ไสว วงษ์งาม
ไสว วงษ์งาม | |
---|---|
ชื่อเกิด | ไสว สุวรรณประทีป |
เกิด | พ.ศ. 2465 |
ที่เกิด | ตำบลวังน้ำซับ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี |
เสียชีวิต | 18 ตุลาคม พ.ศ. 2535 (70 ปี) |
แนวเพลง | เพลงอีแซว |
อาชีพ | นักดนตรีพื้นบ้าน |
ช่วงปี | พ.ศ. 2478 - 2535 |
คู่สมรส | บท สุวรรณประทีป[1] บัวผัน จันทร์ศรี |
ไสว วงษ์งาม มีชื่อจริงว่า ไสว สุวรรณประทีป ศิลปินพื้นบ้าน เพลงอีแซว ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินพื้นบ้าน (สาขาเพลงพื้นบ้านภาคกลาง) จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2525
ประวัติ
[แก้]เบื้องต้น
[แก้]ไสวเกิดเมื่อปีจอ พ.ศ. 2465 ที่ตำบลวังน้ำซับ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรของนายไปล่ นางวิง ชื่อจริงคือ นายไสว สุวรรณประทีป ปู่ของท่านเป็นญาติกับภรรยาคนหนึ่งของหลวงอนุกูลราชกิจ (ทอง สุวรรณประทีป) กำนันตำบลบ้านไร่ ในฐานะเกี่ยวพันเป็นลูกหลาน จึงขอใช้นามสกุลตามท่านกำนันที่ได้รับพระราชทานมานี้ สมัยโน้นจะติติงว่านักแสดงว่าเต้นกินรำกิน เกรงคนในสกุลจะว่าได้ จึงใช้ชื่อสกุลในการแสดงว่า "วงษ์งาม"
อาชีพพ่อเพลง
[แก้]พ่อไสว เริ่มหัดเพลงอีแซวครั้งแรกจากนายเฉลียว ช้างเผือก ซึ่งมีบ้านอยู่ใกล้ ๆ กัน จากนั้นได้ฝึกฝนเพลงจากป้าพวง ที่ดอนประดู่ และนายหลาบ บ้านห้วยเจริญ อำเภอศรีประจันต์ และครูเพลงชื่อ ครูเคลิ้ม ปักษี แห่งบ้านดอนเจดีย์ ต่อมาสามารถเขียนและด้นกลอนเองได้ และสามารถร้องเพลงพื้นบ้านได้ทุกชนิด ที่ชำนาญคือเพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงเกี่ยวข้าว เพลงพวงมาลัย เพลงระบำบ้านไร่ เพลงยั่ว และเพลงขอทาน ต่อมาได้มาหัดเพลงเรือกับนางบัวผัน จันทร์ศรีผู้เป็นภรรยา ไสว ใช้ชื่อในการแสดงเพลงอีแซวว่า "ไสว วงษ์งาม" เป็นพ่อเพลงที่รู้เพลงมาก ฝึกหัดเพลงมาตั้งแต่เด็กๆ และจดจำเพลงเก่า ๆ เอาไว้เป็นทุน เมื่อแสดงหน้าเวทีจึงยืนเล่นได้ทั้งคืน ว่าเพลงไม่มีวันหมดและเป็นศิลปินเพลงอีแซวจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต
ชีวิตคู่
[แก้]พ่อไสวใช้ชีวิตคู่อยู่กินกับนางบดภรรยาคนแรก มีลูกด้วยกัน 4 คน ต่อมาเมื่อคราวมีงานเทศกาลทอดกฐิน ทอดผ้าป่า พ่อเพลงแม่เพลงก็มารวมกันว่าเพลงในงาน หนึ่งในนั้นก็มีนางบัวผันแม่เพลงคนสำคัญที่ว่าเพลงมาแล้วพ่อไสวแก้เพลงไม่ได้ จึงตั้งใจว่าจะต้องผูกรักแม่เพลงคนนี้ให้ได้ สุดท้ายพ่อไสวก็ได้ใช้ชีวิตคู่กับแม่บัวผัน และได้ร่วมกับแม่บัวผัน จันทร์ศรี ฝึกหัดลูกศิษย์เป็นจำนวนหลายร้อยคน โดยลูกศิษย์ที่มีชื่อเสียง เช่น ขวัญจิต ศรีประจันต์ ขวัญใจ ศรีประจันต์ แหยม เถื่อนสุริยา สุจินต์ ศรีประจันต์ สำเนียง ชาวปลายนา เป็นต้น
บั้นปลายชีวิต
[แก้]ในบั้นปลายชีวิตพ่อไสว สุวรรณประทีป ได้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร และได้เสียชีวิตลงด้วยอาการสงบด้วยโรคปอด เมื่อวันที่ 18 ตุลาตม พ.ศ. 2535 สิริอายุ 71 ปี
รางวัลเกียรติยศ
[แก้]- ศิลปินพื้นบ้าน (สาขาเพลงพื้นบ้านภาคกลาง) จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. 2525
- รางวัลพระสิทธิธาดาทองคำ พ.ศ. 2535 เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2536 โดยมีผู้ได้รับรางวัลหลายสาขาที่เข้ารับรางวัลกับสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งมีการแสดงประวัติและผลงานของผู้ได้รับพระราชทานรางวัล อาทิ การขับร้องถวายพระพรโดยครูจำเนียร ศรีไทยพันธ์ประกอบวงปี่พาทย์ไม้นวมคณะครูบุญยัง เกตุคง เดี่ยวซอสามสายเพลงกระบองกัณฑ์โดยศาสตราจารย์อุดม อรุณรัตน์ เดี่ยวขลุ่ยเพลงวิเวกเวหา โดยครูจำเนียร ศรีไทยพันธ์ เดี่ยวฆ้องวงใหญ่เพลงพญาโศก โดยครูถวิล อรรถกฤษณ์ การสาธิตเชิดหนังตะลุงโดยครูจูเลี่ยม กิ่งทอง และการแสดงเพลงพื้นบ้านภาคกลางโดยแม่ครูบัวผัน จันทร์ศรี
อ้างอิง
[แก้]- ประวัติและผลงานที่ต้องบันทึกไว้ของนักเพลงพื้นบ้านรุ่นบรมครูที่กำลังจะหมดไป ในจังหวัดสุพรรณบุรี (ตอนที่ 3) เก็บถาวร 2010-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ [http://gotoknow.org/blog/maneewong1/130964 ประวัติและผลงานของนักเพลงพื้นบ้าน (ตอนที่ 4)