โครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลปริภูมิ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

โครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลปริภูมิ (อังกฤษ: Spatial data infrastructure, SDI) เป็นคำที่นำมาใช้เรียกแนวทางการพัฒนา ระบบภูมิสารสนเทศ โดยมาจากคำในภาษาอังกฤษ มีระดับของแนวทางการพัฒนาที่หลากหลาย ตั้งแต่ระดับโลก (Global), ระดับภูมิภาค (Regional) และลงไปในระดับที่ใช้เป็นแนวทางการจัดการในระดับโครงการ (Project) ในบางครั้งการนำคำนี้มาใช้ในภาษาไทยอาจเรียกว่า โครงสร้างพื้นฐานภูมิสารสนเทศ ก็ได้ ทั้งนี้เพราะคำว่า Spatial Data นั้นมีการใช้คำในภาษาไทยซึ่งเป็นที่เข้าใจตรงกันหลาย ๆ คำ เช่น ข้อมูลปริภูมิ หรือ ข้อมูลเชิงปริภูมิ, ข้อมูลภูมิสารสนเทศ, ข้อมูลเชิงพื้นที่ เป็นต้น โดยคำทั้งหมดที่กล่าวมานั้น เป็นที่เข้าใจตรงกันว่า หมายถึงข้อมูลที่มีการอ้างอิงทางตำแหน่งบนผิวโลก เช่นเดียวกับคำว่าข้อมูลในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์

แนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานปริภูมิ ประกอบด้วยแนวทาง 4 ด้านที่สำคัญได้แก่

  1. กรอบนโยบายการบริหารจัดการ (Institutional frame work) กล่าวถึงเรื่องนโยบาย (Policy)
  2. ชั้นข้อมูลพื้นฐาน (Fundamental Datasets) ซึ่งในที่นี้จะหมายถึงชั้นข้อมูลภูมิสารสนเทศพื้นฐาน ที่เป็นข้อมูลปฐมภูมิ หรือชั้นข้อมูลที่จะถูกนำไปอ้างอิงโดยชั้นข้อมูลอื่น ๆ
  3. มาตรฐาน (Technical Standard) หรือมาตรฐานทางวิชาการ ซึ่งจะเป็นเรื่องของข้อกำหนด หลักการ หรือแบบแผนเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ภายในโครงสร้างพื้นฐานภูมิสารสนเทศของชาติ (National Spatial Data Infrastructure, NSDI) เช่น มาตรฐานข้อมูลอภิพันธุ์ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยใช้แบบแผนตามมาตรฐาน ISO/TC211[1] โดยประกาศเป็นมาตรฐานของประเทศไทย[2] ชื่อว่ามาตรฐานสารสนเทศภูมิศาสตร์ - การอธิบายข้อมูล (Geographic information - metadata) มอก. 19115-2548
  4. เครือข่ายเพื่อการเข้าถึงข้อมูล (Access Network) หรือกลไกที่จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึง หรือสืบค้นหาข้อมูลภูมิสารสนเทศตามที่ต้องการได้ โดยผ่านทางระบบหน่วยงานกลางที่เรียกว่า เคลียริงเฮาส์ (Clearinghouse) ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นเสมือนศูนย์กลางที่จัดเก็บดัชนีของรายการข้อมูลอภิพันธุ์ เพื่อช่วยในการค้นหาข้อมูลภูมิสารสนเทศตามที่ผู้ใช้ต้องการ

อ้างอิง[แก้]

  1. "ISO/TC 211 Geographic information/Geomatics". www.iso.org.
  2. แก้ว นวลฉวี. "มาตรฐานภูมิสารสนเทศของประเทศไทย" (PDF). สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ.