แผ่นปะปัก
แผ่นปะปัก (อังกฤษ: embroidered patch) หรือ แพทช์ปัก หรือที่รู้จักกันในชื่อของ ตราผ้า (cloth badge) เป็นงานปักที่สร้างขึ้นโดยใช้ผ้าด้านหลังและด้าย ศิลปะการปักผ้าเป็นประเพณีเก่าแก่และเป็นงานที่ทำด้วยมือ ในช่วงครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยปกติจะมีการปักโดยใช้เครื่องปักชิฟฟลี เครื่องจักรคอมพิวเตอร์ความเร็วสูงได้นำไปสู่การผลิตจำนวนมาก
มีหลายวิธีในการติดไว้บนพื้นผิวผ้า แผ่นปะปักปักสามารถติดด้วยหมุด การเย็บ หรือติดด้วยวิธีการที่ทันสมัยกว่า เช่น การรีดทับ, การใช้กาวความร้อนด้วยเครื่องเป่า และแผ่นรองตีนตุ๊กแก
ประวัติ
[แก้]แผ่นปะปัก เป็นเครื่องมือระบุตัวตนที่สำคัญสำหรับทหารและบุคลากรในเครื่องแบบอื่น ๆ โดยสืบเชื้อสายมาจากวัฒนธรรมโบราณเมื่อหลายพันปีก่อนในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ตะวันออกกลาง จีน อินเดีย และอเมริกาใต้
ปัจจุบัน แผ่นปะปักถูกใช้โดยองค์กรภาครัฐ (รวมถึงเครื่องแบบทหาร, หน่วยบริการฉุกเฉิน และผู้ปฏิบัติงานเฉพาะทางอื่น ๆ), ทีมกีฬา และบริษัทในภาคเอกชน เพื่อแสดงถึงระดับยศ ตำแหน่งงาน ตำแหน่งเฉพาะ หรือหน่วยเฉพาะทาง ในกลุ่มเยาวชนรวมทั้งทีมกีฬา องค์กรลูกเสือ และสโมสรเฉพาะทาง มักสวมเสื้อผ้าที่ประดับด้วยแผ่นปะปัก รวมถึงยังใช้โดยหน่วยงานอวกาศ บนเครื่องแบบของนักบินอวกาศเพื่อแสดงถึงภารกิจ (แผ่นปะภารกิจ) และมักจะถูกสะสมโดยนักสะสมแผ่นปะเช่นกัน[1]
การใช้ทางทหาร
[แก้]เช่นเดียวกับมุทราศาสตร์รูปแบบอื่นๆ สีและรูปบนแผ่นปะทางทหารได้รับการออกแบบคัดเลือกเพื่อสื่อถึงลักษณะและหลักนิยมเชิงบวกที่แตกต่างกันในเชิงสัญลักษณ์
สหรัฐ
[แก้]แผ่นปะปักถูกนำมาใช้ครั้งแรกโดยหน่วยทหารสหรัฐ โดยมีตัวอย่างที่ค่อนข้างหยาบ และไม่เป็นทางการบางส่วนที่พบในเครื่องแบบทหารจากสงคราม พ.ศ. 2355, สงครามเม็กซิโกปี พ.ศ. 2388 และสงครามกลางเมือง (พ.ศ. 2404–2408) การระบุหน่วยหรือที่เรียกว่าเครื่องหมายแขนเสื้อและไหล่ (shoulder sleeve insignia: SSI) เป็นองค์ประกอบที่ค่อนข้างใหม่ของเครื่องแบบทหารยุคใหม่ในขณะนั้น หลังจากมีต้นจุดเริ่มต้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เมื่อ พลเอก จอห์น เจ. เพอร์ชิง ได้อนุญาตให้ใช้งานได้แบบจำกัด
แผ่นปะทางการทหารที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐคือ "Big Red One" ของกองพลทหารราบที่ 1 ซึ่งใช้งานครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2461 เครื่องหมายแขนเสื้อและไหล่ (SSI) กลายเป็นเรื่องธรรมดาในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และมีแผ่นปะเฉพาะสำหรับแต่ละหน่วยของกองทัพบก กองทัพเรือ นาวิกโยธิน กองทัพอากาศ และหน่วยยามฝั่ง จนกลายเป็นประเพณีที่น่าภาคภูมิใจในการใช้งาน เกิดตลาดสำหรับนักสะสม โดยเฉพาะแผ่นปะรุ่นที่ผลิตมาอย่างจำกัดที่หายาก
มีการกำหนดกฎระเบียบต่าง ๆ เกี่ยวกับวิธีการแสดงตรา จำนวนแผ่นปะที่สามารถประดับได้ในคราวเดียว และแผ่นปะดังกล่าวอาจประดับบนเครื่องแบบของเหล่าบริการมากกว่าหนึ่งเหล่า ในกองทัพสหรัฐฯ เครื่องหมายแขนเสื้อและไหล่ (SSI) จะประดับบริเวณแขนซ้ายบน ใต้ตะเข็บไหล่ของชุดเครื่องแบบ บางครั้งจะถูกประดับในบริเวณอื่น โดยเฉพาะเมื่อสวมชุดเกราะหรืออุปกรณ์เสริมและมีการปิดบังการแสดงตราบริเวณช่วงที่กำหนดให้ประดับตามปกติ
สำหรับกองทัพสหรัฐฯ การออกแบบแผ่นปะได้รับการรับรองและคุ้มครองโดยสถาบันมุทราศาสตร์[2] สถาบันเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะแสดงแผ่นปะทางทหารอย่างไร การประดับ และเหตุผลในการประดับแสดง ตราสัญลักษณ์รับประกัน (hallmark) ถูกกำหนดให้กับผู้ผลิตเครื่องหมายทางทหารที่ได้รับการรับรองแต่ละราย เพื่อระบุว่าผู้ผลิตรายใดที่เป็นผู้ผลิตชิ้นงาน สำหรับผู้ผลิตรายอื่นในการสร้างการออกแบบบนแผ่นปะที่มีลักษณะคล้ายกับรายการประกาศอย่างเป็นทางการของแผ่นปะกองทัพบกจะถือว่าเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย
อุตสาหกรรมแผ่นปะปักถูกครอบงำโดยบริษัทที่ก่อตั้งมายาวนานหลายแห่ง เช่น Chicago Sewing Company (ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2433), Lion Brothers (ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2442), St. Louis Embroidery (ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2430), A-B Emblem และ Penn Emblem (ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2490) เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมการผลิตสิ่งทอส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกา การผลิตตราสัญลักษณ์ได้ย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าผู้ผลิตบางรายจะยังคงรักษาโรงงานในการผลิตไว้ในประเทศก็ตาม
การผลิต
[แก้]ก่อนการถือกำเนิดของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ แผ่นปะถูกสร้างขึ้นด้วยมือ อย่างไรก็ตาม กระบวนการทั่วไปยังคงเหมือนเดิมในปัจจุบัน ขั้นแรก ผ้าด้านหลังจะถูกตัดให้เป็นรูปทรงเพื่อป้องกันการหลุดลุ่ย ขอบของแผ่นรองจะถูกผนึกด้วยความร้อน จากนั้นจึงเย็บด้ายเข้าที่แผ่นงาน การออกแบบบางแบบจะใช้ส่วนรองรับเป็นพื้นหลังของแผ่นปะ ในขณะที่บางแบบใช้การเย็บปิดส่วนด้านหลังทั้งหมด เพื่อให้แผ่นปะเสร็จสิ้น อาจใช้กาวรีดที่ด้านหลังซึ่งเป็นขั้นตอนที่ในยุคสมัยแรกไม่มีใช้งาน
เครื่องจักรที่ถูกสร้างขึ้นระหว่างการปฏิวัติอุตสาหกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 18 และ 19 ได้เปลี่ยนการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปด้วยเทคโนโลยี เช่น เครื่องทอผ้าไฟฟ้าและจักรเย็บผ้า ทำให้ผ้ามีคุณภาพที่คงที่มากขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตอย่างมาก การปักซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นกระบวนการเย็บแบบเย็บด้วยมือซึ่งใช้เวลานานมาก่อน ได้รับการปฏิวัติโดยการนำเครื่องปักชิฟฟลีมาใช้ ซึ่งคิดค้นโดยไอแซค โกรบลี (Isaak Groebli) ชาวสวิตเซอร์แลนด์ในปี พ.ศ. 2406[3] เครื่องทำงานด้วยระบบสองด้ายเช่นเดียวกับจักรเย็บผ้าในช่วงการผลิตช่วงแรกจากเครื่องจักรหลายเข็มซึ่งขับเคลื่อนโดยข้อเหวี่ยงที่หมุนด้วยมือนั้นไม่ได้เร็วกว่างานฝีมือมากนัก แต่มีข้อแตกต่างที่สำคัญคือสามารถสร้างสำเนาของการออกแบบที่เหมือนกันหลายชุดได้ เครื่องจักรของโกรบลีใช้การผสมผสานระหว่างเข็มที่ร้อยด้ายอย่างต่อเนื่องและกระสวยที่มีกระสวยด้าย ตัวกระสวยนั้นดูคล้ายกับตัวเรือ "ชิฟฟลี" แปลว่า "เรือลำเล็ก" ในภาษาสวิสของภาษาเยอรมัน ดังนั้นเครื่องจักรของเขาจึงเป็นที่รู้จักในชื่อเครื่องจักรชิฟฟลี[4] เครื่องจักรอัตโนมัติซึ่งได้รับการออกแบบปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพโดยลูกชายคนโตของไอแซคในปี พ.ศ. 2441 ทำให้ระบบกลไกเรียบง่ายขึ้น จึงสามารถทำงานโดยผู้ปฏิบัติงานเพียงคนเดียว
ประเภทของการเย็บ เช่น ตะเข็บลูกโซ่ ตะเข็บรังดุมหรือตะเข็บผ้าห่ม ตะเข็บเนา การปักทึบ และการปักครอสติส ล้วนเป็นพื้นฐานของการปัก แผ่นปะมักทำมาจากการเย็บแบบลูกโซ่ ปักทึบ และการเย็บชายผ้า และการทำงานของเครื่องจักรต้องใช้ด้ายหลายเส้น
เทคโนโลยีขั้นสูงช่วยให้การออกแบบแทบทุกชนิดสามารถสร้างขึ้นใหม่โดยใช้ด้ายปักบนแพทช์ปัก ภาพที่ก่อนหน้านี้ทำด้วยมือด้วยกระบวนการที่ใช้เวลานานสามารถใช้วิธีการสแกนได้อย่างรวดเร็ว การสแกนแบบดิจิทัล และควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ ซึ่งจักรเย็บผ้าหลายหัวจะสามารถใช้ด้ายหลายสีปักได้พร้อมกัน
ความก้าวหน้าสมัยใหม่อื่น ๆ ได้แก่ การใช้พลาสติกรองบนแผ่นปะ การปรับปรุงความแข็ง และป้องกันการพันกันหรือรอยยับจากการออกแบบ แผ่นแปะมักจะถูกไดคัทเป็นรูปทรงเฉพาะโดยมีขอบที่ป้องกันไม่ให้เกิดการหลุดลุ่ยออกโดยการเย็บแบบเสิร์จ ด้ายผสมโพลีเอสเตอร์มีสีติดทนและมีความทนทานที่มากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับด้ายฝ้ายแบบเดิม
ทางเลือก
[แก้]ทางเลือกสมัยใหม่สำหรับแผ่นปะปักคือแผ่นปะพีวีซี (PVC โพลีไวนิลคลอไรด์) ซึ่งช่วยให้สามารถออกแบบได้ซับซ้อนมากขึ้น[5]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ Vogt, Gregory L. (2001). Space mission patches. Brookfield, Conn.: Millbrook Press. ISBN 0-7613-1613-2.
- ↑ "The Institute of Heraldry – Home". pentagon.mil. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-04-11.
- ↑ "Schiffli Embroidery Machine". Textile Research Centre (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). TRC Leiden. สืบค้นเมื่อ 2 February 2019.
- ↑ "MESA Distributors : History of Embroidery". mesadist.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-07-13. สืบค้นเมื่อ 2024-04-03.
- ↑ Lange, Katie (2023-01-12). "What Is That? Space Force Uniform Insignia Made of PVC, Not Thread". DoD News. United States Department of Defense. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-03-15. สืบค้นเมื่อ 2023-03-24.