ข้ามไปเนื้อหา

คาร์ล ยุง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Carl Jung)
คาร์ล ยุง
ยุงในปี 1910
เกิดคาร์ล กุสทัฟ ยุง
26 กรกฎาคม ค.ศ. 1875(1875-07-26)
เคสส์วิล รัฐทัวร์เกา สวิตเซอร์แลนด์
เสียชีวิต6 มิถุนายน ค.ศ. 1961(1961-06-06) (85 ปี)
ซูริก รัฐซูริก สวิตเซอร์แลนด์
พลเมืองสวิส
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยบาเซล
มีชื่อเสียงจากจิตวิทยาวิเคราะห์
คู่สมรสเอมมา ยุง
อาชีพทางวิทยาศาสตร์
สาขาจิตเวชศาสตร์ จิตวิทยา จิตบำบัด จิตวิทยาวิเคราะห์
อาจารย์ที่ปรึกษาในระดับปริญญาเอกออยเกน บลอยเลอร์, ซิกมุนด์ ฟรอยด์
ลายมือชื่อ

คาร์ล กุสทัฟ ยุง (เยอรมัน: Carl Gustav Jung; 26 กรกฎาคม 1875 – 6 มิถุนายน 1961) เป็นนักจิตบำบัดและจิตแพทย์ชาวสวิส ผู้ก่อตั้งสำนักจิตวิทยาวิเคราะห์ (Analytical Psychology) ยุงเสนอและพัฒนามโนทัศน์บุคลิกภาพแบบแสดงตัวและเก็บตัว แม่แบบ (Archetype) และจิตไร้สำนึกร่วม (Collective Unconscious) ผลงานของเขามีอิทธิพลต่อจิตเวชศาสตร์และศาสนา วรรณกรรม และสาขาที่เกี่ยวข้อง

ยุงสร้างมโนทัศน์ทางจิตวิทยาอันเป็นที่รู้จักกันกว้างขวางที่สุด รวมทั้งต้นแบบ จิตไร้สำนึกร่วม ปม (complex) และประสบการณ์เหตุการณ์ซ้อน (Synchronicity) ตัวชี้วัดของไมเออร์ส-บริกส์ (MBTI) เครื่องมือจิตวิทยาที่ได้รับความนิยมมากในการทำความเข้าใจบุคลิกภาพแบบต่างๆก็พัฒนามาจากทฤษฎีของยุง อันที่จริงยุงกล่าวว่าทุกคนมีแนวโน้มจะเป็นทั้งคนเก็บตัว (Introvert) และแสดงตัว (Extrovert) ส่วนหน้าที่การทำงานของจิตต่างๆคือ การคิด, ความรู้สึก, ผัสสาการ และ ญาณหยั่งรู้ และมนุษย์เราควรพัฒนาตนโดยการใช้หน้าที่ทางจิตเหล่านั้นให้ครบและสมดุล เพื่อจะได้มีชีวิตที่สมบูรณ์ทั่วถ้วน ยุงเล่าว่าการพัฒนาบุคลิกภาพเพียงด้านเดียว เช่น ตีกรอบบุคลิกภาพตัวเองให้เข้ากับแม่แบบบุคลิกภาพแบบใดแบบหนึ่งมากเกินไป อาจจะเป็นหัวโขนทางหน้าที่การงานที่เราใส่ อาจเป็นกรอบผู้มีคุณธรรมตามหลักจารีตจนทำให้มีทัศนคติขาวดำสุดโต่งไปด้านเดียว หรือแม้แต่การใช้หน้าที่การทำงานบางอย่างของจิตมากจนเกินไป ทำให้บุคลิกภาพขาดความสมดุล คนที่ใช้ชีวิตด้วยทัศนคติสุดโต่งด้านเดียวมามาก ถึงเวลาหนึ่งจะรู้สึกว่าชีวิตตัวเองกลวงเปล่า อึดอัดคับข้อง มีอะไรขาดหายไม่สมบูรณ์ ทว่ายุงสามารถใช้การวิเคราะห์ทางจิต เพื่อให้บุคคลนั้นตระหนักรู้ได้ว่าเขาละเลยบุคลิกภาพด้านไหนของตนไป ซึ่งการวิเคราะห์นี้สามารถทำได้ผ่านทั้ง Active Imagination หรือผ่านการทำความเข้าใจความฝัน[1] ความฝันนั้นก็เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่จะทำให้มนุษย์สามารถเข้าถึงข้อมูลในจิตไร้สำนึกของตนได้ ใน Approaching the Unconscious ยุงกล่าวว่า "มนุษย์ไม่อาจเข้าใจอะไรหลายอย่างได้อย่างสมบูรณ์ จึงต้องใช้สัญลักษณ์ ทว่าการใช้สัญลักษณ์แบบรู้เนื้อรู้ตัวเป็นแค่ด้านหนึ่งของจิต จริงๆแล้วจิตมนุษย์สามารถสร้างสัญลักษณ์โดยไร้สำนึกและฉับพลัน ในรูปแบบของความฝัน"[2]

เมื่อเราทราบว่าอะไรเป็นสิ่งที่ละเลยไปจากบุคลิกภาพก็สามารถที่จะพัฒนาได้ เช่น อาจะใช้ "ความรู้สึก" มากกว่า "ความคิด" หรือใช้ "ความหยั่งรู้จากพลังงานทางจิตสู่โลกด้านใน (Introverted Intuition)" มากกว่าความรู้จาก "ประสาทสัมผัสจากโลกภายนอก (Extroverted Sensing)" เราก็สามารถจะพัฒนาด้านที่ละเลยให้เกิดความสมดุลและบริบูรณ์ขึ้น หรือถ้าเราใส่หัวโขนคุณธรรมมากไปจนมองเห็นแต่ด้านชั่วร้ายของคนอื่น เรียกอีกอย่างว่าฉายเงาของตน (project one's Shadow) ไปที่ผู้อื่น เราก็สามารถกลับมามองดูจิต เฉกเช่นการภาวนาให้เห็นอีกสภาวะที่เราไม่เคยรับรู้ในจิตตนมาก่อน ซึ่งจะทำให้เข้าใจตนเองได้อย่างสมบูรณ์ขึ้น เมื่อสิ่งที่ไม่เคยถูกรู้ ถูกรู้ ก็เรียกได้ว่า มันออกมาจากจิตไร้สำนึกสู่จิตสำนึกรู้แล้ว กระบวนการแบบนี้สามารถจะเกิดต่อเนื่องไปเรื่อยๆ บุคลิกภาพของเราจะได้จัดตำแหน่งศูนย์กลางใหม่เรื่อยๆ โดยมีการหลอมรวมเอาข้อมูลในจิตไร้สำนึกเข้ามาไว้ตรงกลาง เสมือนภาพวงมณฑลที่ผสานรวมขั้วตรงข้ามไว้ได้อย่างกลมกลืนและบริบูรณ์ เราอาจเรียกกระบวนการดังกล่าวว่า "การกลายเป็นปัจเจก" (Individuation) ซึ่งแน่นอนว่าเราย่อมพบกับความโดดเดี่ยวในกระบวนการ ยกตัวอย่างการวิวัฒน์บุคลิกภาพตัวเองในบริบทของสังคม จากเดิมเราอาจต้องทำตามแบบบุคลิกภาพตามคนอื่นในสังคมไปเรื่อย อะไรที่คนอื่นบอกว่าดีก็ต้องทำอย่างนั้นเพื่อให้เป็นที่ยอมรับ แน่นอนว่าจะมีหลายๆด้านที่เราต้องเก็บงำจนถึงขั้นลืมไปว่าเราก็มีสภาวะแบบนั้นเหมือนกัน เมื่อใดก็ตามเราเริ่มตระหนักในคุณลักษณะที่เราละเลยไป คนในสังคมอาจจะเริ่มมองว่าเราเป็นแกะดำ เพราะฉะนั้นมันเป็นกระบวนการที่อาจแยกเราจากฝูงชน และอาจพบความรู้สึกเดียวดายในเบื้องแรก[3] ถ้าเปรียบกับการเดินทางของวีรบุคคลตามแนวคิดของ Joseph Campbell ซึ่งปรากฏใน A Hero with a Thousand Faces แล้วความโดดเดี่ยวนั้นปรากฏในช่วงแยกจากที่มั่นอันปลอดภัยของตนหรือ "Departure" นั่นเอง

ยุงมองว่าจิตใจของมนุษย์ "เลื่อมใสในศาสนาโดยธรรมชาติ"[4] และทำให้ความเลื่อมใสในศาสนานี้เป็นความสนใจของการค้นพบของเขา[5] ยุงเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนในการวิเคราะห์และตีความสัญลักษณ์ความฝันร่วมสมัยที่รู้จักกันดีที่สุด

ผลงานส่วนใหญ่ในชีวิตของเขาอยู่ในสาขาการเล่นแร่แปรธาตุหรือรสายนเวท ปรัชญาตะวันออกและตะวันตก ดาราศาสตร์และสังคมวิทยา เช่นเดียวกับวรรณกรรมและศิลปะ ในส่วนของการเล่นแร่แปรธาตุนั้น โดยผิวเผินแล้วเราจะเห็นว่ามีความพยายามจะแปลงเหล็กให้กลายเป็นทอง (ภาษาลาตินเรียกทองว่า Aurum) และเป็นทองที่ไม่ธรรมดาด้วย ดั่งคำที่พวกเขากล่าวว่า "Aurum nostrum non est aurum vulgi" ด้วยว่าความมุ่งหมายที่ลึกลงไปของนักเล่นแร่แปรธาตุคือ พวกเขาพยายามทำสิ่งต่างๆนอกเหนือไปจากธาตุที่เอามาทดลอง ให้สมบูรณ์เท่าที่สารัตถะของสิ่งเหล่านั้นจะเป็นได้ นั่นหมายรวมถึงโลกภายในของมนุษย์ที่เชื่อมโยงอยู่กับสสาร เมื่อมีการกระทำบางอย่างต่อสสารในโลกภายนอก โลกภายในของนักเล่นแร่แปรธาตุก็ได้รับผลกระทบด้วย เสมือนว่าโลกภายในของพวกเขาถูกโปรเจกไปที่สสารภายนอก เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงสสารไปสู่ธาตุบริสุทธิ์ จิตใจของนักเล่นแร่แปรธาตุก็เปลี่ยนด้วย พวกเขาใช้กระบวนการดังกล่าวเพื่อภาวนาจนเกิดการพัฒนาบุคลิกภาพภายในและเข้าถึงความบริบูรณ์ดั่งธาตุทองคำ ดังนั้นกระบวนการนี้จึงเหมือนกับกระบวนการกลายเป็นปัจเจกของยุง (Individuation)[6]

อ้างอิง

[แก้]
  1. เนื้อหาส่วนหนึ่งแปลจาก The Essential Jung ของ Anthony storr
  2. Man and His Symbols
  3. Storr, The Essential Jung
  4. Aniela Jaffe, foreword to Memories, dreams and reflections, p.10
  5. Dunne, Clare (2002). "Prelude". Carl Jung: Wounded Healer of the Soul: An Illustrated Biography. Continuum International Publishing Group. p. 3. ISBN 978-0-8264-6307-4.
  6. Storr, The Essential Jung