โทริอิ
โทริอิ (ญี่ปุ่น: 鳥居; โรมาจิ: Torii, ความหมาย: ที่ของปักษา) คือซุ้มประตูแบบญี่ปุ่น ตั้งไว้เพื่อให้ผู้คนได้รับรู้ว่า อาณาเขตเบื้องหลังเสาโทริอินี้เป็นอาณาเขตของเทพเจ้า เพื่อที่ผู้คนจะได้ไม่เผลอกระทำการอันจะเป็นการดูหมิ่นสิ่งศักดิ์สิทธิ์[1] โทริอิสามารถพบได้ตามศาลเจ้าชินโตตลอดจนวัดพุทธบางแห่งในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในแผนที่ของญี่ปุ่น จะใช้สัญลักษณ์โทริอิ เป็นเครื่องหมายบอกตำแหน่งศาลเจ้าต่าง ๆ นอกจากนี้ อาจพบโทริอิได้ตามทางเดินและท้องถนนทั่วไปที่แถวนั้นอาจมีเจ้าที่หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่ หรือแม้แต่ในป่าหรือภูเขาลึกบางแห่ง
โทริอิมีมาตั้งแต่เมื่อใดนั้นไม่อาจทราบได้ แต่บันทึกที่เก่าแก่ที่สุดที่เขียนถึงโทริอิ ถูกเขียนเมื่อ ค.ศ. 922 ในช่วงกลางยุคเฮอัง[1] โทริอิหินที่เก่าแก่ที่สุดในปัจจุบัน สร้างในศตวรรษที่ 12 เป็นโทริอิของศาลเจ้าฮะชิมังในจังหวัดยะมะงะตะ ใขณะที่โทริอิไม้ที่เก่าแก่ที่สุดในปัจจุบัน สร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1535 เป็นโทริอิของศาลเจ้าคุโบฮะชิมัง ในจังหวัดยะมะนะชิ[1]
โทริอิแบบดั้งเดิมนั้นจะถูกสร้างด้วยไม้หรือหิน แต่ในปัจจุบัน โทริอิบางต้นอาจถูกสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ซึ่งโทริอินั้น มีทั้งแบบทาสีและไม่ทาสี หากทาสี จะทาสีชาดที่ลำต้น และคานด้านบนสุดจะทาด้วยสีดำ ศาลเจ้าฟุชิมิ-อินะริ ในนครเคียวโตะ นั้น มีโทริอิมากกว่าพันต้น แต่ละต้นจะจารึกชื่อผู้บริจาค[2] นักวิชาการบางกลุ่มเชื่อว่าโทริอิมีวิวัฒนาการมาจากซุ้มประตู "โตรณะ" ที่พบในสถาปัตยกรรมอินเดีย[3]
โทริอิ มีความหมายว่า "ที่ของนก" ในญี่ปุ่น มีความเชื่อว่า นกถือเป็นสัตว์ที่มีความเกี่ยวข้องกับโลกหลังความตาย ซึ่งความเชื่อนี้อาจจะมาจากบันทึกโบราณ โคจิกิ และ นิฮงโชะกิ ที่กล่าวถึงพิธีศพของ ยะมะโตะ ทะเกะรุ โอรสในจักรพรรดิเคโกในตำนาน ว่าเมื่อทะเกะรุสิ้นชีพิตักษัยแล้ว ได้ปรากฏร่างนกสีขาวและบินไปเลือกสถานที่ฝังศพของตนเอง ด้วยเหตุนี้ สถานที่ฝังศพของเขาจึงถูกเรียกว่า ชิระโทะริ มิซะซะงิ (白鳥陵?, สุสานนกสีขาว)
รูปแบบ
[แก้]โทริอิมีอยู่หลายแบบ ซึ่งแบบที่ง่ายที่สุดคือแบบ ชิเมะโทริอิ หรือ ชูเร็นโทริอิ (注連鳥居) โดยโทริอินั้น สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ ชิมเม (神明) และ เมียวจิน (明神)
ประเภท ชิมเม
[แก้]-
ชิมเม โทริอิ แบบไม่มีคาน
-
ชิมเม โทริอิ แบบมีคาน
-
อิเซะ โทริอิ
-
คะชิมะ โทริอิ
-
คะซุงะ โทริอิ
-
ฮะชิมัน โทริอิ
-
มิฮะชิระ โทริอิ
ประเภท เมียวจิน
[แก้]-
เมียวจิน โทริอิ
-
นะกะยะมะ โทริอิ
-
ไดวะ โทริอิ หรือ อินะริ โทริอิ
-
เรียวบุ โทริอิ
-
มิวะ โทริอิ
-
อุซะ โทริอิ
-
นุเอะ โทริอิ'
-
ซันโน โทริอิ
-
ฮิเซ็น โทริอิ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 "JAANUS". Torii. สืบค้นเมื่อ 14 January 2010.
- ↑ "Historical Items about Japan". Michelle Jarboe. 2007-05-11. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-06. สืบค้นเมื่อ 2010-02-10.
- ↑ Albert Henry Longhurst (1992). The Story of the Stūpa. Asian Educational Services. p. 17. ISBN 978-81-206-0160-4.