โกปัน
แหล่งอารยธรรมมายาที่โกปัน * | |
---|---|
แหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก | |
พิกัด | 14°50′17.9″N 89°08′30.5″W / 14.838306°N 89.141806°W |
ประเทศ | ฮอนดูรัส |
ภูมิภาค ** | ลาตินอเมริกาและแคริบเบียน |
ประเภท | มรดกทางวัฒนธรรม |
เกณฑ์พิจารณา | (iv), (vi) |
อ้างอิง | 129 |
ประวัติการขึ้นทะเบียน | |
ขึ้นทะเบียน | 1980 (คณะกรรมการสมัยที่ 4) |
พื้นที่ | 15.095 ha (37.30 เอเคอร์) |
พื้นที่กันชน | 258.365 ha (638.43 เอเคอร์) |
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีแหล่งมรดกโลก ** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก |
โกปัน (สเปน: Copán) เป็นโบราณสถานของอารยธรรมมายาในจังหวัดโกปันทางภาคตะวันตกของประเทศฮอนดูรัส อยู่ไม่ไกลนักจากชายแดนประเทศกัวเตมาลา นครมายาโบราณแห่งนี้สะท้อนความงามของภูมิประเทศบริเวณที่เมืองเคยเจริญรุ่งเรือง ซึ่งเป็นหุบเขาที่มีดินน้ำอุดมสมบูรณ์ที่ระดับความสูง 600 เมตร (2,400 ฟุต) เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง[2] โกปันเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรสำคัญสมัยคลาสสิกอาณาจักรหนึ่งตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 5 ถึง 9 ทางตะวันออกเฉียงใต้สุดของภูมิภาควัฒนธรรมมีโซอเมริกาต่อเขตภูมิภาควัฒนธรรมคอคอด–โคลอมเบีย และมีกลุ่มชนนอกอารยธรรมมายารายล้อมอยู่เกือบทุกด้าน[3]
มีผู้อยู่อาศัยอยู่ในโกปันนานกว่าสองพันปีตั้งแต่สมัยก่อนคลาสสิกตอนต้นจนถึงสมัยหลังคลาสสิก เมืองได้พัฒนารูปแบบทางประติมากรรมที่โดดเด่นตามกรอบประเพณีของชาวมายาที่ลุ่ม ซึ่งอาจจะเป็นไปเพื่อเน้นความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์มายาของผู้ปกครองเมือง
เมืองนี้มีบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่ครอบคลุมส่วนใหญ่ของสมัยคลาสสิกและได้รับการสืบสร้างขึ้นอย่างละเอียดโดยนักโบราณคดีและนักอ่านจารึกโบราณ[3] โกปันเคยเป็นเมืองที่มีอำนาจปกครองอาณาจักรอันกว้างใหญ่ภายในพื้นที่ทางใต้ของอารยธรรมมายา[4] เมืองประสบภัยพิบัติทางการเมืองครั้งใหญ่ใน ค.ศ. 738 เมื่อวาชักลาฆูน อูบาฮ์ กาวีล หนึ่งในกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ราชวงศ์ของโกปัน ทรงถูกจับและปลงพระชนม์โดยกษัตริย์แห่งกิริกัวซึ่งเป็นอดีตเมืองขึ้นของพระองค์[5] ความพ่ายแพ้ที่ไม่คาดคิดนี้ส่งผลให้เมืองประสบภาวะชะงักงันนานถึง 17 ปี ในช่วงเวลานี้โกปันอาจกลายเป็นเมืองขึ้นของกิริกัวจากการพลิกผันของโชคชะตา[6]
ส่วนสำคัญของด้านทิศตะวันออกของอัครปุระโกปันถูกกระแสน้ำในแม่น้ำโกปันกัดเซาะพังทลาย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจึงมีการเบี่ยงเส้นทางเดินของแม่น้ำเพื่อปกป้องแหล่งโบราณคดีจากความเสียหายเพิ่มเติม[3]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Martin & Grube 2000, p. 209.
- ↑ Fash, William L. "Copán." In Davíd Carrasco (ed). The Oxford Encyclopedia of Mesoamerican Cultures. : Oxford University Press, 2001. ISBN 9780195188431
- ↑ Martin & Grube2000, pp. 203–205; Looper 2003, p. 76; Miller 1999, pp. 134–135.
- ↑ Martin & Grube2000, pp. 206–207.
บรรณานุกรม
[แก้]- Looper, Matthew G. (2003). Lightning Warrior: Maya Art and Kingship at Quirigua. Linda Schele series in Maya and pre-Columbian studies. Austin: University of Texas Press. ISBN 0-292-70556-5. OCLC 52208614.
- Martin, Simon; Grube, Nikolai (2000). Chronicle of the Maya Kings and Queens: Deciphering the Dynasties of the Ancient Maya. London and New York: Thames & Hudson. ISBN 0-500-05103-8. OCLC 47358325.
- Miller, Mary Ellen (1999). Maya Art and Architecture. London and New York: Thames & Hudson. ISBN 0-500-20327-X. OCLC 41659173.
- Sharer, Robert J.; Traxler, Loa P. (2006). The Ancient Maya (6th (fully revised) ed.). Stanford, CA: Stanford University Press. ISBN 0-8047-4817-9. OCLC 57577446.