แสงสุรีย์ รุ่งโรจน์
แสงสุรีย์ รุ่งโรจน์ | |
---|---|
ชื่อจริง | แสงสุรีย์ รุ่งโรจน์ |
เกิด | 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2496 (64 ปี) |
แหล่งกำเนิด | อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา ประเทศไทย |
แนวเพลง | ลูกทุ่ง |
ค่ายเพลง |
|
แสงสุรีย์ รุ่งโรจน์ เป็นนักร้องลูกทุ่งชายที่มีน้ำเสียงไพเราะเพราะพริ้ง แม้หน้าตาอาจจะไม่ค่อยหล่อเหลาสักเท่าใดนัก เส้นทางการขึ้นมาเป็นนักร้องของเขาออกจากแตกต่างจากนักร้องลูกทุ่งรุ่นเดียวกันหรือรุ่นก่อนหน้านั้นอยู่มาก เพราะเขามีผลงานเพลงโด่งดังขึ้นมาโดยที่ไม่เคยเป็นนักร้องอยู่กับวงลูกทุ่งใดๆเลย แสงสุรีย์ รุ่งโรจน์ โด่งดังมาจากผลงานเพลงแรกที่เขาบันทึกเสียงคือ "แห่ขันหมาก" และหลังจากนั้นก็ผลิตผลงานเพลงที่ไพเราะกินใจออกมามากมายหลายเพลง
ปัจจุบัน แม้ความนิยมจะตกต่ำไปตามกาลเวลา แต่แสงสุรีย์ ที่อยู่ในวงการมานานหลายสิบปี ก็ยังคงตระเวณร้องเพลงตามที่ได้รับการว่าจ้างด้วยน้ำเสียงที่ยังคงไพเราะเหมือนเช่นสมัยเข้าวงการใหม่ ๆ
ประวัติ[แก้]
แสงสุรีย์ รุ่งโรจน์ เกิดวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2496 ที่บ้านเลขที่ 156 หมู่ 13 ตำบลคำบัว อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา จากฐานะที่ยากจน และพ่อแม่แยกทางกัน ทำให้เขาจบการศึกษาแค่ประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดบ้านจาน ต.คำบัว อ.โนนไทย แสงสุรีย์ เป็นคนที่ชอบการร้องเพลงลูกทุ่งอย่างมาก และก็ได้เข้าสู่เวทีการประกวดในเขตจังหวัดบ้านเกิดมาตั้งแต่สมัยเรียนชั้น ป.2 และประกวดเรื่อยมา ซึ่งก็ชนะบ้างแพ้บ้างเป็นธรรมดา
หลังจบการศึกษา เมื่อประมาณอายุ 15 ปี แสงสุรีย์ หิ้วกระเป๋าเข้ามาหางานทำที่กรุงเทพฯ และน้าสาวได้ฝากฝังให้เขาได้เข้าทำงานที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ แถวสุขุมวิท ในตำแหน่งล้างจาน 3 ปีหลังจากนั้นก็ขยับขึ้นมาทำในตำแหน่งพ่อครัวอาหารฝรั่ง และเขาทำหน้าที่นี้อยู่นานถึง 10 ปี
ระหว่างนั้นเขาก็ตระเวณประกวดร้องเพลงตามเวทีเล็กๆในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งก็ชนะบ้างแพ้บ้าง มาวันหนึ่ง แสงสุรีย์ ได้เข้าประกวดการร้องเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง "ขยะสังคม" ที่มีสรพงษ์ ชาตรี แสดงนำ และมีสายัณห์ สัญญา เป็นผู้ร้องเพลงประกอบภาพยนตร์ ซึ่งคราวนี้ แสงสุรีย์ ได้รับชัยชนะ และเพื่อนที่มาร่วมประกวดด้วยกัน ได้พาเขาไปพบ ครูสัมฤทธิ์ รุ่งโรจน์ครูเพลงตาพิการ เพื่อให้ปั้นแสงสุรีย์ เป็นนักร้อง
เมื่อพบกัน ครูสัมฤทธิ์ บอกว่าถ้าอยากจะเป็นนักร้อง ก็จะขายเพลงให้เพลงละ 600 บาท ซึ่งแสงสุรีย์ก็ตกลงซื้อทันที 2 เพลง จากนั้นครูสัมฤทธิ์ก็กลับไปแต่งเพลงมาให้เขา 2 เพลง ก่อนจะพาลูกศิษย์คนใหม่ไปเข้าห้องอัดเสียง โดยไปขอแทรกคิวเวลาห้องอัด 2 ชั่วโมง เพื่อผลิตผลงานที่จะพลิกชีวิตของกุ๊กที่รักการร้องเพลงลูกทุ่ง
2 เพลงที่ว่านั้นก็คือ แห่ขันหมาก และ น่าอร่อย ใจความตอนหนึ่งของเพลง แห่ขันหมาก มีอยู่ว่า แสงสุรีย์ รุ่งโรจน์ ไม่มีรถขี่ ก็เท่ากับว่า ครูสัมฤทธิ์ ตั้งชื่อให้กับลูกศิษย์คนใหม่ไปพร้อมกับเพลงๆนี้เลยทีเดียว
หลัง 2 เพลงของแสงสุรีย์ ถูกนำออกเผยแพร่ตามสถานีวิทยุ ก็ปรากฏว่าเป็นที่ชื่นชอบอย่างมากของเหล่าบรรดาแฟนเพลง จึงมีนายทุนเสนอทำวงดนตรี แสงสุรีย์ รุ่งโรจน์ ให้เพื่อทำการเดินสาย ครูสัมฤทธิ์จึงแต่งเพลงให้แสงสุรีย์อีก 4 เพลง สำหรับใช้ในการแสดงที่หน้าเวที และแสงสุรีย์ ก็ออกเดินสายในฐานะหัวหน้าวงโดยที่เขามีเพลงอยู่แค่ 6 เพลงเท่านั้น ซึ่งเพลงที่ตามมาที่หลังอีก 4 เพลงต่างก็ได้รับความนิยมจากบรรดาแฟนเพลงอย่างมากเช่นกัน จากนั้นจึงค่อยๆทะยอยผลิตผลงานเพลงตามมาสมทบอีกมาก แต่โดยหลักแล้วเพลงของแสงสุรีย์ยังคงเป็นเพลงของครูสัมฤทธิ์
ในการแสดงครั้งหนึ่ง วงแสงสุรีย์สามารถเก็บค่าผ่านประตูได้เป็นหลักล้านบาท แม้จะเก็บแค่คนละ 20 บาท ขณะที่ผู้ชมก็มารอกันตั้งแต่บ่าย 3 โมง ขณะที่วงดนตรีเปิดการแสดงในช่วงเย็น วงแสงสุรีย์ ออกเดินสายระหว่างปี 2521–2524 ก่อนจะปิดวงไป เมื่อความนิยมเริ่มลดน้อยถอยลง[1]
ผลงานเพลงที่สำคัญ[แก้]
- แห่ขันหมาก
- น่าอร่อย
- หิ้วกระเป๋า
- สามเณรกำพร้า
- รักสาวเสื้อลาย (เพลงนี้ถูกนำไปแปลงโดย ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ในชื่อ "รักสาวเสื้อแดง")
- จับตัวตีตราจอง หรือ จองไว้ก่อน
- แฟนจ๋าอยู่ไหน
เกียรติยศ[แก้]
- โล่ห์พระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ในงานกึ่งศตวรรษลูกทุ่งไทยครั้งที่ 2 พ.ศ. 2524 ประเภท ขับร้องลูกทุ่งดีเด่น จากเพลง " หิ้วกระเป๋า " (ครูสัมฤทธิ์ รุ่งโรจน์ ก็ได้รับโล่ห์พระราชทาน ประเภท ผู้ประพันธ์ คำร้อง - ทำนองดีเด่นจากเพลงเดียวกัน)