โพคาฮอนทัส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โพคาฮอนทัส
ภาพพิมพ์ผลงานของ Simon de Passe ค.ศ. 1616
เกิดมาโทอาคา/อาโมนูเท
ราว ค.ศ. 1596[1]
เวโรโวโคโมโค (ปัจจุบันอยู่ในเทศมณฑลกลอสเตอร์, เวอร์จิเนีย)
เสียชีวิตมีนาคม 1617 (อายุ 20–21)
เกรฟเซนด์, เคนต์, ราชอาณาจักรอังกฤษ
สุสานโบสถ์เซนต์จอร์จ
มีชื่อเสียงจากความสัมพันธ์กับอาณาจักรนิคมเจมส์ทาวน์, โดยเฉพาะการช่วยชีวิตจอห์น สมิท และการเข้ารีตเป็นคริสต์
คู่สมรสจอห์น รอล์ฟ (สมรส 5 เมษายน ค.ศ. 1614)
บุตรทอมัส รอล์ฟ
บุพการีพาวฮาทัน (บิดา)

โพคาฮอนทัส (อังกฤษ: Pocahontas; ราว ค.ศ. 1596 – มีนาคม ค.ศ. 1617) ชื่อเกิดว่า มาโทอาคา (Matoaka) ชื่ออื่นว่า อาโมนูเท (Amonute) เป็นหญิงชาวอเมริกันพื้นเมือง[2][3][4] มีชื่อเสียงเพราะความสัมพันธ์กับชุมชนอาณานิคมในเจมส์ทาวน์ เวอร์จิเนีย โพคาฮอนทัสเป็นบุตรีของพาวฮาทัน (Powhatan) ผู้เป็นประมุขสูงสุด (paramount chief) ของเครือข่ายชนเผ่าในเซนาคอมมาคาห์ (Tsenacommacah) ซึ่งกินพื้นที่ภูมิภาคไทด์วอเทอร์ (Tidewater region) แห่งเวอร์จิเนีย เกร็ดประวัติศาสตร์ที่รู้จักกันดีระบุว่า ใน ค.ศ. 1607 นางช่วยชีวิตจอห์น สมิธ ชาวอังกฤษซึ่งถูกชนอเมริกันพื้นเมืองจับเป็นเชลย โดยนางวางศีรษะของตนไว้บนแท่นประหารแทนศีรษะของเขาขณะที่บิดาของนางกำลังเงื้อกระบองเพื่อประหารเขา แต่นักประวัติศาสตร์จำนวนมากตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของเรื่องดังกล่าว[5][6]

ใน ค.ศ. 1613 นางถูกชาวอังกฤษจับกุมไปเรียกค่าไถ่ในช่วงที่อังกฤษและชนอเมริกันพื้นเมืองเป็นปฏิปักษ์กัน ระหว่างที่นางถูกจับนั้น นางเข้ารีตเป็นคริสต์ศาสนิกและเปลี่ยนชื่อเป็น รีเบกกา (Rebecca) ต่อมาเมื่อนางมีโอกาสกลับไปหาผู้คนของตน นางกลับเลือกอยู่กับคนอังกฤษ ครั้นเดือนเมษายน ค.ศ. 1614 นางอายุได้ 17 ปี เข้าพิธีสมรสกับจอห์น รอล์ฟ (John Rolfe) คนปลูกใบยาสูบ ต่อมาในเดือนมกราคม ค.ศ. 1615 นางให้กำเนิดบุตรชายของเขานามว่า ทอมัส รอล์ฟ (Thomas Rolfe)[1]

ใน ค.ศ. 1616 ครอบครัวรอล์ฟเดินทางไปลอนดอน มีการนำเสนอนางต่อสังคมอังกฤษว่า เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของคนป่าเถื่อนที่ได้รับการสั่งสอนให้มีอารยะ เพื่อกระตุ้นการลงทุนในชุมชนเจมส์ทาวน์ที่เวอร์จิเนีย นางจึงเกิดมีชื่อเสียงขึ้น ได้รับการเลี้ยงดูปูเสื่อหรูหรา และได้ชมละครหน้ากาก (masque) ที่วังไวต์ฮอล (Whitehall Palace) ด้วย ครั้น ค.ศ. 1617 ครอบครัวรอล์ฟตั้งใจจะเดินทางกลับเวอร์จิเนีย แต่นางเสียชีวิตที่เกรฟเซนด์ (Gravesend) ในอังกฤษไปเสียก่อนโดยไม่ทราบสาเหตุ อายุได้ราว 20 หรือ 21 ปี ศพของนางฝังไว้ที่โบสถ์เซนต์จอร์จ (St George's Church) ณ เกรฟเซนด์นั้น แต่การบูรณะโบสถ์ในภายหลังทำให้ตำแหน่งที่แน่นอนของหลุมศพนางในปัจจุบันนั้นไม่อาจทราบได้อีก[1]

สถานที่และผลิตภัณฑ์มากมายในสหรัฐได้รับการตั้งชื่อตามนาง เรื่องราวของนางยังได้รับการเล่าขานเป็นนิยายรัก กลายเป็นหัวเรื่องยอดนิยมในงานศิลปะ วรรณกรรม และภาพยนตร์ คนดังหลายคนก็อ้างว่า สืบเชื้อสายของนางผ่านทางบุตรของนาง เช่น สมาชิกตระกูลแรกแห่งเวอร์จิเนีย, ตลอดจนอีดิท วิลสัน (Edith Wilson) อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง, เกล็นน์ สเตรนจ์ (Glenn Strange) นักแสดงชาวอเมริกัน, เวย์น นิวตัน (Wayne Newton) นักแสดงในลาสเวกัส, และเพอร์ซิวัล โลเวลล์ (Percival Lowell) นักดาราศาสตร์[7]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 Stebbins, Sarah J (August 2010). "Pocahontas: Her Life and Legend". National Park Service. U.S. Department of the Interior. สืบค้นเมื่อ April 7, 2015.
  2. "A Guide to Writing about Virginia Indians and Virginia Indian History" (PDF). Commonwealth of Virginia, Virginia Council on Indians. January 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ February 24, 2012. สืบค้นเมื่อ July 19, 2012.
  3. Karenne Wood, ed., The Virginia Indian Heritage Trail เก็บถาวร 2009-07-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Charlottesville, VA: Virginia Foundation for the Humanities, 2007.
  4. "Pocahontas". Historic Jamestowne. Preservation Virginia. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-04-04. สืบค้นเมื่อ April 27, 2013.
  5. National Museum of the American Indian (2007). Do All Indians Live in Tipis? Questions & Answers from the National Museum of the American Indian. New York: HarperCollins. ISBN 978-0-06-115301-3.
  6. Jesse Greenspan (20 March 2017). "5 Myths About Pocahontas".
  7. Shapiro, Laurie Gwen (June 22, 2014). "Pocahontas: Fantasy and Reality". Slate. The Slate Group. สืบค้นเมื่อ April 7, 2015.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]