เต่าซูลคาต้า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Geochelone sulcata)
เต่าซูลคาต้า
เต่าขนาดโตเต็มที่
เต่าขนาดเล็ก
สถานะการอนุรักษ์
CITES Appendix II (CITES)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Sauropsida
อันดับ: Testudines
อันดับย่อย: Cryptodira
วงศ์: Testudinidae
สกุล: Geochelone
สปีชีส์: G.  sulcata
ชื่อทวินาม
Geochelone sulcata
(Miller, 1779)
ชื่อพ้อง
  • Centrochelys sulcata (Miller, 1779)
  • Testudo calcarata Schneider, 1784
  • Testudo radiata Gray, 1831
  • Testudo sulcata Miller, 1779

เต่าซูคาตา หรือ เต่าเดือยแอฟริกา (อังกฤษ: Sulcata tortoise, African spurred tortoise) เป็นเต่าบกชนิดหนึ่ง ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Geochelone sulcata

จัดเป็นเต่าบกที่มีความใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกรองมาจาก เต่ายักษ์กาลาปากอส (G. nigra) และเต่ายักษ์อัลดาบรา (Aldabrachelys gigantea) จัดเป็นเต่าที่มีลักษณะกระดองที่แบนราบ เมื่อยังอยู่ในวัยเล็กลำตัวมีสีขาวไปจนถึงสีน้ำตาลเหลือง เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นและวัยเต็มวัยสีของกระดองจะพัฒนาเป็นสีน้ำตาลและสีเหลือง ขาทั้งสี่ข้างแข็งแรง โดยเฉพาะขาคู่หน้ามีเกล็ดขนาดใหญ่เห็นได้ชัดเจน

กระจายพันธุ์บริเวณพื้นที่แห้งแล้ง บริเวณขอบทะเลทรายซาฮาราตั้งแต่มาลี และเซเนกัล ในแอฟริกาตะวันตกไปจนถึงเอธิโอเปียในแอฟริกาตะวันออก [2]

ขนาดเมื่อโตเต็มที่ยาวได้มากกว่า 36 นิ้ว น้ำหนักกว่า 105 กิโลกรัม มีอายุยาวกว่า 100 ปี

เป็นเต่าที่กินอาหารหลักได้หลากหลาย โดยมากเป็นหญ้า รวมถึงวัชพืชและผลไม้ชนิดต่าง ๆ รวมถึงพืชในทะเลทราย เช่น กระบองเพชร มีพฤติกรรมที่แตกต่างไปกวาเต่าบกชนิดอื่น ๆ คือ เดินเก่งและเดินได้เร็ว สามารถเดินหาอาหารกินได้วันละหลายชั่วโมง เต่าตัวผู้เมื่อสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ราว 5 ปี หรือมีความยาวประมาณ 15 นิ้ว ในส่วนตัวเมียจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 7 ปี หรือมีความยาวประมาณ 17 นิ้ว ตัวผู้มีโคนหางที่ยาวกว่าตัวเมีย และมีกระดองบริเวณก้นเป็นรูปตัววี อีกทั้งกระดองใต้ท้องมีลักษณะโค้งเว้าเข้าไปด้านใน การสังเกตเพศเห็นได้เมื่อมีอายุได้ 3-4 ปี หรือมีความยาวประมาณ 1 ฟุต

มีฤดูผสมพันธุ์ในช่วงต้นฤดูร้อนจนถึงปลายฤดูฝน โดยใช้เวลาผสมพันธุ์นานราว 1 ชั่วโมง เต่าตัวเมียจะวางไข่หลังผสมพันธุ์แล้ว 1 เดือน โดยใช้ขาหลังขุดหลุม ซึ่งอาจมีหลายหลุมเพื่อหลอกสัตว์กินเนื้อชนิดอื่นที่จะมาขโมยไข่ วางไข่ครั้งละ 20-30 ฟอง โดยในแต่ละปีอาจวางไข่ได้ถึงครั้งละ 4-5 ครั้ง และมักจะวางไข่ในช่วงเวลาบ่ายไปจนถึงตอนเย็น ไข่ใช้เวลาฟักเป็นตัวประมาณ 90 วัน โดบใช้อุณหภูมิประมาณ 29-31 องศาเซลเซียส ความชื้นอยู่ที่ร้อยละ 75-85 ลูกเต่าเมื่อแรกฟักจะมีความยาวประมาณ 2 นิ้ว น้ำหนักประมาณ 20-30 กรัม และจะมีถุงไข่แดงติดตัวมาด้วย ซึ่งถุงไข่แดงนั้นจะให้พลังงานแทนอาหาร ใช้เวลานานประมาณหนึ่งสัปดาห์ ถุงไข่แดงนี้จึงจะยุบไป

ปัจจุบัน เต่าซูลคาตาเป็นเต่าบกอีกชนิดหนึ่ง ที่นิยมเลี้ยงกันเป็นสัตว์เลี้ยง และสามารถเพาะขยายพันธุ์ในที่เลี้ยงได้แล้ว รวมถึงในประเทศไทยด้วย[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. Petrozzi, F.; Luiselli, L.; Hema, E.M.; Diagne, T.; Segniagbeto, G.H.; Eniang, E.A.; Leuteritz, T.E.J.; Rhodin, A.G.J. (2021). "Centrochelys sulcata". IUCN Red List of Threatened Species. 2021: e.T163423A1006958. doi:10.2305/IUCN.UK.2021-1.RLTS.T163423A1006958.en. สืบค้นเมื่อ 30 July 2021.
  2. "เรื่องของเต่าซูลคาตา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-10. สืบค้นเมื่อ 2011-03-15.
  3. การเพาะพันธุ์เต่าซูลคาตา โดย พิริยะ ศุขพัฒน์, Aquarium Biz ฉบับที่ 9 ปีที่ 1 ประจำเดือนมีนาคม พ.ศ. 2554 ISSN 19069243

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Geochelone sulcata ที่วิกิสปีชีส์ ความรู้เรื่องเต่าบก เต่าซูลคาตา