ตราบาปลิขิตรัก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Atonement)
ตราบาปลิขิตรัก
กำกับโจ ไรท์
เขียนบทนวนิยาย:
เอียน แมคอีวาน
Screenplay:
คริสโตเฟอร์ แฮมป์ตัน
อำนวยการสร้างทิม บีแวน
อีริคเฟลเนอร์
พอล เวบสเตอร์
นักแสดงนำเจมส์ แม็กอะวอย
เคียรา ไนต์ลีย์
เซอร์ชา โรนัน
โรโมร่า การาย
วาเนสซา เรดเกรฟ
กำกับภาพซีมัส แมคการ์วี
ตัดต่อพอล ทอตฮิลล์
ดนตรีประกอบดาริโอ มาริอาเนลลี
ผู้จัดจำหน่ายยูนิเวอร์แซล
วันฉายสหราชอาณาจักร:
7 กันยายน ค.ศ. 2007
สหรัฐอเมริกา:
7 ธันวาคม ค.ศ. 2007
ไทย:
7 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2008
ความยาว118 นาที.
ประเทศอังกฤษ
ภาษาอังกฤษ
ฝรั่งเศส
ทุนสร้าง15 ล้านปอนด์ [1]
ข้อมูลจาก All Movie Guide
ข้อมูลจาก IMDb

ตราบาปลิขิตรัก เป็นชื่อภาษาไทยของภาพยนตร์เรื่อง Atonement ซึ่งสร้างจากนวนิยายของเอียน แมคอีวานในชื่อเดียวกัน กำกับโดยโจ ไรท์ เขียนบทภาพยนตร์โดยคริสโตเฟอร์ แฮมป์ตัน ถ่ายทำในปี พ.ศ. 2549 ที่ประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส นำแสดงโดยเจมส์ แมคอาวอยและเคียรา ไนต์ลีย์ จัดจำหน่ายโดยยูนิเวอร์แซล ออกฉายในประเทศอังกฤษวันที่7 กันยายน พ.ศ. 2550 (ค.ศ. 2007) และฉายในไทยวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 (ค.ศ. 2008)

ตราบาปลิขิตรัก ได้ฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิสครั้งที่ 64 ทำให้โจ ไรท์ในวัย 35ปี เป็นผู้กำกับที่มีอายุน้อยที่สุดที่มีผลงานออกฉายในงานเทศกาลนั้น

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลออสการ์ในสาขาดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในการประกาศรางวัลครั้งที่ 80 และเข้าชิงทั้งหมด 6 สาขารวมทั้ง ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม,บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม,นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (เซอร์ชา โรนัน)[2]

เนื้อเรื่องย่อ[แก้]

ภาพยนตร์เรื่องนี้แบ่งได้เป็นสี่ตอนเช่นเดียวกันกับนวนิยายต้นฉบับ บางฉากได้ใช้วิธีการเล่าซ้ำโดยแสดงให้เห็นมุมมองที่ต่างกันออกไปต่อเหตุการณ์เดียวกัน ไบรโอนี่ ทาลลิส (เซอร์ชา โรนัน) เป็นเด็กหญิงวัย 13 ปีในครอบครัวที่ร่ำรวยครอบครัวหนึ่งของอังกฤษ เป็นน้องคนเล็กในบรรดาพี่น้องสามคน และใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักเขียน เซซิเลีย(เคียรา ไนต์ลีย์)พี่สาวของเธอสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์เช่นเดียวกันกับร็อบบี เทอร์เนอร์(เจมส์ แมคอาวอย)ลูกชายแม่บ้านที่ได้รับการสนับสนุนทางการศึกษาจากพ่อของเซซิเลีย ร็อบบีซึ่งกำลังจะเข้าเรียนแพทย์ได้ใช้เวลาในช่วงฤดูร้อนทำสวนในที่ดินของตระกูลทาลลิส ไบรโอนี่ได้แสดงให้เห็นตั้งแต่แรกเริ่มว่าเธอมีความรู้สึกพิเศษต่อร็อบบี วันที่เป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์นั้น ญาติของตระกูลอันประกอบด้วยโลล่า ควินซีย์(จูโน เทมเพิล)และน้องชายฝาแฝดของเธอ(ฟีลิกซ์และชาร์ลี วอน ซิมสัน)ได้เดินทางมาเยี่ยมในขณะที่พ่อแม่ของพวกเขาเพิ่งหย่าร้างกัน ในขณะที่ลีออน(แพทริก เคนเนดี้) พี่ชายของเซซิเลียและไบรโอนี่ได้กลับบ้านพร้อมพาเพื่อนชื่อพอล มาร์แชล(เบเนดิคด์ คัมเบอร์แบทช์)เจ้าของโรงงานช็อคโกแลต บ้านทาลลิสจัดมื้ออาหารค่ำเป็นพิเศษ ลีออนได้ชักชวนร็อบบีซึ่งตอบตกลง ทำให้เซซิเลียเกิดความรำคาญเป็นอย่างยิ่ง

ไบรโอนี่เพิ่งจะเขียนบทละครเรื่อง การทดสอบของอาราเบลล่า(The Trials of Arabella)สำเร็จ เป็นบทละครที่กล่าวถึงความซับซ้อนของความรัก ไบรโอนี่ตั้งใจจะใช้ละครเรื่องนี้เล่นในช่วงอาหารค่ำโดยมีเธอเป็นผู้กำกับ แต่ลูกพี่ลูกน้องของเธอ โลล่าและฝาแฝดไม่อยากร่วมมือนัก ไบรโอนี่จึงต้องกลับไปที่ห้องอย่างหงุดหงิดและได้เห็นภาพเหตุการณ์ระหว่างเซซิเลียกับร็อบบีที่น้ำพุ โดยภาพที่เห็นคือเซซิเลียถอดเสื้อเหลือเพียงชุดชั้นในและกระโดดลงไปในน้ำพุ มีร็อบบียืนมองใกล้ๆ อันที่จริงเซซิเลียเพียงลงไปเก็บเศษแจกันที่ร็อบบีทำแตกเท่านั้นแต่ก็ทำให้ไบรโอนี่เข้าใจผิดไปแล้ว

ต่อมาเมื่อร็อบบีเขียนจดหมายขอโทษเซซิเลียและฝากไบรโอนี่นำไปส่งให้ ไบรโอนี่ก็แอบอ่านและพบว่าเป็นข้อความหยาบคายเกี่ยวกับเรื่องเพศซึ่งร็อบบีส่งผิดฉบับ ไบรโอนี่เล่าให้โลล่าฟังและกล่าวว่าร็อบบีเป็นบุคคลอันตราย

ต่อมาไบรโอนี่ได้เห็นภาพบาดตาอีกครั้งที่ห้องสมุด เมื่อเซซิเลียกับร็อบบีกำลังกอดก่ายกันอยู่ ในช่วงอาหารค่ำเมื่อฝาแฝดหายตัวไปและทุกคนแยกย้ายกันออกไปตาม ไบรโอนี่ได้เห็นโลล่าถูกใครบางคนข่มขืน โลล่าให้การว่าเธอไม่รู้ว่าใครคือคนที่ทำร้ายเธอ ไบรโอนี่จึงไม่รอช้าที่จะกล่าวหาร็อบบีโดยยืนยันว่าเธอเห็นร็อบบีจริงๆ ร็อบบีที่หาฝาดแฝดพบจึงถูกส่งไปเข้าคุกแม้เซซิเลียจะเชื่อว่าร็อบบีไม่ได้ทำก็ตาม

สี่ปีต่อมา ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ร็อบบีออกจากคุกและเข้าร่วมสงคราม ก่อนหน้านั้นเขาได้พบกับเซซิเลียครั้งหนึ่งในลอนดอนและสัญญาว่าจะกลับมาพบกันอีก ไบรโอนี่ในวัย 18 ปี(โรโมร่า การาย)ไปเป็นพยาบาลตามรอยเซซิเลียและพยายามติดต่อกับเซซิเลียแต่โดนปฏิเสธ เซซิเลียได้ออกจากการเป็นครอบครัวนับตั้งแต่ทุกคนเชื่อว่าร็อบบีกระทำความผิดจริง

เจมส์ แมคอาวอย ในฉากอพยพที่ดันเคิร์ก

ร็อบบีและเพื่อนทหารสองนายซึ่งพลัดหลงกับกองทัพเดินทางไปถึงดันเคิร์ก ประเทศฝรั่งเศส และได้พบกับกองทัพที่รอการเคลื่อนย้ายกลับอังกฤษที่นั่น ร็อบบีได้ยินว่ากองทัพจะทำการเคลื่อนย้ายในวันรุ่งขึ้น ในช่วงเวลาหลังจากนั้น ที่โรงพยาบาลในลอนดอน ไบรโอนี่ได้พบกับความพรั่นพรึงจากผู้ที่ผ่านการรบมาแล้ว

หลังจากเห็นข่าวสมเด็จพระราชินีเสด็จเยี่ยมโรงงานของพอล มาร์แชล ไบรโอนี่ได้เข้าร่วมงานแต่งงานของพอลและโลล่า ณ ที่นั้นเธอตระหนักได้ว่า ในค่ำคืนที่เธอเป็นพยานการข่มขืน ชายที่อยู่ที่นั่นคือพอล ไม่ใช่ร็อบบี ในวันนั้นไบรโอนี่ไปหาเซซิเลียและกล่าวขอโทษ เซซิเลียอาศัยอยู่กับร็อบบี ทั้งสองชี้แนะว่าไบรโอนี่จะต้องสารภาพความจริงทั้งหมดให้ทุกคนได้รับรู้

ในปีค.ศ. 1999 ไบรโอนี่ในวัยชรา(วาเนสซา เรดเกรฟ)ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับนวนิยายเรื่องสุดท้ายของเธอ ไบรโอนี่เปิดเผยว่าเธอเป็นโรค Vascular dementia ทำให้ความจำของเธอจะเสื่อมลงในไม่ช้า นอกจากนี้เธอยังเปิดเผยอีกว่าตอนจบของนิยายกับชีวิตจริงไม่เหมือนกัน ในความจริงเธอไม่ได้ไปหาเซซิเลีย เซซิเลียกับร็อบบีเองก็ไม่ได้พบกันหรือใช้ชีวิตร่วมกัน เพราะร็อบบีได้เสียชีวิตที่ดันเคิร์ก ส่วนเซซิเลียจมน้ำจากเหตุการณ์ท่อระเบิดที่สถานีรถไฟใต้ดิน เสียชีวิตเช่นกัน ไบรโอนี่กล่าวว่านวนิยายเรื่องนี้คือการไถ่บาป(Atonement)ของเธอ

ฉากสุดท้ายของภาพยนตร์เรื่องนี้คือร็อบบีและเซซิเลียยิ้มอย่างร่าเริงที่ชายหาด ใกล้ๆมีบ้านสีฟ้าที่ทั้งสองคนคาดหวังว่าจะได้อยู่ร่วมกัน ทั้งสองดูมีความสุขมากซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่เคยมีช่วงเวลาเช่นนั้น


ตัวละครหลัก[แก้]

  • เคียรา ไนต์ลีย์ รับบทเป็น เซซิเลีย ทาลลิส ลูกคนกลางของตระกูลทาลลิส ในตอนแรกจะได้รับบทเป็นไบรโอนี่วัย 18 ปีแต่โจ ไรท์ซึ่งเป็นผู้กำกับได้เห็นว่าเธอเหมาะกับบทเซซิเลียมากกว่า ไนต์ลีย์เคยร่วมงานกับไรท์มาแล้วในภาพยนตร์เรื่อง Pride & Prejudice (ค.ศ. 2005) ไนต์ลีย์ต้องฝึกพูดภาษาอังกฤษสำเนียงยุค ค.ศ. 1940 เพื่อรับบทนี้
  • เจมส์ แมคอาวอย รับบทเป็น ร็อบบี เทอร์เนอร์ ลูกชายแม่บ้านของตระกูลทาลลิส หลังจากปฏิเสธงานก่อนหน้านี้ ไรท์ได้เลือกแมคอาวอยเป็นร็อบบี แม้ว่าโปรดิวเซอร์จะเลือกนักแสดงไว้หลายคนเช่นเจค จิลเลนฮอล แมคอาวอยกล่าวว่าร็อบบีเป็นบทที่เล่นยากที่สุดบทหนึ่งเลยทีเดียว
  • เซอร์ชา โรนัน รับบทเป็น ไบรโอนี่ ทาลลิส ในวัย 13 ปี เด็กหญิงผู้ทะเยอะทะยานอยากเป็นนักเขียนและมีจินตนาการสูงส่ง เอียน แมคอีวานกล่าวชมการแสดงของเธอว่าไม่ธรรมดา โรนันได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ในสาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมจากบทนี้
  • โรโมร่า การาย รับบทเป็น ไบรโอนี่ ทาลลิส ในวัย 18 ปี ในตอนแรกผู้ที่จะได้รับบทนี้คือแอบบี คอร์นิชซึ่งปฏิเสธเพราะต้องถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง Elizabeth: The Golden Age โรโมร่าใช้เวลาอยู่ในกองถ่ายเพียง 4 วันเท่านั้น
  • วาเนสซา เรดเกรฟ รับบทเป็น ไบรโอนี่ ทาลลิส ในวัย 77 ปี เรดเกรฟได้รับการเลือกเป็นไบรโอนี่วัยชราหลังจากที่โรนันได้รับการเลือกเป็นไบรโอนี่ในวัยเด็ก ทั้งโรนัน การาย และเรดเกรฟ ต้องทำผมทรงเดียวกันและแสดงความเป็นไบรโอนี่ออกมาคล้ายคลึงกันให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
  • แฮเรียต วอลเทอร์ รับบทเป็น เอมิลี่ ทาลลิส แม่และหัวหน้าครอบครัวของตระกูลทาลลิส
  • แพทริค เคนเนดี้ รับบทเป็น ลีออน ทาลลิส พี่ชายคนโตในบรรดาพี่น้องสามคนของตระกูลทาลลิส
  • เบรนดา เบลทติน รับบทเป็น เกรซ เทอร์เนอร์ แม่บ้านของตระกูลทาลลิส แม่ของร็อบบี
  • จูโน เทมเพิล รับบทเป็น โลล่า ควินซีย์ ลูกพี่ลูกน้องของไบรโอนี่ที่มาเยี่ยมบ้าน
  • ฟีลิกซ์และชาร์ลี วอน ซิมสัน รับบทเป็น น้องชายฝาแฝดของโลล่า
  • เบเนดิกด์ คัมเบอร์แบตช์ รับบทเป็นพอล มาร์แชล เพื่อนของลีออน เจ้าของโรงงานช็อกโกแลต

งานสร้างภาพยนตร์[แก้]

สถานที่ถ่ายทำ[แก้]

เซเว่นซิสเตอร์ ซัสเซกส์ สถานที่ถ่ายทำฉากบ้านพักตากอากาศ

สถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องตราบาปลิขิตรักส่วนมากอยู่ในประเทศอังกฤษ เช่นฉากอพยพทหารที่ดันเคิร์กถ่ายทำที่เรดคาร์เมืองตากอากาศริมทะเล, สเตรทแฮม, ทางตอนใต้ของลอนดอน ใช้ถ่ายทำฉากอพาร์ทเมนต์ของเซซิเลียหลังจากที่เธอตัดขาดจากครอบครัวแล้ว ในส่วนของคฤหาสน์ตระกูลทาลลิสถ่ายทำที่คฤหาสน์สโตรคเซย์ เขตชรอพเชียร์ ซึ่งเป็นบ้าพักส่วนบุคคลที่สร้างตั้งแต่ปี ค.ศ. 1889 เป็นคฤหาสน์สไตล์วิคตอเรียน[3]

สถานที่ถ่ายทำในลอนดอนมีทั้งถนนไวท์ฮอลล์ในเวสท์มินสเตอร์และเบธนอลกรีนทาวเวอร์ฮอลล์ซึ่งใช้เป็นฉากร้านน้ำชาในปี ค.ศ. 1939 นอกจากนี้ยังมีโบสถ์เซนต์จอห์นสมิธแสควร์ในเวสท์มินสเตอร์ที่ใช้เป็นฉากงานแต่งงานของโล่ล่ากับพอล มาร์แชล ในบางส่วนของฉากโรงพยาบาลเซนต์โธมัสถ่ายทำที่ พาร์คพาเลซ เบิร์กเชียร์ และเมืองเฮนเลย์ออนเทมส์ทางตอนใต้ของออกฟอร์ดเชียร์ ส่วนภายนอกโรงพยาบาลนั้นถ่ายทำที่มหาวิทยาลัยแห่งลอนดอน(University College London) บ้านพักตากอากาศในรูปถ่ายและในฉากสุดท้ายของภาพยนตร์ถ่ายทำที่เซเว่นซิสเตอร์ ซัสเซกส์ ทางตอนใต้ของประเทศอังกฤษ

การตอบรับจากสังคม[แก้]

รางวัล[แก้]

รางวัลที่ได้รับ[แก้]

  • รางวัลออสการ์ ครั้งที่ 80: ดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (ดาริโอ มาริอาเนลลี)[2]
  • รางวัลภาพยนตร์แห่งอังกฤษ ครั้งที่ 61[4]:
    • ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
    • ออกแบบงานสร้างยอดเยี่ยม
  • รางวัลมะเขือเทศทองคำ: ภาพยนตร์รักโรแมนติคยอดเยี่ยม[5]
  • รางวัลสมาคมวิจารณ์ภาพยนตร์ฮูสตัน[6]:
    • ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมหนึ่งในสิบอันดับ
    • ดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (ดาริโอ มาริอาเนลลี)
  • รางวัลลูกโลกทองคำ ครั้งที่ 65[7]:
    • ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ประเภทภาพยนตร์ดรามา
    • ดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (ดาริโอ มาริอาเนลลี)
  • รางวัลสมาคมวิจารณ์ดนตรีประกอบภาพยตร์นานาชาติ[8]:
    • ดนตรีประกอบภาพยนตร์แห่งปี (ดาริโอ มาริอาเนลลี)
    • ดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ประเภทดรามา
    • เรียบเรียงดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี
  • รางวัลภาพยนตร์และโทรทัศน์ไอริช:
    • นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (เซอร์ชา โรนัน)
    • กำกับภาพยอดเยี่ยม (ซีมัส แมคการ์วี)
  • รางวัลสมาคมวิจารณ์ภาพยนตร์ลาสเวกัส[9]: นักแสดงรุ่นเยาว์หญิงยอดเยี่ยม (เซอร์ชา โรนัน)
  • รางวัลกลุ่มผู้วิจารณ์ภาพยนตร์แห่งลอนดอน[10]:
  • รางวัลนิลส์สันสาขาภาพยนตร์[11]:
    • ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
    • ดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (ดาริโอ มาริอาเนลลี)
    • ประดับฉากยอดเยี่ยม
    • ศิลปินรุ่นเยาว์ (เซอร์ชา โรนัน)
  • รางวัลสมาคมวิจารณ์ภาพยนตร์ฟีนิกส์[12]:
    • ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมหนึ่งในสิบอันดับ
    • กำกับภาพยอดเยี่ยม (ซีมัส แมคการ์วี)
    • ดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (ดาริโอ มาริอาเนลลี)
    • นักแสดงรุ่นเยาว์ในบทนำหรือสมทบยอดเยี่ยม (เซอร์ชา โรนัน)
  • รางวัลสมาคมวิจารณ์ภาพยนตร์ซานดิเอโก[13]:
    • ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมหนึ่งในเจ็ดอันดับ
    • ตัดต่อยอดเยี่ยม (พอล ทอตฮิลล์)
  • รางวัลแซทเทิลไลท์ ครั้งที่ 12[14]: บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม (คริสโตเฟอร์ แฮมป์ตัน)

รางวัลที่เสนอชื่อเข้าชิง[แก้]

  • รางวัลออสการ์ ครั้งที่ 80:
    • ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
    • นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (เซอร์ชา โรนัน)
    • บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม (คริสโตเฟอร์ แฮมป์ตัน)
    • กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม (ซาราห์ กรีนวูด,เคที สเปนเซอร์)
    • กำกับภาพยอดเยี่ยม (ซีมัส แมคการ์วี)
    • ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม (แจคเคอลีน เดอร์แรน)
  • รางวัลสมาคมผู้กำกับศิลป์ ครั้งที่12: ออกแบบงานสร้างยอดเยี่ยมในภาพยนตร์เรื่องยาว (ซาราห์ กรีนวูด)
  • รางวัลสมาคมช่างกล้องภาพยนตร์แห่งอเมริกา ครั้งที่22: กำกับภาพยอดเยี่ยม สาขาภาพยนตร์ (ซีมัส แมคการ์วี)
  • รางวัลภาพยนตร์แห่งอังกฤษ ครั้งที่ 61:
    • ภาพยนตร์อังกฤษยอดเยี่ยม
    • ผู้กำกับยอดเยี่ยม (โจ ไรท์)
    • บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม (คริสโตเฟอร์ แฮมป์ตัน)
    • นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (เจมส์ แมคอาวอย)
    • นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (เคียรา ไนต์ลีย์)
    • นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (เซอร์ชา โรนัน)
    • ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม (ดาริโอ มาริอาเนลลี)
    • กำกับภาพยอดเยี่ยม (ซีมัส แมคการ์วี)
    • ตัดต่อยอดเยี่ยม (พอล ทอตฮิลล์)
    • ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม (แจคเคอลีน เดอร์แรน)
    • เสียงประกอบยอดเยี่ยม (แอดนนี แฮมบรูค,พอล ฮัมบลิน,แคทเทอรีน ฮอดจ์สัน)
    • แต่งหน้ายอดเยี่ยม (อิวานา พรีโมแรค)
  • รางวัลสมาคมวิจารณ์ภาพยนตร์กระจายเสียง (BFCA):
    • ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
    • ผู้กำกับยอดเยี่ยม (โจ ไรท์)
    • นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (วาเนสซา เรดเกรฟ)
    • นักประพันธ์ดนตรียอดเยี่ยม (ดาริโอ มาริอาเนลลี)
    • นักแสดงรุ่นเยาว์หญิงยอดเยี่ยม (เซอร์ชา โรนัน)
  • รางวัลสมาคมวิจารณ์ภาพยนตร์ชิคาโก:
    • บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม (คริสโตเฟอร์ แฮมป์ตัน)
    • กำกับภาพยอดเยี่ยม (ซีมัส แมคการ์วี)
    • ดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (ดาริโอ มาริอาเนลลี)
  • รางวัลสมาคมนักออกแบบเสื้อผ้า ครั้งที่10: ออกแบบเครื่องแต่งกายสำหรับภาพยนตร์ย้อนยุคยอดเยี่ยม (แจคเคอลีน เดอร์แรน)
  • รางวัลสมาคมวิจารณ์ภาพยนตร์ดัลลัส-ฟอร์ท วอร์ธ (DFWFCA): นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (เซอร์ชา โรนัน)
  • รางวัลลูกโลกทองคำ ครั้งที่ 65:
    • ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (โจ ไรท์)
    • นักแสดงนำชายยอดเยี่ยมสาขาภาพยนตร์ดรามา (เจมส์ แมคอาวอย)
    • นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมสาขาภาพยนตร์ดรามา (เคียรา ไนต์ลีย์)
    • นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมสาขาภาพยนตร์ดรามา (เซอร์ชา โรนัน)
    • บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (คริสโตเฟอร์ แฮมป์ตัน)
  • รางวัลสมาคมวิจารณ์ดนตรีประกอบภาพยตร์นานาชาติ: นักประพันธ์ดนตรีแห่งปี (ดาริโอ มาริอาเนลลี)
  • รางวัลภาพยนตร์และโทรทัศน์ไอริช:
    • ภาพยนตร์นานาชาติยอดเยี่ยม
    • นักแสดงนำชายนานาชาติยอดเยี่ยม (เจมส์ แมคอาวอย)
    • นักแสดงนำหญิงนานาชาติยอดเยี่ยม (เคียรา ไนต์ลีย์)
  • รางวัลกลุ่มผู้วิจารณ์ภาพยนตร์แห่งลอนดอน:
    • รางวัลแอทเทนเบอโรห์สำหรับภาพยนตร์อังกฤษแห่งปี
    • ผู้กำกับแห่งปี (โจ ไรท์)
    • นักแสดงนำหญิงอังกฤษแห่งปี (เคียรา ไนต์ลีย์)
    • นักแสดงสมทบหญิงอังกฤษยอดเยี่ยม (เซอร์ชา โรนัน)
    • นักเขียนบทภาพยนตร์แห่งปี (คริสโตเฟอร์ แฮมป์ตัน)
    • พัฒนาการแสดงยอดเยี่ยมแห่งอังกฤษ (เซอร์ชา โรนัน)
  • รางวัลม้วนฟิล์มทองคำของผู้ตัดต่อเสียงภาพยนตร์ ครั้งที่ 55: กำกับเสียงยอดเยี่ยม (เบคกี พอนทิงก์,ปีเตอร์ เบอร์จิส)
  • สมาคมวิจารณ์ภาพยนตร์ออนไลน์:
    • ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
    • นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (เซอร์ชา โรนัน)
    • บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม (คริสโตเฟอร์ แฮมป์ตัน)
    • กำกับภาพยอดเยี่ยม (ซีมัส แมคการ์วี)
    • ตัดต่อยอดเยี่ยม (พอล ทอตฮิลล์)
    • ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม (ดาริโอ มาริอาเนลลี)
  • รางวัลแซทเทิลไลท์:
    • นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม สาขาภาพยนตร์ดรามา (เคียรา ไนต์ลีย์)
    • นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม สาขาภาพยนตร์ดรามา (เซอร์ชา โรนัน)
    • ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม (แจคเคอลีน เดอร์แรน)
    • ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม (ดาริโอ มาริอาเนลลี)
  • รางวัลสมาคมวิจารณ์ภาพยนตร์เซนต์หลุยส์เกทเวย์:
    • ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
    • นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (เซอร์ชา โรนัน)
    • รองอันดับหนึ่ง กำกับภาพยอดเยี่ยม (ซีมัส แมคการ์วี)
    • บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (คริสโตเฟอร์ แฮมป์ตัน)
    • ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม (ดาริโอ มาริอาเนลลี)
  • รางวัลสมาคมวิจารณ์ภาพยนตร์ตะวันออกเฉียงใต้:
    • ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (โจ ไรท์)
    • บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม (คริสโตเฟอร์ แฮมป์ตัน)
  • รางวัลห้องสมุดยูเอสซี(USC): บทภาพยนตร์ดัดแปลงจากหนังสือยอดเยี่ยม (คริสโตเฟอร์ แฮมป์ตัน:บทภาพยนตร์,เอียน แมคอีวาน:หนังสือต้นฉบับ)
  • รางวัลสมาคมวิจารณ์ภาพยนตร์วอชิงตัน ดี.ซี.:
    • ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
    • ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (โจ ไรท์)
    • นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (เซอร์ชา โรนัน)
    • บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม (คริสโตเฟอร์ แฮมป์ตัน)
    • กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม (ซาราห์ กรีนวูด)
    • พัฒนาการแสดงยอดเยี่ยม (เซอร์ชา โรนัน)
  • รางวัลไอวอร์ โนเวลโล: ดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (ดาริโอ มาริอาเนลลี)
  • รางวัลภาพยนตร์และโทรทัศน์ลียง:
    • ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
    • ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (โจ ไรท์)
    • บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม (คริสโตเฟอร์ แฮมป์ตัน)
    • กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม (ซาราห์ กรีนวูด,เคที สเปนเซอร์)

ดนตรีประกอบ[แก้]

ดนตรีประกอบของภาพยนตร์เรื่องตราบาปลิขิตรัก ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงและได้รับรางวัลมากมาย ซึ่งอัลบัมดนตรีประกอบนี้ประพันธ์โดยดาริโอ มาริอาเนลลี และเล่นโดย ชอง-อีฟ ติโบเดต์นักเปียโนคลาสสิกชาวฝรั่งเศส ซึ่งเป็นการร่วมมือกับโจ ไรท์เป็นครั้งที่สองหลังจากภาพยนตร์เรื่อง Pride & Prejudice

รายชื่อเพลง[แก้]

  1. ไบรโอนี่ (Briony) - 1:46
  2. ข้อความของร็อบบี (Robbie's Note) - 3:07
  3. สองคนที่น้ำพุ (Two Figures By a Fountain) - 1:17
  4. ซี เธอ และชา (Cee, You and Tea) - 2:27
  5. ด้วยสองตาของฉันเอง(With My Own Eyes) - 4:41
  6. อำลา (Farewell) - 3:32
  7. จดหมายรัก (Love Letters) - 3:12
  8. ครึ่งหนึ่งถูกสังหาร (The Half Killed) - 2:11
  9. ช่วยฉันด้วย (Rescue Me) - 3:21
  10. บทอาลัยแด่ดันเคิร์ก (Elegy for Dunkirk) - 4:16
  11. กลับมา (Come Back) - 4:28
  12. จุดจบ (Denouement) - 2:29
  13. บ้านพักริมหาด (The Cottage on the Beach) 3:25
  14. การไถ่บาป (Atonement) - 5:24
  15. Suite bergamasque: Clair de lune (โคล้ด เดอบุซซี) - 4:52

สื่อภายในที่พักอาศัย[แก้]

ตราบาปลิขิตรักในรูปแบบดีวีดีโซน 2 ออกวางจำหน่ายวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2008 และแบบHD DVDในวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 2008 ส่วนดีวีดีโซน 1 วางจำหน่ายวันที่ 18 มีนาคม ค.ศ. 2008[15] ในประเทศไทยวางจำหน่ายทั้งในรูปแบบวีซีดีและดีวีดีในวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 2008[16] ภายในดีวีดีประกอบด้วยภาพยนตร์, คำอธิบายภาพยนตร์โดยผู้กำกับ โจ ไรท์, เบื้องหลังการถ่ายทำ, จากนวนิยายสู่ภาพยนตร์, ฉากที่ถูกตัดออกพร้อมคำอธิบายโดยผู้กำกับ โจ ไรท์ และตัวอย่างภาพยนตร์เรื่องอลิซาเบธ ราชินีบัลลังก์ทอง

อ้างอิง[แก้]

  1. "Keira Knightly shines in Atonement". The Age.
  2. 2.0 2.1 "Academy Award nominations for Atonement". Academy Awards.
  3. Atonement FilmInFocus Production Notes[ลิงก์เสีย]
  4. "รางวัล BAFTA ประจำปี ค.ศ. 2007". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-08. สืบค้นเมื่อ 2008-08-13.
  5. รางวัลมะเขือเทศทองคำ สาขาภาพยนตร์รักโรแมนติคยอดเยี่ยม
  6. รางวัลสมาคมวิจารณ์ภาพยนตร์ฮูสตันประจำปี ค.ศ. 2007
  7. "รางวัลลูกโลกทองคำครั้งที่ 65". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-24. สืบค้นเมื่อ 2012-05-24.
  8. รางวัลสมาคมวิจารณ์ดนตรีประกอบภาพยตร์นานาชาติประจำปี ค.ศ. 2007
  9. "รางวัลสมาคมวิจารณ์ภาพยนตร์ลาสเวกัสประจำปี ค.ศ. 2007". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-09-21. สืบค้นเมื่อ 2008-09-02.
  10. รางวัลกลุ่มผู้วิจารณ์ภาพยนตร์แห่งลอนดอนประจำปี ค.ศ. 2007
  11. 6th Annual Nilsson Award Nominees for the Most Outstanding Filmmaking of 2007
  12. "รางวัลสมาคมวิจารณ์ภาพยนตร์ฟีนิกส์ประจำปี ค.ศ. 2007". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-11. สืบค้นเมื่อ 2008-09-02.
  13. "รางวัลสมาคมวิจารณ์ภาพยนตร์ซานดิเอโกประจำปี ค.ศ. 2007". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-02-26. สืบค้นเมื่อ 2008-09-02.
  14. "รางวัลแซทเทิลไลท์ครั้งที่ 12". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-01-22. สืบค้นเมื่อ 2008-09-02.
  15. Atonement [WS DVD
  16. http://www.japclub.com/dvd_box/catalyts/2008_jun/atonement.htm

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]