แอลช์บีแยตาแห่งโปแลนด์ สมเด็จพระราชินีแห่งฮังการี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แอลช์บีแยตาแห่งโปแลนด์
พระราชินีแอลช์บีแยตาแห่งฮังการีกับพระโอรสทั้งห้าจากเอกสารคริสต์ศตวรรษที่ 15
พระราชินีคู่สมรสแห่งฮังการี
ครองราชย์ค.ศ. 1320–1342
ประสูติค.ศ. 1305
สิ้นพระชนม์29 ธันวาคม ค.ศ. 1380 (74–75 พรรษา)
พระสวามีพระเจ้ากาโรยที่ 1 แห่งฮังการี
พระบุตรพระเจ้าลอโยชที่ 1 แห่งฮังการีและโปแลนด์
อ็อนดราช ดยุคแห่งคาลาเบรีย
อิสต์วาน ดยุคแห่งสลาโวเนีย
กาโรยแห่งฮังการี
ววาดึสวัฟแห่งฮังการี
ราชวงศ์เปียสต์
พระบิดาพระเจ้าววาดึสวัฟที่ 1 แห่งโปแลนด์
พระมารดายัดวีกาแห่งกาลิช สมเด็จพระราชินีแห่งฮังการี

แอลช์บีแยตาแห่งโปแลนด์ (โปแลนด์: Elżbieta Łokietkówna) เป็นพระราชินีแห่งฮังการีจากการอภิเษกสมรสกับพระเจ้ากาโรยที่ 1 แห่งฮังการี และเป็นผู้สำเร็จราชการแห่งโปแลนด์ระหว่าง ค.ศ. 1370–1376 ให้แก่พระเจ้าลอโยชที่ 1 แห่งฮังการี พระโอรส

พระราชประวัติ[แก้]

พิธีอภิเษกสมรสกับกษัตริย์แห่งฮังการีของแอลช์บีแยตาจากเอกสารคริสต์ศตวรรษที่ 14

แอลช์บีแยตาแห่งโปแลนด์เสด็จพระราชสมภพราวปี ค.ศ. 1305 เป็นพระธิดาของพระเจ้าววาดึสวัฟที่ 1 แห่งโปแลนด์กับพระราชินียัดวีกาแห่งกาลิช มีพระเชษฐภคินีหนึ่งคนคือกูแนกุนดา และมีพระอนุชาหนึ่งคนคือกาชีมีแยช พระบิดาของพระองค์ได้รับการสวมมงกุฎเป็นกษัตริย์แห่งโปแลนด์ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1320 ต่อมาในปีเดียวกันแอลช์บีแยตาแต่งงานเป็นพระมเหสีคนที่สามของพระเจ้ากาโรย (ชาร์ล) ที่ 1 แห่งฮังการี การแต่งงานดังกล่าวทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างโปแลนด์กับฮังการีแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นและเป็นยุคแห่งความร่วมมือกันอันยาวนาน โดยเฉพาะในด้านการค้าและการเมือง ระหว่างสองราชอาณาจักร พระเจ้ากาโรยไม่มีพระโอรสธิดาที่มีชีวิตรอดแม้จะแต่งงานมาแล้วสองครั้ง และพระองค์ยังเป็นกษัตริย์แห่งฮังการีคนแรกของราชวงศ์อ็องฌู แอลช์บีแยตาให้กำเนิดพระโอรสห้าคน สร้างความมั่นคงให้แก่อนาคตของราชวงศ์อ็องฌูในฮังการี พระโอรสสองคนแรกของแอลช์บีแยตาสิ้นพระชนม์ในวัยเด็ก แต่อีกสามคน คือ ลอโยช (หลุยส์), อ็อนดราช (อ็องเดร) และอิสต์วาน (เอเตียน) สิ้นพระชนม์หลังพระบิดา

เหตุการณ์ซาห์[แก้]

ภาพ "ความโกรธของแฟลิตเซียน ซาห์" วาดในคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยโชมอ โอร์ล็อย แปตริตช์

วันที่ 17 เมษายน ค.ศ. 1330 เกิดเหตุการณ์ที่มีชื่อว่า "เหตุการณ์ซาห์" ที่ทำให้แอลช์บีแยตากับครอบครัวเกือบเอาชีวิตไม่รอด กษัตริย์, พระราชินี และลอโยชกับอ็อนดราช สองพระโอรสที่ยังเล็กกำลังเสวยมื้อเย็นกันอยู่ที่พระราชวังวิแซกราด ในตอนนั้นเองที่แฟลิตเซียน ซาห์ อัศวินฮังการีผู้ทรงอำนาจบุกเข้ามาและพยายามจะฆ่าครอบครัวของกษัตริย์ แอลช์บีแยตาถูกโจมตีจนได้รับบาดเจ็บสาหัส เสียนิ้วมือข้างขวาไปสี่นิ้ว ขณะที่พระองค์กำลังพยายามปกป้องพระโอรสทั้งสองที่ยังคงไร้ซึ่งบาดแผล องครักษ์ก็ได้สังหารซาร์ทันที

ไม่มีใครรู้ถึงแรงบันดาลใจในการพยายามลอบสังหารของซาห์ในครั้งนี้ เรื่องเล่าส่วนใหญ่ต่างบอกว่าแอลช์บีแยตาและกาชีมีแยช พระอนุชาของพระองค์มีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ซาห์ โดยเล่าว่ากาชีมีแยชได้แวะมาที่ราชสำนักฮังการีและได้ล่อลวงหรือไม่ก็ข่มขืนกลารอ บุตรสาวของซาห์ที่เป็นนางกำนัลของแอลช์บีแยตา กว่าซาห์จะทราบเรื่องกาชีมีแยชก็กลับโปแลนด์ไปแล้ว แต่ซาห์เชื่อว่าแอลช์บีแยตาช่วยพระอนุชาล่อลวงบุตรสาวของตน ด้วยความต้องการที่จะแก้แค้นให้กับเกียรติของบุตรสาวที่ถูกขโมยไป ซาห์จึงพยายามสังหารครอบครัวของกษัตริย์ทุกคนโดยมีแอลช์บีแยตาเป็นเป้าหมายหลัก หลังความพยายามล้มเหลว กษัตริย์ได้ทรมานสมาชิกในครอบครัวและญาติใกล้ชิดของซาห์ รวมถึงกลารอ จนเสียชีวิต ญาติที่อยู่ห่างออกไปถูกริบทรัพย์สินที่ดินทั้งหมด กาชีมีแยชกลายเป็นกษัตริย์แห่งโปแลนด์ในปี ค.ศ. 1333

แอลช์บีแยตากับเนเปิลส์[แก้]

ภาพวาดการประสูติของลอโยชในพงศาวดารภาพ

ในช่วงที่พระเจ้ากาโรยแห่งฮังการียังมีชีวิตอยู่ แอลช์บีแยตาได้ปกปิดความทะเยอทะยานทางการเมืองของพระองค์ไว้ อย่างไรก็ดี พระองค์เป็นพระราชินีคู่สมรสที่มีบทบาทและเริ่มทำกิจกรรมโปรดอย่างหนึ่งของพระองค์ คือ การก่อตั้งสถานที่ทางศาสนาในช่วงที่พระสวามียังมีชีวิต โบสถ์หลายแห่งในฮังการีเปิดในช่วงที่แอลช์บีแยตามีชีวิตและติดหนี้บุญคุณพระองค์ วันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 1342 พระเจ้ากรอยสิ้นพระชนม์ ลอโยช พระโอรสวัย 16 พรรษาขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งฮังการีคนใหม่ อิทธิพลของแอลช์บีแยตาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และพระองค์จะยังคงเป็นหนึ่งในบุคคลที่ทรงอำนาจที่สุดตลอดช่วงเวลาส่วนใหญ่ในรัชสมัยของพระโอรส ตลอดชีวิตที่เหลือ พระนางเป็นที่ปรึกษาที่ไว้ใจได้ที่สุดของพระเจ้าลอโยช

พระโอรสของแอลช์บีแยตาและพระเจ้ากาโรยต่างแต่งงานเพื่อผลประโยชน์ อ็อนดราช พระโอรสคนที่สองแต่งงานกับโจวันนาแห่งเนเปิลส์ที่เป็นสมาชิกราชวงศ์อ็องฌูเช่นกัน มีการวางแผนที่จะให้ลอโยชแต่งงานกับมารีอา น้องสาวของโจวันนา ทว่าหลังพระสวามีสิ้นพระชนม์ได้ไม่นาน แอลช์บีแยตาจับลอโยชแต่งงานกับมาร์กาเร็ตแห่งโบฮีเมีย อิสต์วาน พระโอรสคนเล็กแต่งงานกับมาร์กาเร็ต พระธิดาของจักรพรรดิลูทวิชที่ 4 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ กาโรยให้อ็อนดราชแต่งงานกับโจวันนาโดยให้เงื่อนไขว่าทั้งคู่ต้องได้เป็นพระมหากษัตริย์ของเนเปิลส์ร่วมกัน ทว่าเมื่อพระเจ้าโรแบร์โตแห่งเนเปิลส์ พระอัยกาของโจวันนาสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1343 ทรงยกเนเปิลส์ให้โจวันนาคนเดียวโดยไม่ได้กล่าวถึงอ็อนดราช โจวันนาได้รับการสวมมงกุฎเป็นกษัตริย์แห่งเนเปิลส์เพียงผู้เดียว เรื่องนี้ทำให้แอลช์บีแยตากับพระโอรสของพระองค์โกรธเกรี้ยวมาก

ภาพการลอบปลงพระชนม์อ็อนดราช ดยุคแห่งคาลาเบรีย วาดโดยคาร์ล บรูยล์ลอฟ

เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1343 แอลช์บีแยตาเดินทางไปเนเปิลส์พร้อมกับขบวนขุนนางฮังการีเพื่อต่อสู้เรียกร้องสิทธิ์ให้พระโอรส พระองค์พยายามติดสินบนสมเด็จพระสันตะปาปาเพื่อให้พระองค์อนุมัติให้อ็อนดราชได้รับการสวมมงกุฎ ทรงใช้เวลาหลายเดือนตระเวนไปทั่วอิตาลีเพื่อหาผู้สนับสนุนการราชาภิเษกของพระโอรส สุดท้ายทรงเดินทางกลับฮังการีด้วยความเชื่อว่าอ็อนดราชจะได้รับการยอมรับเป็นผู้ปกครองร่วมของพระราชินีนาถโจวันนา ทรงทิ้งอ็อนดราชไว้กับแหวนที่เชื่อว่าสามารถปกป้องพระองค์จากคมดาบและยาพิษได้ แต่ความพยายามของพระองค์สูญเปล่า อ็อนดราชถูกลอบปลงพระชนม์ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1345

แม้ทุกวันนี้จะยังคงไม่รู้ว่าใครคือผู้ร้ายตัวจริงที่สังหารอ็อนดราช แต่แอลช์บีแยตากับพระเจ้าลอโยชเชื่อว่าเป็นฝีมือของพระราชินีนาถโจวันนา ทั้งคู่เรียกร้องให้ริบราชอาณาจักรมาจากพระราชินีนาถโจวันนา เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1346 แอลช์บีแยตาเขียนจดหมายถึงสมเด็จพระสันตะปาปาที่ "ดูคล้ายกับการประกาศสงคราม" พระเจ้าลอโยชบุกเนเปิลส์ในปีต่อมาเพื่อยึดเอาตำแหน่งของพระราชินีนาถโจวันนา สุดท้ายการรุกรานของพระองค์ไม่ประสบความสำเร็จ ทรงเดินทางกลับฮังการี

ที่ปรึกษาที่ไว้ใจได้ที่สุดของกษัตริย์[แก้]

ปี ค.ศ. 1349 กาฬโรคระบาดในฮังการี สังหารมาร์กาเร็ต พระมเหสีสาวของพระเจ้าลอโยช พระเจ้าลอโยชยังไม่มีพระโอรสธิดาจึงจำเป็นต้องแต่งงานใหม่ เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1353 พระเจ้าลอโยชอภิเษกสมรสกับเอลิซาเบธแห่งบอสเนีย การแต่งงานครั้งนี้อาจมาจากการจัดแจงของแอลช์บีแยตาแห่งโปแลนด์ พระสุณิสาคนใหม่ของแอลช์บีแยตาดูจะอยู่ใต้อำนาจของพระองค์อย่างเบ็ดเสร็จและไม่มีราชสำนักเป็นของตัวเอง หลาย ๆ เหตุการณ์ในเวลาต่อมาทำให้มองได้ว่าพระราชินีแอลช์บีแยตาผู้โด่งดังมีอิทธิพลต่อเอลิซาเบธอย่างมาก

อิสต์วาน พระโอรสคนเล็กของแอลช์บีแยตาตกจากหลังม้าสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1354 ในบรรดาพระโอรสธิดาห้าคนของพระองค์ มีพระเจ้าลอโยชคนเดียวที่ยังมีชีวิตอยู่ พระเจ้าลอโยชกับแอลช์บีแยตาสนิทสนมกันมาก พระเจ้าลอโยชรีบออกตัวปกป้องพระมารดาทันทีเมื่อจักรพรรดิคาร์ลที่ 4 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์เรียกพระนางว่า "หญิงไร้ยางอาย" พระเจ้าลอโยชโกรธจัดและเรียกร้องให้จักรพรรดิขอโทษ แอลช์บีแยตามักทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในช่วงที่พระโอรสไม่อยู่ในราชอาณาจักร

ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแห่งโปแลนด์[แก้]

พระเจ้ากาชีมีแยชที่ 3 แห่งโปแลนด์ พระอนุชาของแอลช์บีแยตาไม่มีพระโอรสและมองว่าแอลช์บีแยตาและพระเจ้าลอโยชเป็นทายาทของตน เมื่อสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1370 โดยมีเพียงพระธิดาจากการแต่งงานครั้งที่สี่ที่ยังเล็กสองคน แต่เป็นที่คลางแคลงใจว่าทั้งคู่เป็นพระธิดาตามกฎหมายหรือไม่เนื่องจากพระมเหสีคนที่สองยังมีชีวิตอยู่ พระเจ้ากาชีมีแยชยังมีพระธิดาจากการแต่งงานครั้งแรกอีกสองคนที่สิ้นพระชนม์ไปก่อนพระองค์ คนหนึ่งมีบุตรทิ้งไว้ แต่พระเจ้ากาชีมีแยชเลือกลอโยช พระภาคิไนย เป็นทายาทแทนที่จะเป็นพระนัดดา ถึงแม้พระมารดาจะเป็นชาวโปแลนด์ แต่ลอโยชพูดภาษาโปแลนด์ไม่ได้และไม่ค่อยได้ไปเยือนโปแลนด์ เมื่อลอโยชได้รับการสวมมงกุฎเป็นกษัตริย์แห่งโปแลนด์ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1370 ไม่นานพระองค์ก็เดินทางกลับฮังการี แอลช์บีแยตายังคงอยูในโปแลนด์เพื่อเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน

แอลช์บีแยตาไม่ได้รับความนิยมในบ้านเกิดของพระองค์ ขุนนางโปแลนด์เรียกพระองค์ว่า "พระราชินีนิ้วกุด" เป็นการล้อเลียนบาดแผลจากเหตุการณ์ซาห์เมื่อหลายปีก่อน ทรงพาชาวฮังการีมากมายมาอยู่กับพระองค์ เป็นสาเหตุให้ชาวโปแลนด์ไม่พอใจ ขณะเดียวกันพระโอรสของพระองค์กำลังตกอยู่ในสถานการณ์เช่นเดียวกันกับพระเจ้ากาชีมีแยช พระเจ้าลอโยชยังไม่มีพระโอรสธิดา แต่สุดท้ายพระมเหสีของพระองค์ก็ให้กำเนิดพระธิดาสามคนในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1370 เนื่องจากไม่มีพระโอรส แอลช์บีแยตาจึงสำเร็จราชการในโปแลนด์เพื่อรักษาสิทธิ์ไว้ให้พระนัดดา

ในช่วงที่แอลช์บีแยตาสำเร็จราชการมีเหตุโจรกรรมและฉกชิงทรัพย์มากมายในราชอาณาจักร เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1375 พระองค์กลับไปฮังการีเพื่ออยู่ใกล้พระเจ้าลอโยชที่กำลังต่อสู้กับโรคร้ายที่ว่ากันว่าคล้ายคลึงกับโรคเรื้อน ทว่าทรงเดินทางกลับโปแลนด์ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1376 แต่อยู่ได้ไม่นาน ฤดูใบไม้ร่วงปีนั้น เจ้าชายลิทัวเนียบุกโปแลนด์ เผาหมู่บ้านและจับชาวบ้านเป็นนักโทษ แอลช์บีแยตาถูกกล่าวหาว่าไม่ยอมฟังคำเตือนเรื่องการโจมตีครั้งนี้ วันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1376 เกิดเหตุทะเลาะวิวาทในกรากุฟระหว่างชาวโปแลนด์กับชาวฮังการีในราชสำนักของแอลช์บีแยตาอันนำไปสู่การสังหารหมู่ที่ชาวฮังการีหลายคนของแอลช์บีแยตาถูกสังหาร ด้วยความหวาดกลัวว่าชีวิตจะตกอยู่ในอันตราย แอลช์บีแยตาหนีไปฮังการีด้วยความอับอายขายหน้า

บั้นปลายชีวิต[แก้]

แอลช์บีแยตาเกษียณตัวไปใช้ชีวิตในทางศาสนาหลังสิ้นสุดการสำเร็จราชการแผ่นดิน แต่ดูเหมือนพระองค์จะไม่เคยรับคำปฏิญาณตนอย่างเป็นทางการ ในช่วงสี่ปีสุดท้ายพระองค์พอจะมีบทบาทในการเมืองของโปแลนด์อยู่บ้าง ทรงกลับไปโปแลนด์ครั้งสุดท้ายในปี ค.ศ. 1379 เพื่อช่วงรักษาสิทธิ์ในราชบัลลังก์โปแลนด์ให้พระนัดดา ในช่วงใกล้วาระสุดท้ายของชีวิต ดูเหมือนพระองค์จะยังคงมีบทบาทอยู่ ทรงเดินทางกลับฮังการีในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1380 แอลช์บีแยตาสิ้นพระชนม์ในวันที่ 29 ธันวาคม ค.ศ. 1380 ด้วยพระชนมายุราว 75 พรรษา นับว่าทรงอายุยืนมากเมื่อเทียบกับมาตรฐานของคริสต์ศตวรรษที่ 14 ร่างของพระองค์ถูกฝังในอารามนักบุญกีอาราในบูดอ หนึ่งในสถานที่ทางศาสนาที่พระองค์ก่อตั้ง พระเจ้าลอโยช พระโอรสที่รอดชีวิตเพียงคนเดียวของพระองค์สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1382

อ้างอิง[แก้]