ข้ามไปเนื้อหา

แฮร์แบร์ท ฟ็อน คารายัน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แฮร์แบร์ท ฟ็อน คารายัน
คารายันใน ค.ศ. 1938
ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อเกิดแฮร์แบร์ท ริทเทอร์ ฟ็อน คารายัน
เกิด5 เมษายน ค.ศ. 1908
ซัลทซ์บวร์ค ออสเตรีย
เสียชีวิต16 กรกฎาคม ค.ศ. 1989
อานิฟ ซัลทซ์บวร์ค ออสเตรีย
แนวเพลงดนตรีคลาสสิก
อาชีพผู้อำนวยเพลง
เครื่องดนตรีเปียโน
ช่วงปีค.ศ. 1929–1989

แฮร์แบร์ท ริทเทอร์ ฟ็อน คารายัน (เยอรมัน: Herbert Ritter von Karajan) สมญานาม จักรพรรดิแห่งเลกาโต (The Emperor of Legato) เป็นผู้อำนวยเพลงชาวออสเตรีย มีชื่อเสียงในฐานะผู้อำนวยวงออร์เคสตราและโอเปรา โดยเฉพาะวงเวียนนาฟิลฮาร์มอนิกและเบอร์ลินฟิลฮาร์มอนิก

คารายันมีผลงานอำนวยเพลงบันทึกเสียงกับทั้งสองวงเป็นจำนวนมาก มียอดขายอัลบั้มกว่า 200 ล้านแผ่น[1] นับเป็นนักดนตรีคลาสสิกที่มียอดขายสูงสุดตลอดกาล และได้รับการยกย่องว่าเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลต่อวงการดนตรีคลาสสิกในคริสต์ศตวรรษที่ 20 นอกจากนี้ยังเป็นศิลปินคนแรกที่บันทึกเสียงอัลบัมวางตลาดด้วยคอมแพ็กต์ดิสก์เมื่อปี 1981 [2]

ประวัติ

[แก้]

ตระกูลคารายันมีเชื้อชายกรีกและมาซีโดเนีย ปู่ทวดของแฮร์แบร์ทเกิดในเมืองโคซานี จักรวรรดิออตโตมัน (ปัจจุบันอยู่ในประเทศกรีซ) และอพยพมายังเวียนนาในปี 1767 และตัดสินใจลงหลักปักฐานในเมืองเค็มนิทซ์ ราชรัฐซัคเซิน ตระกูลคารายันมีส่วนในการจัดตั้งอุตสาหกรรมทอผ้าในเมืองเค็มนิทซ์ และแล้วในปี 1792 ตระกูลคารายันก็ได้รับฐานันดรขุนนางชั้นอัศวินจากพระเจ้าฟรีดริช เอากุสท์ที่ 1 แห่งซัคเซิน โดยสามารถเติมคำว่า von ลงในนามสกุล

แฮร์แบร์ท เกิดที่เมืองซัลทซ์บวร์ค จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี เป็นบุตรคนที่สองครอบครัว[3][4] แฮร์แบร์ทเป็นเด็กที่มีพรสวรรค์ในการเล่นเปียโน[5] ระหว่างปี 1916 ถึง 1926 เขาเรียนวิชาดนตรีที่มหาวิทยาลัยโมซาร์ทเทอุมแห่งซัลทซ์บวร์ค และได้รับการแนะนำให้ศึกษาวิชาวาทยกรรม เขาจบการศึกษาที่นี่ในปี 1926 และเข้าศึกษาวิชาเปียโนและวาทยกรรมต่อที่วิทยาลัยเวียนนา[6]

ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง

[แก้]

คารายันขึ้นแสดงครั้งแรกในฐานะวาทยกรในปี 1929 ที่เมืองซัลทซ์บวร์ค การแสดงครั้งนั้นได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากผู้จัดการใหญ่ของโรงละครแห่งชาติของเมืองอุล์ม คารายันจึงได้รับการทาบทามและได้รับตำแหน่งผู้ช่วยครูเพลงของโรงละครดังกล่าว ต่อมา เมื่อครูเพลงของโรงละครจำต้องลี้ภัยทางการเมืองออกจากเยอรมนีในปี 1933 จากการขึ้นสู่อำนาจของพรรคนาซี คารายันจึงได้รับแต่งตั้งเป็นครูเพลงคนใหม่

คารายันก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในปี 1935 เมื่อเขากลายเป็น ผู้อำนวยเพลง (Generalmusikdirektor) ที่อายุน้อยที่สุดของประเทศเยอรมนี ประจำอยู่ที่เมืองอาเคิน นอกจากนี้ ยังได้รับเชิญเป็นวาทยกรอาคันตุกะที่เมืองบูคาเรสต์, บรัสเซลส์, สตอกโฮล์ม, อัมสเตอร์ดัม และปารีส ต่อมาในปี 1938 เขาได้ขึ้นแสดงเป็นครั้งแรกกับวงเบอร์ลินฟิลฮาร์มอนิก และวงดุริยางค์รัฐเบอร์ลิน เขาได้รับเสียงชื่นชมอย่างล้นหลามจากนักวิจารณ์ในเบอร์ลิน และถูกเรียกว่า "คารายันผู้อัศจรรย์" (Das Wunder Karajan) คารายันกลายเป็นวาทยกรในระดับเดียวกับวิลเฮ็ล์ม ฟวร์ทเว็งเลอร์ และวิคตอร์ เดอ ซาบาตา สองวาทยกรผู้ยิ่งใหญ่ในเยอรมนีขณะนั้น

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง

[แก้]

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง คารายันกลับสู่วงการดนตรีในปี 1946 แม้ว่าเขาเผชิญกับข้อกล่าวหาว่าเป็นนาซี ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานชั่วคราว แต่ด้วยความสามารถทางดนตรีที่โดดเด่น เขาสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว และในปี 1947 เขาได้อำนวยเพลงครั้งแรกที่ La Scala ในนครมิลาน ซึ่งถือเป็นการเปิดตัวในระดับนานาชาติครั้งใหม่ของเขา หลังจากนั้นไม่นาน เขาก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นวาทยกรประจำวงดุริยางค์ซิมโฟนีเวียนนา (Vienna Symphony Orchestra) และวงดุริยางค์ฟิลฮาร์โมนิกแห่งกรุงลอนดอน (London Philharmonic Orchestra)

จุดสำคัญในอาชีพของคารายานมาถึงในปี 1955 เมื่อเขาได้รับตำแหน่งวาทยกรประจำวงเบอร์ลินฟิลฮาร์โมนิก ซึ่งเป็นความร่วมมือที่ยาวนานถึง 35 ปี การทำงานของเขากับวงเบอร์ลินฟิลฮาร์โมนิกได้กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกด้วยความสมบูรณ์แบบและความประณีตในการอำนวยเพลง ซึ่งวงนี้กลายเป็นหนึ่งในวงดนตรีออร์เคสตราชั้นนำของโลกภายใต้การนำของเขาในช่วงนี้ คารายันยังให้ความสำคัญกับการบันทึกเสียงและสื่อสมัยใหม่ โดยได้ร่วมงานกับบริษัทบันทึกเสียงอย่างด็อยท์เชอกรัมโมโฟน และเป็นผู้นำในการใช้เทคโนโลยีการบันทึกเสียงระดับสูง ทำให้เขากลายเป็นหนึ่งในวาทยกรที่บันทึกผลงานมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ผลงานเหล่านี้ยังคงได้รับการยกย่องอย่างต่อเนื่องในวงการดนตรีคลาสสิก

นอกจากนี้ คารายานยังมีบทบาทสำคัญในงานเทศกาลซัลทซ์บวร์ค และเทศกาลปาสควาในอิตาลี ซึ่งเป็นเวทีสำคัญสำหรับการนำเสนอผลงานดนตรีที่ยอดเยี่ยมของเขา คารายันถือเป็นสัญลักษณ์ของความสมบูรณ์แบบในด้านการอำนวยเพลง และอิทธิพลของเขายังคงอยู่ในวงการดนตรีคลาสสิกแม้หลังจากการเสียชีวิตในปี 1989 ความสามารถและผลงานของเขายังคงเป็นที่จดจำและยกย่องอย่างสูงในประวัติศาสตร์ดนตรี

อ้างอิง

[แก้]
  1. The Life and Death of Classical Music by Norman Lebrecht, p. 137.
  2. “How the CD was developed.” BBC News. Database online. Available from http://news.bbc.co.uk/2/hi/technology/6950933.stm; Internet. Accessed 3 March 2009.
  3. "Herbert von Karajan – His Life". www.karajan.org. สืบค้นเมื่อ 2019-09-27.[ลิงก์เสีย]
  4. Osborne 2000, p. [ต้องการเลขหน้า]
  5. แฮร์แบร์ท ฟ็อน คารายัน ที่สารานุกรมบริตานิกา
  6. Artist Biography by David Brensilver, สืบค้นเมื่อ 31 May 2014

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]