ข้ามไปเนื้อหา

5.56×45 มม. นาโต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก 5.56x45 มม. นาโต)
จากซ้ายไปขวา : 5.56×45 mm. NATO (SS109) , .30-30 Winchester , 7.62×51 mm. NATO (หมายเหตุ กระสุน 5.56 มม. แบบ SS109 ของบริษัท FN จะไม่แต้มสีเขียวที่หัวกระสุนเหมือนกระสุน M855 ของสหรัฐฯ)

กระสุนขนาด 5.56×45 มม. นาโต้ หรือ 5.56 นาโต้ เป็นกระสุนปืนเล็กยาวชนวนกลางที่ปรับปรุงจากกระสุนขนาด .223 เรมิงตัน โดยบริษัท เอฟ เอ็น (Fabrique Nationale; FN) ประเทศเบลเยียม และเข้าประจำการทั้งในกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือหรือนาโต้ (NATO) ตลอดจนประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกองค์การดังกล่าว เนื่องจากเป็นกระสุน 5.56 มม. นาโต้มีความลงตัวทั้งอำนาจสังหารและอำนาจหยุดยั้งที่ไว้ใจได้ จึงมีปืนเล็กยาวจู่โจมอีกหลายรุ่นที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้งานกับกระสุน 5.56 มม. ดังกล่าวนี้

ประวัติ

[แก้]
ปืน M1903 Springfield

นับแต่ประเทศสหรัฐอเมริกาประกาศเอกราชจากประเทศอังกฤษได้สำเร็จ กองทัพสหรัฐฯได้ประจำการปืนเล็กยาวแบบคาบศิลาเป็นจำนวนมากจนเมื่อล่วงเข้าสู่ยุคของกระสุนแบบปลอกโลหะและดินควันน้อย กองทัพสหรัฐฯจึงได้ทยอยเปลี่ยนจากปืนคาบศิลามาเป็นปืนเล็กยาวที่ใช้กระสุนแบบครบนัดทั้งหมด โดยได้เลือกประจำการปืนเล็กยาวขนาด .30 นิ้วมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1892 ปืนเล็กยาวรุ่นแรกที่ประจำการ คือ ปืน Krag-Jørgensen ขนาด .30-40 Kragของประเทศนอร์เวย์ แต่เนื่องจากปืนรุ่นนี้มีปัญหาหลายประการ ในภายหลังกองทัพสหรัฐฯจึงได้ซื้อสิทธิบัตรปืนเล็กยาว Gewehr 98 จากบริษัทเมาเซอร์ ประเทศเยอรมนี พร้อมทั้งนำระบบดึงขึ้นเข็มแทงชนวนของปืน Krag มาติดตั้งเพิ่มเข้าไปและผลิตเป็นปืน M1903 Springfield และได้นำกระสุนขนาด 8 มม. เมาเซอร์ (7.92×57 มม.) มาทำการดัดแปลงให้ใช้กับหัวกระสุนขนาด .30 นิ้วเดิมของปืน Krag ต่อไป พร้อมทั้งยืดปลอกออกเป็น 63 มิลลิเมตรทำให้บรรจุดินส่งได้มากขึ้นและเรียกว่ากระสุนใหม่นี้ว่า .30-06 Springfield (7.62×63 มม.)

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพฯสหรัฐฯได้เริ่มทยอยโอนปืน M1903 Springfield ไปให้กองกำลังท้องถิ่นและบางส่วนได้นำมาดัดแปลงเป็นปืนเล็กยาวซุ่มยิง M1903A4 ใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงสงครามเกาหลี ในขณะเดียวกันก็ได้ทยอยบรรจุปืนเล็กยาวบรรจุเอง M1 Garand เข้าประจำการ โดยปืน M1 Garand ออกแบบโดยจอห์น ซี กาแรนด์ ซึ่งในช่วงแรกออกแบบให้ใช้กับกระสุนขนาด 7×51 มิลลิเมตร (.276 Pedersen) และสามารถบรรจุในคลิปกระสุนได้ 10 นัด แต่เมื่อกองทัพสหรัฐฯรับมาพิจารณาใน ค.ศ.1932 ก็มีคำสั่งให้เปลี่ยนมาใช้กระสุน .30-06 ทำให้ปืนบรรจุกระสุนได้เพียง 8 นัด และรับเข้าประจำการเมื่อวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 1936 ให้ชื่อเป็นทางการว่า United States Rifle, Caliber .30, M1 และใช้งานมาจนถึงสงครามเกาหลี โดยในระหว่างที่ปืน M1 Garand ประจำการนี้ กองทัพสหรัฐฯก็ได้มีโครงการ T20 ทำการดัดแปลงปืน M1 Garand ให้บรรจุกระสุนได้มากขึ้นโดยใช้ซองกระสุน 20 นัดของปืนเล็กกล M1918 Browning Automatic Rifle (BAR) และทำการเพิ่มระบบยิงแบบอัตโนมัติเข้าไปกลายเป็นโครงการ T37

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ได้มีการวิจัยดินขับแบบใหม่ขึ้นจนสำเร็จจนสามารถใช้ในปริมาณน้อยลงแต่ให้แรงขับเท่าเดิม กองทัพสหรัฐฯจึงได้นำกระสุน .30-06 มาทำการลดความยาวปลอกจาก 63 มิลลิเมตรลงเป็น 51 มิลลิเมตร เพื่อนำไปใช้กับปืนในโครงการ T37 กลายเป็นโครงการ T44 แล้วในที่สุดก็ประจำการเป็นปืน M14 และ M15 ในปี ค.ศ. 1957 ส่วนกระสุน 7.62 มิลลิเมตรของปืน M14 ก็กลายเป็นกระสุน '''7.62×51 มม. นาโต้''' ซึ่งเป็นกระสุนมาตรฐานของปืนกลและปืนเล็กยาวหลายรุ่นในปัจจุบัน นอกจากนี้บริษัทวินเชสเตอร์ยังได้นำกระสุน 7.62 มม. นาโต้นี้ไปผลิตขายให้พลเรือนในชื่อว่า .308 Winchester อีกด้วย

แต่แล้วปืน M14 ก็มีอายุการใช้งานได้ไม่นาน เนื่องจากมีปัญหาเรื่องตัวปืนและกระสุนมีน้ำหนักมากทำให้ทหารพกพาไปได้น้อย อีกทั้งมีปัญหาเรื่องแรงสะท้อนถอยหลังสูง โดยเฉพาะเมื่อแบบอัตโนมัติจะไม่สามารถควบคุมปืนได้เลย ทำให้โครงการวิจัยปืนเล็กยาวที่ใช้กระสุนขนาดหน้าตัดเล็กแต่มีความเร็วสูงมีความชัดเจนขึ้นมาแทน ซึ่งโครงการนี้มีชื่อว่า Project SALVO ตั้งขึ้นมาแต่ ค.ศ. 1948 โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างอาวุธประจำกายทหารราบที่ใช้กระสุนขนาด .22 ความเร็วสูง มีระยะหวังผล 300 เมตรขึ้นไป ภายหลังจึงได้มีข้อกำหนดเพิ่มเติมว่าต้องมีน้ำหนักเบา เลือกยิงได้ทั้งแบบทีละนัดและยิงเป็นชุด และต้องยิงเจาะหมวกเหล็กได้ในระยะ 500 เมตร

ใน ค.ศ. 1957 บริษัท Armalite ซึ่งเป็นแผนกอาวุธปืนของบริษัทแฟร์ไชล์ด แอร์คราฟต์ คอร์ป (Fairchild Aircraft Corp.) ได้เข้าร่วมโครงการนี้ โดยยูจีน สโตนเนอร์ได้นำแบบปืน AR-10 ขนาด 7.62 มิลลิเมตรมาย่อส่วนเป็นปืน AR-15 เพื่อใช้กับกระสุน .222 เรมิงตัน ซึ่งพัฒนาโดยบริษัทเรมิงตัน อาร์มส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ได้รับมอบหมายจากกองทัพสหรัฐฯให้ออกแบบและวิจัยกระสุนชนิดใหม่ที่จะนำมาใช้กับปืนเล็กยาวเอ็ม 16 โดยทางบริษัทได้นำกระสุน .222 เรมิงตัน ซึ่งเป็นกระสุนปืนเล็กยาวชนวนกลางที่นิยมใช้ในการล่าสัตว์ขนาดเล็กและขนาดกลางของทางบริษัทมาเป็นต้นแบบในการวิจัย ด้วยการยืดปลอกเพื่อเพิ่มปริมาณดินขับกระสุนและในขณะเดียวกันก็เป็นลดแรงดันในรังเพลิงโดยรวมลง โดยเรียกกระสุนใหม่นี้ว่า .222 เรมิงตัน แมกนั่ม ซึ่งเป็นกระสุนที่มีความเร็วต้นสูงขึ้นจากเดิม 3,095 ฟุต/วินาที เพิ่มเป็น 3,250 ฟุต/วินาที และมีแรงดันในรังเพลิงประมาณ 56,000 ปอนด์/ตารางนิ้ว (PSI) โดยทางบริษัทเรมิงตันได้เรียกชื่อกระสุนใหม่นี้ในทางพาณิชย์ว่า .223 เรมิงตัน ส่วนในทางทหารจะเรียกกระสุนนี้ว่า 5.56×45 มม. หรือ 5.56 มม.

ในระยะแรกเข้าประจำการ ทางกองทัพสหรัฐฯยังคงกำหนดให้ใช้คุณสมบัติเดิมของกระสุน 5.56 มม.กับปืนเอ็ม 16 ตามที่บริษัทเรมิงตันออกแบบ โดยมีรหัสที่ใช้ในกองทัพสหรัฐฯว่า M193 ต่อมาองค์กรแซมมี (SAAMI) ประเทศสหรัฐอเมริกา จึงได้กำหนดมาตรฐานขึ้นมาใหม่ดังนี้ คือ

  1. ต้องใช้หัวกระสุนน้ำหนัก 55 เกรน
  2. มีความเร็วต้นที่ 3,250 ฟุต/วินาที เมื่อยิงจากปืนซึ่งมีลำกล้องยาว 20 นิ้ว หรือเร็วกว่านั้นเมื่อยิงจากปืนที่มีความยาวลำกล้องมากกว่า
  3. ใช้ยิงกับปืนยาวที่มีระยะครบรอบเกลียว 1 รอบที่ระยะ 12 ฟุตหรืออัตรา 1:12 และ
  4. มีแรงดันในรังเพลิงไม่เกิน 52,000 ปอนด์/ตารางนิ้ว (PSI) เมื่อใช้ในปืนทหาร และไม่เกิน 55,000 ปอนด์/ตารางนิ้วเมื่อใช้ในปืนพาณิชย์

ภาพร่างแสดงขนาดสัดส่วนต่างๆของกระสุน 5.56×45 มม.

เมื่อกระสุน 5.56 มม. แบบ M193 เริ่มได้รับความนิยมในกลุ่มประเทศองค์การ NATO ทางบริษัท เอฟ เอ็น จึงได้นำกระสุนแบบ M193 ไปปรับปรุงใหม่ โดยเปลี่ยนหัวกระสุนจากเดิมหนัก 55 เกรนเป็น 62 เกรน และเพิ่มปริมาณดินขับกระสุน ทำให้ได้กระสุนแบบใหม่ที่มีความเร็วต้นเพียง 3,025 ฟุต/วินาที แต่มีแรงดันในรังเพลิงมากถึง 62,366 ปอนด์/ตารางนิ้ว เมื่อทดสอบด้วยวิธี NATO EPVAT หรือ 55,114 ปอนด์/ตารางนิ้ว เมื่อทดสอบด้วยวิธี SCATP 5.56 ซึ่งมีขีปนวิถีที่ดีกว่ากระสุนแบบ M193 มาก และเข้าประจำการในกองทัพเบลเยียมโดยใช้รหัสว่า SS109 ต่อมาเมื่อกระสุนรุ่นดังกล่าวได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การนาโต้ จึงได้มีการกำหนดรหัสให้ใหม่ว่า 5.56×45 mm. NATO

ส่วนกองทัพสหรัฐฯเองก็ได้นำกระสุน 5.56 นาโต้แบบ SS109 มาปรับปรุงเป็นกระสุนในรูปแบบของตนเอง โดยเพิ่มแกนเหล็กบริเวณหัวกระสุนเพื่อเพิ่มอำนาจทะลุทะลวงและแต้มสีเขียวบริเวณปลายหัวกระสุนเพื่อเป็นสัญลักษณ์ และกำหนดรหัสที่ใช้ในกองทัพว่า M855 รวมทั้งมีคำสั่งให้บริษัทโคลท์ทำการปรับปรุงปืน M16A1 เป็นปืน M16A2 เพื่อรองรับกระสุนแบบ M855 ในเวลาต่อมา

สายกระสุนขนาด 5.56 นาโต้ ซึ่งใช้กับปืนกล M249 Minimi สังเกตว่าจะใส่กระสุนธรรมดา M855 จำนวน 4 นัดต่อกระสุนส่องวิถี M856 จำนวน 1 นัด

ความแตกต่างระหว่างกระสุนขนาด 5.56 นาโต้กับกระสุน .223 เรมิงตัน

[แก้]

หลังจากที่ทางบริษัท เอฟ เอ็น ได้นำกระสุน M193 ไปปรับปรุงโดยเปลี่ยนหัวกระสุนจากเดิม 55 เกรนเป็น 62 เกรน จึงทำให้หัวกระสุนมีความยาวเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องใช้กับปืนที่มีระยะครบรอบเกลียวเร็วขึ้นกว่าเดิม โดยเริ่มแรกกำหนดไว้ที่อัตรา 1:9 ต่อมาเมื่อองค์การนาโต้รับกระสุนส่องวิถีแบบ L110 ของกองทัพเบลเยียมเข้าประจำการ กระสุนรุ่นดังกล่าวมีความยาวหัวกระสุนมากกว่ากระสุน M855 จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนปืนให้มีอัตราครบรอบเกลียวเป็น 1:7 เพื่อรองรับการใช้งานกระสุนดังกล่าว รวมถึงมีการเพิ่มปริมาณดินขับกระสุน ทำปลอกกระสุนให้หนาขึ้นกว่าเดิม และมีการปรับความลาดเอียงของไหล่ปลอกกระสุนเสียใหม่ เพื่อรองรับแรงดันในรังเพลิงที่สูงถึง 62,366 ปอนด์ต่อตารางนิ้วได้ ซึ่งทำให้เมื่อนำกระสุน 5.56 นาโต้ไปใช้กับปืนพาณิชย์ขนาด .223 เรมิงตัน ไหล่กระสุนจะไม่แนบไปกับรังเพลิง ทำให้เมื่อยิงไปแล้วอาจมีอาการปลอกแตกบริเวณคอปลอกหรือมีอาการจานแก็ปแตกทะลุออกมาบริเวณจานท้ายกระสุน รวมถึงทำให้ขอรั้งปลอกหักชำรุดได้

อาวุธปืนเล็กยาวจู่โจมบางส่วนที่ใช้กระสุน 5.56 นาโต้

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  • Stan Christ, "5.56mm NATO Alternatives", Special Weapons Magazine, Semi-Annual #50 2007, p. 52-59.

ดูเพิ่ม

[แก้]