ไฟป่าป่าฝนแอมะซอน พ.ศ. 2562

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ฤดูกาลไฟป่าป่าฝนแอมะซอน พ.ศ. 2562 มีการเพิ่มขึ้นของไฟป่าในป่าฝนแอมะซอนและชีวนิเวศแอมะซอนในประเทศบราซิล โบลิเวีย ปารากวัย และเปรูระหว่างฤดูแล้งเขตร้อนแถบแอมะซอน[1] ปกติไฟป่าเกิดในช่วงฤดูแล้งอันเนื่องจากวิธีการทำไร่เลื่อนลอย (slash-and-burn) เพื่อใช้ถางป่าสำหรับทำที่กสิกรรม เลี้ยงปศุสัตว์ ทำไม้และทำเหมือง ทำให้เกิดการทำลายป่าฝนแอมะซอน แม้การกระทำดังกล่าวโดยทั่วไปมิชอบด้วยกฎหมายในประเทศเหล่านี้ แต่การบังคับใช้การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมอาจหละหลวม การเพิ่มจำนวนครั้งไฟป่าในปี 2562 ทำให้เกิดความกังวลนานาชาติเกี่ยวกับชะตากรรมของป่าฝนแอมะซอน ซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ใหญ่สุดของโลกและมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก

สถาบันวิจัยอวกาศแห่งชาติบราซิล (อิงปี) เป็นผู้รายงานเหตุเป็นครั้งแรกในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม 2562 ผ่านระบบการเฝ้าสังเกตด้วยดาวเทียม แต่นานาประเทศเริ่มให้ความสนใจสถานการณ์ในเดือนสิงหาคม 2562 เมื่อนาซายืนยันข้อค้นพบของอิงปี และควันจากไฟป่าซึ่งมองเห็นได้จากดาวเทียมปกคลุมนครเซาเปาลูแม้อยู่ห่างจากไฟป่าหลายพันกิโลเมตร ในวันที่ 29 สิงหาคม 2562 อิงปีรายงานอัคคีภัยกว่า 80,000 ครั้งทั่วประเทศบราซิล ซึ่งเพิ่มขึ้น 77% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปีก่อน และกว่า 40,000 ครั้งอยู่ในเขตอามาโซนียาเลกัลของบราซิลซึ่งมีป่าแอมะซอน 60% นอกจากนี้ ยังมีรายงานอัคคีภัยเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนในโบลิเวีย ปารากวัย และเปรูด้วย โดยจำนวนครั้งอัคคีภัยในปี 2562 มีกว่า 19,000 ครั้ง, 11,000 ครั้ง และ 6,700 ครั้งตามลำดับจากสถิติ ณ วันที่ 29 สิงหาคม 2562[2] ประมาณการว่ามีพื้นที่ป่ากว่า 9,060 ตารางกิโลเมตรในชีวนิเวศแอมะซอนสูญเสียไปจากไฟป่าในปี 2562[3] นอกเหนือจากผลกระทบต่อภูมิอากาศโลกแล้ว ไฟป่ายังก่อให้เกิดความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมจากปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์และคาร์บอนมอนอกไซด์สูงที่ไฟปล่อยออกมา ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อความหลากหลายทางชีวภาพของแอมะซอน และภัยคุกคามต่อชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในป่า

อัตราอัคคีภัยที่เพิ่มขึ้นในบราซิลทำให้เกิดความกังวลเมื่อผู้นำระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แอมานุแอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และองค์การนอกภาครัฐด้านสิ่งแวดล้อมระบุว่าสาเหตุมาจากนโยบายนิยมธุรกิจของฌาอีร์ โบลโซนารู ประธานาธิบดีบราซิล ซึ่งผ่อนปรนการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการทำลายป่าแอมะซอนหลังเข้ารับตำแหน่งในเดือนมกราคม 2562 โบลโซนารูทีแรกปฏิเสธการเรียกร้องของนานาชาติให้ออกมาตรการ แต่หลังประชาคมระหว่างประเทศเพิ่มแรงกดดันในการประชุมกลุ่ม 7 ครั้งที่ 45 และการขู่ปฏิเสธความตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป–เมร์โกซูร์ โบลโซนารูจึงส่งทหารกว่า 44,000 นายและจัดสรรงบประมาณเพื่อดับเพลิง และต่อมาออกกฤษฎีกาป้องกันไฟป่าดังกล่าวเป็นเวลาหกสิบวัน ในการประชุมกลุ่ม 7 มาครงเจรจากับชาติอื่นเพื่อจัดสรรเงินช่วยเหลือฉุกเฉิน 22 ล้านดอลลาร์สหรัฐแก่ประเทศแถบแอมะซอนที่ได้รับผลกระทบจากไฟป่า

อ้างอิง[แก้]

  1. "'Record number of fires' in Brazilian rainforest". BBC News. August 21, 2019. สืบค้นเมื่อ August 21, 2019.
  2. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-20. สืบค้นเมื่อ 2019-09-08.
  3. "Brazil's Bolsonaro says he will accept aid to fight Amazon fires". CBS News. August 27, 2019. สืบค้นเมื่อ August 30, 2019.