ข้ามไปเนื้อหา

ไรน์ลันท์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ไรน์ลันด์)
ตราอาร์มของไรน์ลันท์

ไรน์ลันท์ (เยอรมัน: Rheinland; ฝรั่งเศส: Rhénanie; ดัตช์: Rijnland) เป็นชื่อทั่วไปที่ใช้เรียกดินแดนทั้งสองฝั่งของแม่น้ำไรน์ ในเยอรมนีตะวันตก หลังจากการล่มสลายของจักรวรรดิฝรั่งเศสในตอนต้นของคริสต์ศตวรรษที่ 19 ไรน์ลันท์เป็นแคว้นที่มีประชากรพูดภาษาเยอรมันเป็นส่วนใหญ่ ตั้งอยู่ทางตอนกลางและตอนล่างของแม่น้ำไรน์ ซึ่งเคยถึงผนวกเข้ากับอาณาจักรปรัสเซีย กษัตริย์แห่งปรัสเซียได้เปลี่ยนชื่อแคว้นใหม่ว่า มณฑลไรน์ (หรือ Rhenish Prussia) หลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ภาคตะวันตกของไรน์ลันท์ถูกยึดครองโดยกองทัพฝ่ายไตรภาคี ตามข้อตกลงในสนธิสัญญาแวร์ซาย เยอรมนีได้รับไรน์ลันท์คืนเมื่อปี 1936

ภูมิศาสตร์

[แก้]
อาณาเขตของไรน์ลันท์ (สีเขียว) ปี 1830 บนพรมแดนสมัยใหม่

ไรน์ลันท์นั้นตั้งอยู่ในภาคตะวันตกของเยอรมนี และมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศฝรั่งเศส ลักเซมเบิร์ก เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ ลักษณะภูมิประเทศทางด้านใต้และด้านตะวันออกเป็นเขตเนินเขา และมีแม่น้ำไหลผ่าน แม่น้ำสองสายที่มีความสำคัญ คือ แม่น้ำไรน์และแม่น้ำมอแซล และทางเหนือมีอาณาเขตติดต่อกับแคว้นรูร์

ความเกี่ยวข้องกับการเมือง

[แก้]

มณฑลไรน์ได้ถูกจัดตั้งเมื่อปี 1824 โดยการรวมตัวกันของแคว้นไรน์ตอนล่างกับแคว้นจวูลิช-คลีฟส์-เบิร์ก มีเมืองหลวงอยู่ที่โคเบรนซ์ มีประชากรอยู่อาศัยประมาณ 8 ล้านคนในปี 1939 ในปี 1920 แคว้นซาร์ได้ถูกแยกออกมาจากมณฑลไรน์ และอยู่ใต้การกำกับดูแลของสันนิบาตชาติ จนกระทั่งกองกำลังสันนิบาติชาติถอนกำลังออกไปเมื่อปี 1935

ประวัติศาสตร์

[แก้]

หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

[แก้]

หลังจากเยอรมนียอมจำนนในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง กองทัพพันธมิตรได้ทำการยึดครองไรน์ลันท์ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำไรน์ ภายใต้บัญญัติของสนธิสัญญาแวร์ซาย การเข้ายึดครองจึงดำเนินต่อไป สนธิสัญญาดังกล่าวได้กำหนดให้แบ่งไรน์ลันท์ออกเป็นสามส่วน ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น พื้นที่ที่จะคืนให้แก่เยอรมนีภายในห้าปี สิบปี และสิบห้าปีตามลำดับหลังจากการอนุมัติสนธิสัญญาดังกล่าว ซึ่งได้ทำการลงนามเมื่อปี 1920 ซึ่งหมายความว่าเยอรมนีจะได้รับดินแดนทั้งหมดคืนเมื่อปี 1935 แต่ในความเป็นจริงแล้ว กองทัพพันธมิตรได้ถอนตัวออกไปทั้งหมดก่อนปี 1930 ด้วยความปรารถนาดีต่อสาธารณรัฐไวมาร์ ซึ่งได้มีนโยบายประนีประนอมด้วย และเพื่อสนธิสัญญาโลคาร์โน

ทหารฝรั่งเศสซึ่งเข้ามายึดครองไรน์ลันท์นั้นขึ้นชื่อในเรื่องของความรุนแรงกับพลเรือนท้องถิ่น ฝรั่งเศสได้หาช่องโหว่ของสนธิสัญญาแวร์ซายและพยายามที่จะแยกไรน์ลันท์ออกจากเยอรมนีตลอดกาล โดยพยายามสร้างสาธารณรัฐไรน์ และทำการปกครองโดยรัฐบาลหุ่นเชิดของฝรั่งเศส รัฐบาลฝรั่งเศสยังได้สนับสนุนกลุ่มผู้ประท้วงแบ่งแยกดินแดนและการก่อจลาจล ซึ่งพยายามที่จะแยกตัวออกมาจากเยอรมนี ด้วยเหตุผลทางศาสนาและความคิดต่อต้านพวกปรัสเซีย แต่ว่าก็ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากมีกลุ่มผู้เข้าร่วมจำนวนน้อย

สนธิสัญญาแวร์ซายยังได้กำหนดเขตปลอดทหาร ซึ่งใช้เป็นรัฐกันชนระหว่างเยอรมนีฝ่ายหนึ่ง ฝรั่งเศส เบลเยี่ยมและลักเซมเบิร์ก (อาจรวมไปถึงเนเธอร์แลนด์ด้วย) อีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งหมายความว่า ห้ามมิให้มีกองทหารเยอรมันอยู่ในแคว้นไรนด์แลดน์ภายหลังจากที่กองทัพพันธมิตรถอนตัวไปแล้ว นอกเหนือจากนั้น สนธิสัญญายังให้อนุญาตกองทัพพันธมิตรสามารถกลับเข้ามายึดครองได้อีก ถ้าหากพบว่าเยอรมนีไม่รับผิดชอบต่อข้อตกลงในสนธิสัญญา

ในวันที่ 7 มีนาคม 1936 นาซีเยอรมนีทำการฝ่าฝืนสนธิสัญญาโลคาร์โนด้วยการเข้ายึดครองไรน์ลันท์ การรุกรานประสบความสำเร็จและใช้กำลังทหารเพียงเล็กน้อย (เป็นเพียงทหารขี่จักรยานเท่านั้น) ฝรั่งเศสไม่อาจตอบโต้การกระทำนี้ได้เนื่องจากความไร้เสถีนรภาพทางการเมืองภายในประเทศ ฮิตเลอร์นั้นเสี่ยงอย่างมากต่อการส่งทหารเข้าไปยังไรน์ลันท์ เขาถึงขนาดออกคำสั่งให้เตรียมถอยทัพในทันทีถ้าหากกองทัพฝรั่งเศสต่อต้าน แต่ด้านฝรั่งเศสนั้นก็ไม่ได้ตอบโต้แต่อย่างใด เนื่องจากอยู่ระหว่างช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ และยังไม่ต้องการทำสงครามกับเยอรมนีในขณะนี้

การเข้ามาของทหารเยอรมันนั้นได้รับการสนับสนุนจากประชากรพื้นเมืองบางส่วน เนื่องจากมีความรักชาติเยอรมันและได้รับความขมขื่นจากการตกอยู่ใต้การยึดครองของฝ่ายพันธมิตรจนกระทั่งถึงปี 1930 (จนถึงปี 1935 ในซาร์แลนด์)

ต่อมานาซีเยอรมนีได้สร้างแนวป้องกันที่ชื่อว่า ซิกฟรีด ซึ่งมีความยาวประมาณ 620 กิโลเมตรจากเนเธอร์แลนด์จนถึงสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อเป็นการป้องกันการรุกรานของฝรั่งเศลและสัมพันธมิตร

ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

[แก้]

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ระหว่างปี 1944-1945 ได้มีการทัพสองครั้งได้เกิดขึ้นในไรน์ลันท์แห่งนี้

เป็นเวลาห้าเดือน ตั้งแต่เดือนกันยายน 1944 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 1945 กองทัพสหรัฐอเมริกาพยายามอย่างหนักที่จะยึดครองป่า Hurtgen ป่าหน้าทึบและพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นหุบเขาลึกของป่า ทำให้เหล่าทหารราบจำเป็นต้องต่อสู้โดยปราศจากการสนับสนุนทางอากาศ ยานเกราะและปืนใหญ่ นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่คาดว่าทหารอเมริกันเสียชีวิตไปประมาณ 24,000 นาย

ต้นปี 1945 หลังจากการหยุดพักรบในช่วงฤดูหนาว กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรในยุโรปตะวันตกได้กลับเข้าสู่การทำการรบอีกครั้งหนึ่งเพื่อจะเจาะผ่านแนวเยอรมันไปยังแม่น้ำไรน์ กองทัพแคนาดาสามารถเข้าสมทบกับกองทัพอังกฤษและสามารถเจาะผ่านไรน์ลันท์ได้ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 1945 หลังจากเวลาผ่านไป กองทัพเยอรมันก็ถูกกวาดล้างออกไปจากฝั่งตะวันตกของแม่น้ำไรน์

ในวันที่ 7 มีนาคม 1945 กองพลยานเกราะที่ 9 ของสหรัฐอเมริกาได้ยึดสะพานสุดท้านที่สามารถข้ามแม่น้ำไรน์ได้ที่ Remagen กองทัพที่สามของสหรัฐอเมริกาก็ได้ข้ามสะพานไปยังฝั่งตะวันออกก่อนที่กองทัพส่วนที่เหลือจะตามมาในสัปดาห์ที่สามของเดือนมีนาคม จนกระทั่งถึงเดือนเมษายน แม่น้ำไรน์ได้ถูกยึดครองโดยฝ่ายสัมพันธมิตร และการรบในไรน์ลันท์ก็สิ้นสุดลง

ดูเพิ่ม

[แก้]