การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก B-NET)

การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ (อังกฤษ: Ordinary National Educational Test) เป็นการวัดผลสัมฤทธิ์รวบยอดของผู้เรียนที่ต้องการวัดผ่านการจัดการทดสอบในระดับชาติ โดยมีสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เป็นผู้ดำเนินการออกข้อสอบและจัดสอบทั่วประเทศ โดยที่ในอดีตมีการจัดการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นสูงอีกด้วย ซึ่งในปัจจุบันมีการใช้แบบทดสอบความถนัดทั่วไป (GAT) และแบบทดสอบความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ (PAT) มาใช้แทน[1]

การทดสอบทางการศึกษาได้รับข้อวิพากษ์วิจารณ์จากหลายภาคส่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นสามัญ ซึ่งมีการกล่าวถึงปัญหาข้อสอบที่มีความกำกวม บางข้อเกินกว่าหลักสูตรกำหนด[2] รวมไปถึงปัญหาข้อสอบผิดและไม่ได้มาตรฐาน[3] ซึ่งเป็นปัญหาที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กำลังเร่งแก้ปัญหาอยู่ในปัจจุบัน

ประวัติ[แก้]

รูปแบบการทดสอบ[แก้]

การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ แบ่งการจัดสอบออกเป็น 6 รูปแบบคือ การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นสามัญ, การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติสำหรับการศึกษานอกระบบโรงเรียน, การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านอาชีวศึกษา, การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านอุดมศึกษา, แบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านพระพุทธศาสนา, และการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านอิสลามศึกษา[4] ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นสามัญ[แก้]

การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นสามัญ (Ordinary National Educational Test; O-NET) เป็นการสอบความรู้รวบยอดปลายช่วงชั้น 6 ภาคเรียน โดยสอบชั้นประถมศึกษาปีที่ 3, 6, มัธยมศึกษาปีที่ 3 และ 6 ตามมาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544 ทำการทดสอบความรู้ในกลุ่มสาระต่าง ๆ รวม 8 กลุ่มสาระ ได้แก่ ภาษาไทย, คณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์, สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม, สุขศึกษาและพลศึกษา, ศิลปะ, การงานอาชีพและเทคโนโลยี และภาษาต่างประเทศ มีช่วงเวลาสอบในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นการสอบประจำปีเพียงครั้งเดียวอย่างถาวร

การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านอาชีวศึกษา[แก้]

การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านอาชีวศึกษา (Vocational National Educational Test; V-NET) เป็นการทดสอบเพื่อวัดความรู้ ให้แก่นักเรียนที่กำลังศึกษา ปวช.ชั้นปีที่ 3 เพื่อทดสอบความรู้และความคิด ตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ พุทธศักราช 2545 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2546), นำผลไปใช้ ในการปรับปรุงคุณภาพ การเรียนการสอนของโรงเรียน และเพื่อนำผลไปใช้ในการประเมิน การเรียนรู้ของนักเรียนระดับชาติ

การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านอิสลามศึกษา[แก้]

การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านอิสลามศึกษา (Islamic National Educational Test; I-NET) เป็นการทดสอบเพื่อวัดความรู้ และความคิดของนักเรียน ตามหลักสูตรอิสลามศึกษา พ.ศ. 2546 เพื่อนำผลไปใช้ในการปรับปรุงคุณภาพ การเรียนการสอนของโรงเรียน และนำไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่น โดยมีการจัดสอบให้แก่นักเรียน ที่กำลังศึกษาอยู่ในปีสุดท้าย ของหลักสูตรอิสลามศึกษา ตอนต้น ตอนกลาง และตอนปลาย ในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ควบคู่วิชาสามัญ ในกรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ กระบี่ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พังงา พัทลุง ภูเก็ต ยะลา ระนอง สงขลา สตูล สุราษฎร์ธานี และศูนย์ตาดีกาใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้

การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านพระพุทธศาสนา[แก้]

การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านพระพุทธศาสนา (Buddhism National Education Testing; B-NET) เป็นการทดสอบเพื่อวัดความรู้ ขั้นสูงจาก 5 ภาคเรียน สำหรับนักเรียนที่กำลังศึกษา หรือจบการศึกษา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า ที่จะเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยของรัฐ ด้วยระบบรับตรง ระบบโควตา และระบบพิเศษ โดยมีการจัดทดสอบใน 5 วิชา และสามารถรักษาคะแนนสอบไว้ได้ เป็นระยะเวลา 2 ปีการศึกษา

การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติสำหรับการศึกษานอกระบบโรงเรียน[แก้]

การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติสำหรับการศึกษานอกระบบโรงเรียน (Non-Formal National Education Test; N-NET) เป็นการทดสอบเพื่อวัดความรู้ ให้แก่นักเรียนที่กำลังศึกษา ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ที่คาดว่าจะสำเร็จการศึกษาในภาคเรียนที่ 1 และภาคเรียนที่ 2 ของปีการศึกษา

การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านอุดมศึกษา[แก้]

การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านอุดมศึกษา (University National Educational Test; U-NET)

การทดสอบที่ยกเลิกไป[แก้]

การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นสูง[แก้]

การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นสูง (Advanced National Educational Test; A-NET) เป็นการสอบความรู้ขั้นสูง 6 ภาคเรียน ทดสอบเฉพาะนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่ประสงค์จะเข้าศึกษาสถาบันอุดมศึกษาในระบบแอดมิชชั่น จำนวนวิชาสอบ 11 วิชา ตามแต่ละคณะที่กำหนด มีช่วงเวลาสอบในเดือนตุลาคมและเดือนมีนาคมของทุกปี ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2553 ได้ยกเลิกการสอบเอเน็ตแล้วเปลี่ยนไปใช้การทดสอบความถนัดทั่วไป วิชาชีพและวิชาการ (GAT-PAT) แทน รวมมีการจัดสอบเอเน็ตทั้งหมด 4 ครั้ง

การวิพากษ์วิจารณ์[แก้]

ข้อสอบโอเน็ต ในปี พ.ศ. 2552 ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีความกำกวม เช่น การแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ระหว่างวัยเรียน และถัดมา ข้อสอบโอเน็ต ในปี พ.ศ. 2554 ถูกวิพากษ์วิจารณ์มีข้อสอบและเนื้อหาไม่เหมาะสม รวมถึงข้อสอบที่กำกวมสามารถตอบได้มากกว่าหนึ่งคำตอบ เช่น การแก้ปัญหาการเกิดอารมณ์ทางเพศ ซึ่งทางสถาบันทดสอบทางการศึกษาระดับชาติชี้แจงว่า ดำเนินการออกข้อสอบตามหลักสูตรที่กำหนด[5]

อ้างอิง[แก้]

  1. "ว่าด้วยระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของเด็กไทย (ตอนที่ 2 ตอนจบ)". ศูนย์ข่าวการศึกษาไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-09-11. สืบค้นเมื่อ 6 March 2014.
  2. "สทศ.ร้อน เด็กโวยข้อสอบ O-net เหมาะสมแล้วหรือ?!?!". Kapook. สืบค้นเมื่อ 6 March 2014.
  3. "ผิดอีกแล้ว! โพสต์ประจานข้อสอบ O-Net พิมพ์นามสกุลศิลปินแห่งชาติผิด". ผู้จัดการออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 6 March 2014.[ลิงก์เสีย]
  4. "สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน)". สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-03-27. สืบค้นเมื่อ 6 March 2014.
  5. สทศ.ออกโรง! ยันข้อสอบออกตามหลักสูตร

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]