบการใช้หูฟังเนื่องจากคุณภาพเสียงที่ได้จะมีคุณภาพอยู่ในขั้นดี แต่หูฟังขนาดใหญ่ทุกประเภทก็จะมีราคาที่สูงพอสมควร จึงไม่เหมาะกับคนทั่วไปที่ไม่ได้ชื่นชอบในตัวหูฟัง
- หูฟังแบบปิด หูฟังประเภทนี้จะมีลักษณะที่สำคัญคือด้านข้างของตัวหูฟังจะถูกปิดเอาไว้อย่างดี เพื่อป้องกันไม่ให้เสียงจากภายนอกเข้ามารบกวนได้ ถ้ามีก็จะมีในปริมาณที่น้อยมาก ในทางกลับกันเสียงจากหูฟังก็จะไม่ดังออกมาภายนอกได้เช่นกัน หูฟังประเภทนี้จะได้รับความนิยมเป็นอย่างมากกับผู้ที่มีอาชีพจัดรายการเพลง(DJ)เพราะว่าสามารถป้องกันเสียงจากภายนอกได้เป็นอย่างดี และยังได้รับความนิยมจากผู้ที่ชื่นชอบในหูฟังอีกด้วย
- หูฟังแบบกึ่งเปิดกึ่งปิด หูฟังประเภทนี้จะมีลักษณะเด่นคือเสียงจากตัวหูฟังสามารถออกมาภายนอกได้เล็กน้อยและเสียงจากภายนอกก็สามารถผ่านเข้าไปได้เล็กน้อย หูฟังประเภทนี้เป็นหูฟังที่วิศวกรเสียง(Sound Engineer)ใช้ในการทำงาน แต่คนทั่วไปก็สามารถนำมาใช้ได้ตามปกติเช่นกันขึ้นอยู่กับความชื่นชอบของแต่ละบุคคล
ในสารานุกรมหน้านี้ ผู้เขียนมีเกณฑ์การเปรียบเทียบหูฟังอยู่ 2 เกณฑ์ด้วยกัน เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านในการตัดสินใจเลือกซื้อหูฟัง ทั้งนี้ ข้อความต่าง ๆ ด้านล่างเป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน การเลือกหูฟังที่ดีคือการได้ไปทดลองฟังและควรตัดสินใจตามความชอบ และปัจจัยต่างๆที่เราได้สัมผัสด้วยตนเอง ไม่ควรตัดสินใจตามความชอบของผู้อื่น หากมีข้อผิดพลาดประการใด ผู้เขียนต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย
- เปรียบเทียบจากลักษณะการใช้งาน หากจะเปรียบเทียบหูฟังโดยใช้ลักษณะการใช้งานเป็นเกณฑ์ จะสามารถเปรียบเทียบได้ดังนี้ หูฟังขนาดเล็กถูกออกแบบมาเพื่อเน้นความสะดวกในการพกพาเป็นหลัก หากผู้ใช้กำลังมองหาหูฟังที่สามารถนำมาฟังในขณะเดินทาง, เล่นกีฬา, หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องเคลื่อนไหวเยอะๆ หรือมีเสียงรบกวนมาก ควรจะพิจารณาหูฟังประเภทนี้เป็นหลัก หูฟังขนาดกลางเป็นหูฟังที่ออกแบบมาให้มีตัวขับเสียงที่ใหญ่ขึ้น และยังคงสามารถพกพาได้สะดวก แต่ไม่เหมาะกับการใส่ขณะทำกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวเยอะๆ และยิ่งไปกว่านั้น โดยส่วนมากแล้วหูฟังประเภทนี้จะมีฟองน้ำตรงบริเวณที่หูฟังสัมผัสใบหู จึงไม่ควรใส่ขณะที่ออกกำลังกาย เพราะเหงื่ออาจซึมเข้าไปในฟองน้ำ ทำให้เกิดความชื้นข้างในหูฟังซึ่งอาจจะทำให้หูฟังเสียหายได้ หูฟังขนาดใหญ่ไม่เหมาะกับการใส่ขณะเดินทาง เนื่องจากเป็นหูฟังที่มีขนาดที่ใหญ่และน้ำหนักค่อนข้างเยอะกว่าหูฟังประเภทอื่น จึงทำให้พกพาไม่สะดวก โดยส่วนมากแล้ว หูฟังขนาดใหญ่จึงถูกใช้ภายในที่พักอาศัย หรือสถานที่ใดสถานที่หนึ่งที่ไม่ต้องเคลื่อนย้ายไปไหนมาก
- เปรียบเทียบจากคุณภาพของเสียง โดยทั่วไปแล้ว การเปรียบเทียบเสียงของหูฟังจะมีปัจจัยหลักๆอยู่ 4 ประการ ประการแรกคือ เสียงทุ้ม(Bass)ของหูฟัง เสียงทุ้มในที่นี้หมายถึงเสียงในย่านความถี่ต่ำที่หูฟังขับออกมา ประการต่อมาคือ เสียงกลาง(Mid range, Vocal, เป็นต้น)ของหูฟัง หมายถึงเสียงที่หูฟังขับออกมาและอยู่ในช่วงความถี่ 250 ถึง 6,000 เฮิรตซ์โดยประมาณ กล่าวคือ เสียงร้องของนักร้องในเพลง หรือเสียงบางช่วงของเครื่องดนตรี เป็นต้น ประการที่สี่คือ เสียงสูง/แหลม(High frequencies)ของหูฟัง เป็นเสียงที่หูฟังขับออกมาและอยู่ในช่วงความถี่ตั้งแต่ 6,000 ถึง 20,000 เฮิรตซ์ เสียงที่อยู่ในช่วงความถี่นี้ได้แก่ เสียงเครื่องเคาะ, นักร้อง, และเครื่องดนตรีบางชนิด เป็นต้น ปัจจัยสุดท้ายคือ เวทีเสียง(Sound stage)ของหูฟัง เป็นเวทีเสมือนที่หูฟังสามารถถ่ายทอดให้ผู้ใช้รู้สึกได้ถึงความมีมิติของเสียง เช่น ความกว้าง, ตำแหน่งและระยะห่างของเครื่องดนตรีแต่ละชิ้น, ความเป็นสามมิติ เป็นต้น ปัจจัยที่ส่งผลต่อสิ่งเหล่านี้มีด้วยกันหลายปัจจัย เช่น รูปทรง, ตำแหน่งของตัวขับเสียง, ชนิดของตัวขับเสียง, ขนาดของตัวขับเสียงของหูฟัง, และปัจจัยอื่นๆอีกมากมาย
การที่ผู้ฟังจะสามารถแยกแยะปัจจัยทางเสียงต่างๆได้แม่นยำและสามารถอธิบายได้ดีนั้นต้องใช้ประสบการณ์ในการฟังหูฟังหลายๆคู่และเปรียบเทียบกัน แต่การที่จะแลกเปลี่ยนความรู้ในเรื่องเสียงกับผู้อื่นนั้น ควรคิดไว้เสมอว่าทุกอย่างล้วนมาจากความคิดเห็นส่วนบุคคล, ความชอบของแต่ละบุคคล, และบางอย่างอาจไม่มีผิดไม่มีถูก เราจึงควรเปิดใจรับฟังอย่างมีสติ และไม่ควรตำหนิความชอบหรืองานอดิเรกของคนอื่นๆ ตราบใดที่เขามีความสุขและไม่ทำให้ใครเดือดร้อน
หลักการทำงานของหูฟัง
[แก้]ถ้าหากแบ่งตามประเภท Driver ของหูฟังจะสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก คือ Dynamic Transducer และ Electrostatic
Dynamic Transducer
[แก้]ในส่วนของ Driver ประกอบด้วย แม่เหล็กถาวร ที่ยึดติดกับกรอบของ Driver หรือ Chamber ของหูฟัง ซึ่งแม่เหล็กนี้จะสร้างสนามแม่เหล็กขึ้นมา เพื่อให้ Diaphragm ที่ยึดติดกับ Voice Coil โดย Diaphragm และ Voice จะอยู่ในสนามแม่เหล็กอันนี้ เมื่อเวลาฟังเพลงจะมีสนามแม่เหล็กอีกสนามถูกสร้างขึ้นจากกระแสไฟจากเครื่องเล่นเมื่อเวลาเล่นเพลงต่างๆ ที่ Voice Coil โดยสนามแม่เหล็กที่สร้างขึ้นมาใหม่จะไปเสร้างแรงอันตรกิริยา (Reaction Force) กับสนามแม่เหล็กเดิม ซึ่งทำให้เกิดการสั่นของ Diaphragm ทำให้เกิดเสียงที่ได้ยิน
Electrostatic
[แก้]ในส่วนของ Driver จะประกอบด้วย Charged membrane เมื่อเริ่มใช้งานประจุไฟฟ้าจะถูกอาบอยู่ที่ผิวของ Charged membrane เมื่อมีสัญญาณไฟฟ้าไปกระตุ้น ทำให้ประจุไฟฟ้าเกิดแรงผลักหรือดึงดูดกัน ทำให้แผ่น Membrane ขยับและเกิดเสียงต่างๆ ครับ แต่อย่างไรก็ตาม Electrostatic Transducer ต้องใช้แหล่งจ่ายไฟที่สามารถให้ความต่างศักย์ได้สูง เพื่อที่จะมห้เกิดประจุไฟฟ้าได้ทั่วทั้งแผ่น Membrane ซึ่งไม่สะดวกในการพกพาเท่า Dynamic Transducer
และยังมีอีกระบบหนึ่งซึ่งมีความคล้ายกับการทำงานของหูฟังระบบทั้ง 2 อย่างข้างต้นคือ ระบบ Planar Magnetic
Planar Magnetic
[แก้]หูฟัง Planar Magnetic นั้นเป็นหูฟังที่อยู่กึ่งกลางระหว่างหูฟังชนิด Dynamic และ Electrostatic โดยมีหลักการทำงานคล้ายกับหูฟังทั้งสองชนิดข้างต้น ส่วนที่เหมือนกับหูฟังชนิด Dynamic นั้นก็คือการใช้สนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่อยู่รอบๆตัวนำที่มีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านเพื่อทำการขับ Driver และในส่วนที่เหมือนกับ Electrostatic นั่นก็คือแผ่นไดอะเฟรมที่อยู่ในตัวหูฟังนั้นเป็นแผ่นฟิล์มเรียบบางๆและนำไฟฟ้า (มีสายไฟและลายวงจร)
แม่เหล็กหลายๆแถวจะถูกจัดวางระหว่างแผ่นไดอะเฟรม โดยให้แผ่นไดอะเฟรมอยู่กึ่งกลางของสนามแม่เหล็ก (Isodynamic Magnetic Field) และเมื่อกระแสไหลผ่านตัวนำ ซึ่งหมายถึงสนามแม่เหล็กที่ถูกสร้างขึ้นโดยกระแสที่ไหลผ่านจะทำปฏิกิริยากับ Isodynamic ที่เกิดจากแม่เหล็กที่อยู่ภายใน ทำให้เกิดตัวนำไฟฟ้าขึ้นมา และทำให้แผ่นไดอะเฟรมเกิดการสั่น จุดสำคัญของ Isodynamic เพื่อที่จะให้กระแสไฟนั้นมีความสัมพันธ์กับไดอะเฟรมที่สั่น โดยมีกระแสที่คงที่ไม่ว่าตำแหน่งของตัวนำไฟฟ้าจะเคลื่อนไปจุดใด ซึ่งคุณภาพของ Isodynamic จะมีส่วนในเรื่องความเที่ยงตรงของเสียง และใช้วัดคุณภาพของหูฟังในส่วนของเรื่องการเพี้ยนของเสียงได้อีกด้วย
อ้างอิง
[แก้]- กิตติพจน์ โตสินธุ์ และ จำรัส ตันติพิศาลกุล, 2553, Popular Amplifier 2, สถาบันอิเล็กทรอนิกส์กรุงเทพรังสิต
- แผนกหนังสือพิเศษทางด้านอิเล็กทรอนิกส์, 2537, สร้างและออกแบบลำโพงไฮไฟ, สำนักพิมพ์ซีเอ็ดยูเคชั่น
- แผนกหนังสือพิเศษทางด้านอิเล็กทรอนิกส์, 2538, สร้างและออกแบบแอมป์ไฮไฟ, สำนักพิมพ์ซีเอ็ดยูเคชั่น
- Poldy, C.A., (1988), ‘Headphones’, in Borwick, J. (eds), Loudspeaker and Headphone Handbook, Butterworth, London, pp. 466 – 548.