หมีขอ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Arctictis)
หมีขอ
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Carnivora
วงศ์: Viverridae
วงศ์ย่อย: Paradoxurinae
สกุล: Arctictis
Temminck, 1824
สปีชีส์: A.  binturong
ชื่อทวินาม
Arctictis binturong
(Raffles, 1821)
ชนิดย่อย
  • A. b. albifrons (Cuvier, 1822)
  • A. b. binturong (Raffles, 1821)
  • A. b. kerkhoveni Sody, 1936
  • A. b. menglaensis Wang & Li, 1987
  • A. b. penicillatus Temminck, 1835
  • A. b. whitei Allen, 1910
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์
มีการนำหมีขอมาจัดแสดง

หมีขอ หรือ หมีกระรอก (ชื่อวิทยาศาสตร์: Arctictis binturong; อีสาน: เหง็นหางขอ, เหง็นหมี) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม แม้จะมีหน้าตาคล้ายหมีจนได้ชื่อว่าหมี แต่เป็นสัตว์จำพวกชะมดและอีเห็น (Viverridae) ที่ใหญ่ที่สุด จัดเป็นสัตว์เพียงชนิดเดียวในสกุล Arctictis

หมีขอมีขนสีดำตามลำตัวซึ่งค่อนข้างยาวและหยาบ สีขนบริเวณหัวอาจมีสีเทา มีใบหูกลม บริเวณขอบหูมีสีขาว หมีขอมีหางยาวเป็นพวงคล้ายกระรอก ซึ่งสามารถม้วนงอได้และสามารถใช้เกาะเกี่ยวต้นไม้ได้เป็นอย่างดี หมีขอมีความยาวลำตัวและหัว 61-96 เซนติเมตร ความยาวหาง 50-84 เซนติเมตร น้ำหนัก 10–20 กิโลกรัม

หมีขอมีต่อมสร้างสารกลิ่นฉุนอยู่ข้างทวารหนัก ตัวผู้จะอยู่เหนืออัณฑะขึ้นมา ส่วนตัวเมียมีต่อมข้างช่องคลอด ซึ่งจะผลิตฟีโรโมนออกมาควบคู่กัน ระดับแอมโมเนียที่สร้างขึ้นมามีความเข้มข้นเพียงพอจะทำให้กลิ่นนั้นแปรสภาพเป็นกลิ่นคล้ายเนยหอมที่ผสมในป็อปคอร์น

หมีขอมีการกระจายพันธุ์อย่างกว้างขวางตั้งแต่ภูฏาน, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย, ภาคตะวันตกของพม่า, ไทย, ลาว, กัมพูชา, พรมแดนระหว่างเวียดนามติดกับลาวและกัมพูชา, มาเลเซีย, เกาะสุมาตรา, เกาะบอร์เนียวในอินโดนีเซีย และเกาะปาลาวันในฟิลิปปินส์

หมีขอเป็นสัตว์หากินในเวลากลางคืน อาศัยและหากินตามลำพัง แต่ในบางครั้งอาจอยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ประกอบไปด้วย แม่และลูก ในเวลากลางวันจะอาศัยโพรงไม้เป็นที่หลับนอน อาหารได้แก่ ผลไม้และสัตว์ที่มีขนาดเล็กชนิดต่าง ๆ บนต้นไม้ทั้งแมลงและสัตว์เลื้อยคลาน ปีนต้นไม้ได้เก่งมาก โดยใช้หางที่ยาวเกาะเกี่ยวกิ่งไม้จากต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่ง นอกจากนี้ยังสามารถว่ายน้ำได้อีกด้วย มีการผสมพันธุ์กันได้ตลอดทั้งปี ใช้เวลาตั้งท้องนาน 92 วัน ออกลูกครั้งละ 1–3 ตัว หมีขอตัวเมียจะมีเต้านมทั้งหมด 2 คู่ ลูกที่เกิดใหม่จะยังไม่สามารถใช้หางเกี่ยวกิ่งไม้ได้เหมือนตัวพ่อแม่ [2]

หมีขอเป็นสัตว์ที่เลี้ยงตั้งแต่เล็กแล้วจะเชื่องจนสามารถนำมาฝึกให้แสดงโชว์ต่าง ๆ ได้ตามสวนสัตว์ สถานะปัจจุบันเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535

ศัพทมูลวิทยา[แก้]

คำว่า "หมีขอ" มาจากการที่มีรูปร่างลักษณะคล้ายกับหมี ประกอบกับมีพฤติกรรมเมื่อพบปะมนุษย์ แม้แต่จะเป็นหมีขอที่เป็นสัตว์ป่าแท้ ๆ ก็มักจะไม่เกรงกลัว แต่กลับจะมีพฤติกรรมอยากรู้ อยากเห็น และจะยื่นตีนหน้าไปเหมือนแบมือขอของสุนัขที่ฝึกมาแล้ว เมื่อมีใครยื่นอะไรสักอย่างให้ เช่น เงิน ก็จะคว้าแล้ววิ่งหายไปในพงไม้

และชื่อ "หมีกระรอก" นั้นก็มาจากขนหางที่เป็นพวงฟูเหมือนกระรอก[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. Widmann, P., De Leon, J. and Duckworth, J. W. (2008). "Arctictis binturong". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2013.1.{{cite web}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  2. หน้า 87-88 สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ในประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน. 256 หน้า โดย กองทุนสัตว์ป่าโลก สำนักงานประเทศไทย (กรุงเทพมหานคร, 2543) ISBN 974-87081-5-2
  3. หน้า 124, สัตว์สวยป่างาม โดยชมรมนิเวศวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล (สิงหาคม, 2518)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]