Clione limacina

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
Clione limacina
Clione limacina
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Mollusca
ชั้น: Gastropoda
อันดับ: Gymnosomata
วงศ์: Clionidae
สกุล: Clione
สปีชีส์: C.  limacina
ชื่อทวินาม
Clione limacina
(Phipps, 1774) [1]
ชื่อพ้อง[2] [3]
  • Clio borealis (Pallas, 1774)
  • Trichocyclus dumerilii Eschscholtz, 1825
  • Clione elegantissima Dall, 1871
  • Clione kincaidi Agersborg, 1923
  • Clione papillonacea Jeffreys, 1869

Clione limacine หรือในชื่อสามัญว่า นางฟ้าทะเล (อังกฤษ: Sea angel[4]) เป็นหอยฝาเดี่ยวที่ไม่มีเปลือกจำพวกหนึ่ง พบในความลึกระดับ 500 เมตร[2]ในมหาสมุทรทางแถบขั้วโลกเหนือ คือ มหาสมุทรอาร์กติก และแถบหนาวเย็นของมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือและแอตแลนติกเหนือ

จำแนกออกได้เป็น 2 ชนิดย่อย คือ[2]

  • Clione limacina australis (Bruguière, 1792)
  • Clione limacina limacina (Phipps, 1774)

นางฟ้าทะเลมีความยาวโดยเฉลี่ย 1-2.5 เซนติเมตร มีลักษณะโดยทั่วไปใกล้เคียงกับ Clione antarctica ซึ่งพบในมหาสมุทรใต้ ที่มีขนาดใหญ่กว่า

นางฟ้าทะเลมีลำตัวใส มองเห็นจุดสีส้มอยู่ทั้งหมดสามจุด โดยสองจุดแรกจะแยกออกจากกันไม่ชัดเจน เนื่องจากอยู่บริเวณหัวที่มีหนวดสั้น ๆ สองข้างด้านบน ซึ่งจุดดังกล่าวเป็นอวัยวะที่เรียกว่า "ถุงตะขอ" (Hook sac) และ "หลอดบุคคัล" (Buccal bulb) ซึ่งเป็นส่วนที่เปรียบได้กับปาก มีส่วนที่เป็นฟันอยู่ในนั้น จุดที่สามของลำตัว มีขนาดใหญ่กว่า เป็นส่วนที่ใช้สำหรับย่อยอาหาร และส่วนที่เป็นจุดเด่น คือ อวัยวะที่เป็นระยางค์เล็ก ๆ คล้ายปีก ที่ชื่อชื่อเรียกว่า "พาราโพเดีย" (Parapodia) อยู่สองข้าง ใช้สำหรับกระพือขึ้นลงเคลื่อนไหวในน้ำเป็นจังหวะ ดูแล้วคล้ายกับนางฟ้าในนิทาน อันเป็นที่มาของชื่อสามัญ[4]

กินอาหารจำพวกหอยเปลือกเดี่ยวที่ว่ายน้ำได้ ในสกุล Limacina ได้แก่ชนิด Limacina helicina และ Limacina retroversa โดยล่าเหยื่อด้วยความรวดเร็ว เมื่อเหยื่อเข้ามาใกล้จะจับเหยื่อไว้ด้วยอวัยวะคล้ายหนวด (Buccal cones) ซึ่งมีหกเส้น และเมื่อจับได้จะใช้ฟันครูดและตะขอในการเซาะเปลือกของเหยื่อ เนื่องจากเหยื่อของนางฟ้าทะเลนั้นเป็นหอยที่มีเปลือก[5][6]

นางฟ้าทะเลดำรงชีวิตเป็นแพลงค์ตอนในมวลน้ำจึงเป็นอาหารที่สำคัญของสัตว์ที่กินแพลงค์ตอนเป็นอาหาร เช่น วาฬบาลีน ซึ่งในอดีตจึงเคยได้ชื่อว่าเป็นอาหารของวาฬ[7]

อ้างอิง[แก้]

  1. Phipps, C.J., 1774. A voyage towards the North Pole undertaken by His Majesty's Command 1773 : i-viii, 1-253
  2. 2.0 2.1 2.2 Gofas, S. (2012). Clione limacina. Accessed through: World Register of Marine Species at http://www.marinespecies.org/aphia.php?p=taxdetails&id=139178 on 2012-07-23
  3. "Clione limacina (Phipps, 1774)". itis.gov. 4 March 2014. สืบค้นเมื่อ 4 March 2014.
  4. 4.0 4.1 หน้า 142-143, นางฟ้าทะเล (Sea Angel) โดย ดร.วรเทพ มุธุวรรณ. "คลินิกสัตว์ทะเล" นิตยสาร Aquarium Biz ฉบับที่ 35 ปีที่ 3 พฤษภาคม 2013
  5. Lalli C. M. & Gilmer R. W. (1989). Pelagic Snails. The biology of holoplanktonic gastropod molluscs. Stanford University Press: Stanford, California. page 188.
  6. Böer M., Gannefors C., Kattner G., Graeve M., Hop H. & Falk-Petersen S. (2005). "The Arctic pteropod Clione limacina: seasonal lipid dynamics and life-strategy". Marine Biology 147(3): 707-717. doi:10.1007/s00227-005-1607-8.
  7. Gosse, Philip Henry (1854). Mollusca. Natural History. Society for Promoting Christian Knowledge. p. 72.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Clione limacina ที่วิกิสปีชีส์