โมแฮมแมด ฆอแทมี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โมแฮมแมด ฆอแทมี
محمد خاتمی
ประธานาธิบดีฆอแทมีในปี 2003
ประธานาธิบดีอิหร่าน คนที่ 5
ดำรงตำแหน่ง
3 สิงหาคม 1997 – 3 สิงหาคม 2005
ผู้นำสูงสุดแอลี ฆอเมเนอี
ก่อนหน้าแอกแบร์ ฮอเชมี แรฟแซนจอนี
ถัดไปแมฮ์มูด แอฮ์แมดีเนฌอด
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด (1943-10-14) 14 ตุลาคม ค.ศ. 1943 (80 ปี)
อาร์ดาแคน จังหวัดยาซิด รัฐจักรพรรดิอิหร่าน
คู่สมรสZohreh Sadeghi (แต่ง 1974)
บุตร3 คน

เซย์เยด โมแฮมแมด ฆอแทมี (เปอร์เซีย: سید محمد خاتمی Sayyid Mohammad Khatami) เป็นนักการเมืองชาวอิหร่าน ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมระหว่างค.ศ. 1982 ถึง 1992 และต่อมาเป็นประธานาธิบดีอิหร่านสองสมัยระหว่างค.ศ. 1997 ถึง 2005

โมแฮมแมดเป็นบุตรของรูฮุลลอฮ์ ฆอแทมี นักบวชระดับสูงในเมืองยาซิด โมแฮมแมดจบการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาปรัชญาตะวันตกจากมหาวิทยาลัยอิสฟาฮาน และศึกษาต่อระดับปริญญาโทในสาขาศึกษาศาสตร์ แต่ลาออกกลางคันเพื่อศึกษาวิชาอิสลามที่เมืองโกม เขาศึกษาวิชาอิสลามที่นั่นเป็นเวลาเจ็ดปีและจบการศึกษาระดับสูงสุดที่เรียกว่า อิจญ์ติฮาด จากนั้นได้ดำรงตำแหน่งประธานศูนย์อิสลามที่นครฮัมบวร์คในเยอรมนีตะวันตกระหว่างปี 1978 ถึง 1980

ก่อนดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ฆอแทมีเป็นผู้แทนราษฎรระหว่างปี 1980 ถึง 1982, เป็นผู้บริหารหนักสือพิมพ์เคย์แฮน, เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและแนวทางอิสลามระหว่างปี 1989 ถึง 1992, เป็นผู้อำนวยการหอสมุดแห่งชาติอิหร่านระหว่างปี 1992 ถึง 1997 และเป็นสมาชิกคณะมนตรีการปฏิวัติวัฒนธรรม ฆอแทมีสามารถพูดภาษาเปอร์เซีย (ภาษาเกิด), ภาษาอาหรับ, ภาษาอังกฤษ และภาษาเยอรมัน[1]

ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1997 ฆอแทมีได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนที่ 5 ด้วยคะแนนเสียง 69.6% ของผู้ใช้สิทธิ์ออกเสียง เขาได้รับเลือกสมัยที่สองในปี 2001 ด้วยคะแนนเสียง 77.1% ของผู้ใช้สิทธิ์ออกเสียง เขาดำรงตำแหน่งครบวาระสูงสุดตามรัฐธรรมนูญในปี 2005

ตลอดช่วงที่เขาเป็นประธานาธิบดี เขาได้ผลักดันให้เกิดการปฏิรูปมากมายในประเทศ อาทิ เกิดการเลือกตั้งส่วนท้องถิ่นครั้งแรก, สนับสนุนภาคประชาสังคมและหลักนิติธรรม, ส่งเสริมให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจระดับสูง, อนุญาตให้สื่อสิ่งพิมพ์แสดงความเห็นทางการเมืองที่หลากหลาย, พื้นฟูความสัมพันธ์กับต่างชาติและผลักดันให้สถานทูตของชาติยุโรปในอิหร่านเปิดทำการอีกครั้ง เป็นต้น[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Profile: Mohammad Khatami". BBC News. 6 June 2001.
  2. Said Amir Arjomand.Civil Society and the Rule of Law in the Constitutional Politics of Iran