ข้ามไปเนื้อหา

เอ็ดเวิร์ด สมิธ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เอ็ดเวิร์ด สมิธ

สมิธใน ค.ศ. 1911
เกิดเอ็ดเวิร์ด จอห์น สมิธ
27 มกราคม ค.ศ. 1850(1850-01-27)
แฮนลีย์ สแตฟฟอร์ดเชอร์ ประเทศอังกฤษ
เสียชีวิต15 เมษายน ค.ศ. 1912(1912-04-15) (62 ปี)
มหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ
สาเหตุเสียชีวิตการอับปางของเรืออาร์เอ็มเอส ไททานิก
อาชีพกัปตันเรือ, เจ้าหน้าที่ทหารเรือ
นายจ้างไวต์สตาร์ไลน์
มีชื่อเสียงจากการเป็นกัปตันของอาร์เอ็มเอส ไททานิก
คู่สมรสซาราห์ อี. เพนนิงตัน (สมรส 1887)
บุตรเฮเลน เมลวิลล์ สมิธ
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
รับใช้สหราชอาณาจักร
แผนก/สังกัดกองหนุนราชนาวี
ชั้นยศนาวาโท
การยุทธ์สงครามบูร์ครั้งที่สอง

เอ็ดเวิร์ด จอห์น สมิธ RD RNR (อังกฤษ: Edward John Smith; 27 มกราคม ค.ศ. 1850 – 15 เมษายน ค.ศ. 1912) เป็นกัปตันเรือและนายทหารเรือชาวบริติช ใน ค.ศ. 1880 เขาเข้าร่วมกับสายการเดินเรือไวต์สตาร์ (White Star Line) ในฐานะเจ้าหน้าที่ โดยเริ่มต้นอาชีพที่ยาวนานในพาณิชยนาวีอังกฤษ สมิธเคยทำหน้าที่เป็นกัปตันเรือของไวต์สตาร์ไลน์หลายลำ ในช่วงสงครามบูร์ครั้งที่สอง เขาทำหน้าที่ในกองหนุนราชนาวี ขนส่งกองทหารจักรวรรดิอังกฤษไปยังอาณานิคมแหลม สมิธทำหน้าที่เป็นกัปตันเรือเดินสมุทรชื่อไททานิก (Titanic) และจมลงไปพร้อมกับเรือลำดังกล่าวเมื่อเรืออับปางในระหว่างการเดินทางครั้งแรก

ชีวิตช่วงต้น

[แก้]

เอ็ดเวิร์ด จอห์น สมิธ เกิดเมื่อวันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 1850 บนถนนเวลล์ แฮนลีย์ สแตฟฟอร์ดเชอร์[1][2] ประเทศอังกฤษ เป็นบุตรของเอ็ดเวิร์ด สมิธ ช่างปั้นหม้อ กับแคเธอรีน แฮนค็อก ชื่อเกิดมาร์ช (Marsh) และแต่งงานกันเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ. 1841 ที่เชลตัน สแตฟฟอร์ดเชอร์[ต้องการอ้างอิง] ต่อมาพ่อแม่ของเขาเป็นเจ้าของร้านค้า

สมิธเข้าเรียนที่โรงเรียนอังกฤษในเอทรูเรีย สแตฟฟอร์ดเชอร์ กระทั่งอายุได้ 13 ปี เมื่อเขาลาออกและไปทำงานกับค้อนไอน้ำที่โรงตีเหล็กเอทรูเรีย ใน ค.ศ. 1867 เขาเดินทางไปลิเวอร์พูลเมื่ออายุได้ 17 ปี ตามรอยพี่ชายต่างมารดาของเขา โจเซฟ แฮนค็อก กัปตันเรือใบ[3] เขาเริ่มการฝึกงานกับเรือซีเนเตอร์เวเบอร์ (Senator Weber) ซึ่งเป็นเจ้าของโดยบริษัทเอ กิบสัน แอนด์โค (A Gibson & Co.) แห่งลิเวอร์พูล

วันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 1887 สมิธแต่งงานกับซาราห์ เอลีนอร์ เพนนิงตัน ที่โบสถ์เซนต์ออสวอลด์ วินวิก แลงคาเชอร์ เฮเลน เมลวิลล์ สมิธ ลูกสาวของพวกเขาเกิดที่วอเตอร์ลู ลิเวอร์พูล ในวันที่ 2 เมษายน ค.ศ. 1898 เมื่อสายการดินเรือไวต์สตาร์ย้ายท่าเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกจากลิเวอร์พูลมายังเซาแธมป์ตันใน ค.ศ. 1907 ครอบครัวนี้ก็ได้ย้ายไปยังบ้านอิฐสีแดงที่มีหลังคาจั่วสองชั้นชื่อ "วูดเฮด" (Woodhead) บนถนนวินน์ ในไฮฟีลด์ เซาแทมป์ตัน แฮมป์เชอร์[4][5]

อาชีพการงาน

[แก้]

ช่วงต้น

[แก้]

เอ็ดเวิร์ด สมิธ เข้าร่วมสายการเดินเรือไวต์สตาร์ (White Star Line) ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1880 ในตำแหน่งต้นเรือที่สี่ของเอสเอส เซลติก (SS Celtic)[6] เขาทำหน้าที่บนเรือเดินทะเลของบริษัทไปออสเตรเลียและนครนิวยอร์ก ซึ่งทำให้เขาไต่เต้าได้อย่างรวดเร็ว ใน ค.ศ. 1887 เขาบังคับการเรือของไวต์สตาร์เป็นครั้งแรก ซึ่งก็คือเอสเอส รีพับลิก (SS Republic) สมิธสอบไม่ผ่านในการสอบเดินเรือครั้งแรก แต่ในการสอบครั้งต่อไปในสัปดาห์ถัดมา เขาก็ผ่าน และในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1888 สมิธก็ได้รับประกาศนียบัตรนายเรือพิเศษ (Extra Master's Certificate) สมิธเข้าร่วมกองหนุนราชนาวี โดยได้รับยศเรือเอก ซึ่งทำให้เขามีสิทธิเพิ่มอักษร "RNR" ต่อท้ายชื่อของเขา หมายความว่าในช่วงสงคราม เขาอาจถูกเรียกตัวไปประจำการในราชนาวีได้ เรือของเขามีความโดดเด่นคือสามารถชักธงสีน้ำเงินของ RNR ได้ ส่วนเรือพาณิชย์อังกฤษส่วนใหญ่มักชักธงสีแดง[7][8][9] สมิธเกษียณจาก RNR ใน ค.ศ. 1905 ด้วยยศนาวาโท

ช่วงหลัง

[แก้]
วิลเลียม เอ็ม. เมอร์ด็อก, โจเซฟ อีแวนส์, เดวิด อเล็กซานเดอร์ และเอ็ดเวิร์ด สมิธ บนเรือโอลิมปิก

สมิธเป็นกัปตันเรืออาร์เอ็มเอส มาเจสติก (RMS Majestic) เป็นเวลาเก้าปี เริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 1895 เมื่อสงครามบูร์ครั้งที่สองปะทุขึ้นใน ค.ศ. 1899 มาเตสติกก็ถูกเรียกตัวให้ขนส่งกองทหารจักรวรรดิอังกฤษไปยังอาณานิคมแหลม สมิธเดินทางไปแอฟริกาใต้สองครั้ง โดยไม่มีอุบัติการณ์ใด ๆ เกิดขึ้น และใน ค.ศ. 1903 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ทรงพระราชทานเหรียญการขนส่งให้แก่เขา โดยมีรูปตัวล็อก "แอฟริกาใต้" อยู่ด้วย สมิธได้รับการยกย่องว่าเป็น "กัปตันที่ปลอดภัย" ขณะที่เขาอาวุโสมากขึ้น เขาก็เริ่มมีผู้โดยสารติดตาม โดยบางคนล่องเรือในแอตแลนติกกับเรือที่เขาเป็นกัปตันเท่านั้น[10]

สมิธยังได้รับการขนานนามว่าเป็น “กัปตันมหาเศรษฐี” อีกด้วย[11] ตั้งแต่ ค.ศ. 1904 สมิธเป็นผู้บังคับบัญชาเรือลำใหม่ล่าสุดของไวต์สตาร์ไลน์ในการเดินทางครั้งแรก ใน ค.ศ. 1904 เขาได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บังคับบัญชาเรืออาร์เอ็มเอส บอลติก (RMS Baltic) เรือที่ใหญ่ที่สุดในโลกในขณะนั้น การเดินทางครั้งแรกของเธอจากลิเวอร์พูลไปนิวยอร์ก ซึ่งเดินทางเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ. 1904 ผ่านไปโดยไม่มีอุบัติการณ์ใด ๆ เกิดขึ้น หลังอยู่กับบอลติกมาเป็นสามปี สมิธก็ได้รับ "เรือใหญ่" ลำใหม่ลำที่สองของเขา นั่นก็คืออาร์เอ็มเอส เอเดรียติก (RMS Adriatic) เป็นอีกครั้งที่การเดินทางครั้งแรกผ่านไปโดยไม่มีอุบัติการณ์ใด ๆ เกิดขึ้น ระหว่างที่เขาทำหน้าที่บังคับกาเรือเอเดรียติก สมิธได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์รับราชการยาวนานสำหรับเจ้าหน้าที่กองหนุนราชนาวี (RD)[12]

ในฐานะกัปตันเรือที่มีประสบการณ์มากที่สุดคนหนึ่งในโลก สมิธถูกเรียกตัวให้เป็นผู้บังคับการเรือนำในเรือเดินสมุทรชั้นใหม่ นั่นคือ อาร์เอ็มเอส โอลิมปิก (RMS Olympic) ซึ่งถือเป็นเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลกในขณะนั้น การเดินทางครั้งแรกจากเซาแทมป์ตันไปยังนิวยอร์กสิ้นสุดลงด้วยความสำเร็จในวันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ. 1911 แต่ขณะเรือเทียบท่าในนิวยอร์ก ก็มีอุบัติการณ์เล็กน้อยเกิดขึ้น โอลิมปิกกำลังเข้าท่าเทียบเรือ 59 โดยมีสมิธเป็นผู้บังคับการเรือและมีเจ้าหน้าที่นำร่องคอยให้ความช่วยเหลือ โอลิมปิกถูกลากโดยเรือลากจูง 12 ลำ ระหว่างนั้นเอง เรือลากจูงลำหนึ่งถูกกระแสน้ำวนจากโอลิมปิก ทำให้เรือหมุนคว้างและชนกับเรือใหญ่ เรือลากจูงลำนั้นติดอยู่ใต้ท้ายเรือโอลิมปิกชั่วขณะหนึ่ง ก่อนที่จะหลุดออกมาได้และแล่นไปที่ท่าเรือ[ต้องการอ้างอิง]

อุบัติการณ์ฮอว์ก

[แก้]
ภาพถ่ายของเรือหลวงฮอว์กและอาร์เอ็มเอส โอลิมปิก หลังการชนกัน

วันที่ 20 กันยายน ค.ศ. 1911 อุบัติเหตุครั้งใหญ่ครั้งแรกของโอลิมปิกเกิดขึ้นระหว่างการชนกับเรือหลวงฮอว์ก (HMS Hawke) ของอังกฤษ ซึ่งทำให้เรือรบสูญเสียหัวเรือไป แม้การชนกันจะทำให้ห้องผนึกน้ำของโอลิมปิกสองห้องเต็มและเพลาใบจักรหนึ่งบิดเบี้ยว แต่เธอก็ยังสามารถกลับถึงเซาแทมป์ตันได้ ในการสอบสวนที่เกิดขึ้น ราชนาวีกล่าวโทษโอลิมปิก[13][14] โดยกล่าวว่าขนาดที่ใหญ่โตของเธอทำให้เกิดแรงดูดดึงฮอว์กเข้าไปที่ด้านข้างของเธอ[15] กัปตันสมิธอยู่บนสะพานระหว่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

อุบัติการณ์ฮอว์กถือเป็นหายนะทางการเงินสำหรับไวต์สตาร์ และระยะเวลาที่ไม่ได้ใช้งานของเรือเดินทะเลขนาดใหญ่ก็ทำให้ปัญหาเลวร้ายลงไปอีก โอลิมปิกกลับมาที่เบลฟาสต์และเพื่อเร่งการซ่อมแซม ฮาร์แลนด์แอนด์โวล์ฟจึงถูกบังคับให้เลื่อนการต่อเรือไททานิกออกไปเพื่อใช้เพลาใบจักรและชิ้นส่วนอื่น ๆ สำหรับโอลิมปิก เมื่อกลับสู่ทะเลในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1912 โอลิมปิกก็สูญเสียพวงใบจักรไปหนึ่งอันและกลับมาซ่อมฉุกเฉินอีกครั้ง เพื่อให้เธอสามารถกลับมาให้บริการได้ทันที ฮาร์แลนด์แอนด์โวล์ฟต้องดึงทรัพยากรจากไททานิกอีกครั้ง เป็นผลให้การเดินทางครั้งแรกของเธอต้องล่าช้าจากวันที่ 20 มีนาคมไปเป็นวันที่ 10 เมษายน[ต้องการอ้างอิง]

ไททานิก

[แก้]

แม้จะเคยมีปัญหาในอดีต แต่สมิธก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับการเรือลำใหม่ล่าสุดในชั้นโอลิมปิกอีกครั้งเมื่อไททานิกออกเดินทางจากเซาแทมป์ตันเป็นครั้งแรก แม้บางแหล่งข้อมูลจะระบุว่าเขาตัดสินใจจะเกษียณหลังเสร็จสิ้นการเดินทางครั้งแรกของไททานิก[16] แต่บทความในหนังสือพิมพ์มอร์นิงครอนิเคิล (Morning Chronicle) ของแฮลิแฟกซ์ฉบับวันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 1912 ระบุว่าสมิธจะยังคงเป็นผู้รับผิดชอบเรือไททานิก "จนกว่าบริษัท (ไวต์สตาร์ไลน์) จะสร้างเรือที่ใหญ่กว่าและดีกว่าสำเร็จ"

วันที่ 10 เมษายน ค.ศ. 1912 สมิธขึ้นเรือไททานิกเวลา 07:00 น. เพื่อเตรียมตัวสำหรับการตรวจของคณะกรรมการการค้าในเวลา 08:00 น. เขาไปที่ห้องโดยสารของเขาทันทีเพื่อรับรายงานการเดินเรือจากเฮนรี ไวลด์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ หลังออกเดินทางในตอนเที่ยง ปริมาณน้ำมหาศาลที่ถูกไททานิกแทนที่ขณะแล่นผ่านไป ทำให้เรือเอสเอส ซิตีออฟนิวยอร์ก (SS City of New York) ที่จอดอยู่หลุดจากที่ผูกและเหวี่ยงเข้าหาไททานิก การดำเนินการอย่างรวดเร็วของสมิธช่วยหลีกเลี่ยงการสิ้นสุดของการเดินทางครั้งแรกก่อนเวลาอันควร

ภาพประกอบเหตุการณ์เรือไททานิกอับปาง

สี่วันแรกของการเดินทางผ่านไปโดยไม่มีอุบัติการณ์ใด ๆ แต่ในวันที่ 14 เมษายน ค.ศ. 1912 เจ้าหน้าที่วิทยุของไททานิกได้รับ 6 ข้อความจากเรือลำอื่นที่เตือนเรื่องน้ำแข็งลอย ซึ่งผู้โดยสารบนเรือไททานิกเริ่มสังเกตเห็นในช่วงบ่าย

แม้ลูกเรือจะรู้ว่าบริเวณนั้นมีน้ำแข็ง แต่พวกเขาไม่ได้ลดความเร็วของเรือและยังคงแล่นต่อไปที่ 22 นอต (41 กิโลเมตรต่อชั่วโมง; 25 ไมล์ต่อชั่วโมง)[17][a] การที่ไททานิแล่นด้วยความเร็วสูงในบริเวณที่ได้รับรายงานว่ามีน้ำแข็งภายหลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการกระทำที่ประมาท แต่ก็ยังคงสะท้อนให้เห็นถึงแนวปฏิบัติทางทะเลมาตรฐานในขณะนั้น ตามคำบอกเล่าของแฮโรลด์ โลว์ ต้นเรือที่ห้า มีธรรมเนียมปฏิบัติว่า "เดินหน้าต่อไปและพึ่งยามบนรังกาและสะพานเดินเรือในการ 'มองเห็น' น้ำแข็งได้ทันเวลาเพื่อเลี่ยงการชนมัน" โลว์ ผู้ซึ่งข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเป็นครั้งแรกในชีวิตของเขา ยอมรับระหว่างการสอบสวนว่าเขาไม่เคยได้ยินมาก่อนว่าภูเขาน้ำแข็งเป็นเรื่องปกติของบริเวณนอกชายฝั่งแกรนด์แบงส์แห่งนิวฟันด์แลนด์ และยังกล่าวอีกว่าหากเขาเคยได้ยินเรื่องนี้ เขาก็คงไม่สนใจ เขาไม่รู้ว่าไททานิกกำลังแล่นตามเส้นทางที่เรียกว่า "เส้นทางใต้" และเดาว่าเรือน่าจะแล่นตามเส้นทางเหนือ[19]

เรือเดินทะเลในเขตแอตแลนติกเหนือให้ความสำคัญกับการรักษาเวลาเหนือสิ่งอื่นใด โดยยึดตามตารางเวลาอย่างเคร่งครัดเพื่อรับประกันว่าจะมาถึงตามเวลาที่โฆษณาไว้ พวกมันมักแล่นด้วยความเร็วเกือบเต็มที่ โดยถือว่าคำเตือนอันตรายเป็นเพียงคำแนะนำมากกว่าจะเป็นการเรียกร้องให้ดำเนินการ เป็นที่เชื่อกันอย่างกว้างขวางว่าน้ำแข็งไม่ก่อความเสี่ยงมากนัก การเฉียดไม่ใช่เรื่องแปลก และแม้แต่การประสานงาก็ไม่ใช่หายนะ ใน ค.ศ. 1907 เอ็สเอ็ส โครนพรินซ์วิลเฮ็ล์ม (SS Kronprinz Wilhelm) ของเยอรมันชนภูเขาน้ำแข็งและหัวเรือได้รับความเสียหาย แต่ยังสามารถเดินทางต่อได้ ในปีเดียวกันนั้น สมิธได้ประกาศในการสัมภาษณ์ว่าเขา "ไม่สามารถจินตนาการถึงสภาวะใด ๆ ที่จะทำให้เรืออับปางได้ การต่อเรือสมัยใหม่ก้าวไปไกลกว่านั้นแล้ว"[20]

หลังเวลา 23.40 น. ของวันที่ 14 เมษายน ไม่นาน สมิธได้รับแจ้งจากวิลเลียม เมอร์ด็อก ต้นเรือที่หนึ่ง ว่าเรือเพิ่งชนกับภูเขาน้ำแข็ง ไม่นานก็ปรากฏชัดว่าเรือได้รับความเสียหายอย่างหนัก ทอมัส แอนดรูส์ ผู้ออกแบบเรือ รายงานว่าห้องผนึกน้ำทั้งห้าห้องของเรือได้รับความเสียหายทั้งหมดและไททานิกจะจมลงภายในสองชั่วโมง

มีรายงานที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับการกระทำของสมิธระหว่างการอพยพ บ้างบอกว่าเขาทำทุกวิถีทางเพื่อป้องกันการตื่นตระหนกและพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อช่วยเหลือในการอพยพ พันตรี อาเทอร์ ก็อดฟรีย์ เพอูเชน จากราชสโมสรเรือยอช์ตแคนาดากล่าวว่า "เขาทำทุกวิถีทางเพื่อให้ผู้หญิงขึ้นเรือเหล่านี้และดูแลให้เรือถูกปล่อยลงอย่างถูกต้อง ฉันคิดว่าเขากำลังทำหน้าที่ของเขาในการปล่อยเรือ"[21] รอเบิร์ต วิลเลียมส์ แดเนียล ผู้โดยสารชั้นหนึ่ง กล่าวว่า "กัปตันสมิธเป็นวีรบุรุษที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่ฉันเคยเห็น เขายืนอยู่บนสะพานและตะโกนผ่านเครื่องขยายเสียงเพื่อพยายามให้คนได้ยิน"[22]

แหล่งข้อมูลอื่นระบุว่าเขาไม่มีประสิทธิภาพและไม่ค่อยกระตือรือร้นในการป้องกันการสูญเสียชีวิต กัปตันสมิธเป็นลูกเรือที่มีประสบการณ์ซึ่งรับราชการกลางทะเลมานานถึง 40 ปี โดยดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชาเป็นเวลา 27 ปี นี่เป็นวิกฤตครั้งแรกในอาชีพการงานของเขา และเขาอาจรู้ว่าแม้เรือทั้งหมดจะถูกครอบครองจนเต็ม แต่จะยังมีคนอีกกว่าพันคนอยู่บนเรือขณะที่เรือล่มลง โดยมีโอกาสรอดชีวิตเพียงน้อยนิดหรือไม่มีเลย[23] ขณะที่สมิธเริ่มเข้าใจถึงความยิ่งใหญ่ของสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ดูเหมือนว่าเขาจะจมอยู่กับความลังเลใจ เขาสั่งให้ผู้โดยสารและลูกเรือรวมพล แต่ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เขาไม่ได้สั่งเจ้าหน้าที่ให้นำผู้โดยสารขึ้นเรือชูชีพ ไม่ได้จัดระเบียบลูกเรืออย่างเหมาะสม ไม่ได้ถ่ายทอดข้อมูลสำคัญให้เจ้าหน้าที่และลูกเรือทราบ บ้างก็ออกคำสั่งที่คลุมเครือหรือไม่สามารถปฏิบัติได้ และไม่เคยออกคำสั่งให้สละเรือเลย แม้แต่เจ้าหน้าที่บนสะพานเดินเรือบางคนก็ไม่รู้ตัวว่าเรือกำลังจะจมลงหลังการชนเป็นระยะเวลาหนึ่ง โจเซฟ บ็อกซอลล์ ต้นเรือที่สี่ เพิ่งทราบเรื่องนี้ในเวลา 01:15 น. น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมงก่อนเรือจะจมลง[24] ในขณะที่จอร์จ โรว์ พลาธิการ ไม่รู้เรื่องเหตุฉุกเฉินดังกล่าวเลย หลังเริ่มอพยพ เขาโทรศัพท์ไปที่สะพานเดินเรือจากสถานีเฝ้าระวังของเขาเพื่อถามว่าทำไมเขาถึงเพิ่งเห็นเรือชูชีพแล่นผ่านไป[25] สมิธไม่ได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ของเขาทราบว่าเรือมีเรือชูชีพไม่เพียงพอที่จะช่วยชีวิตทุกคน เขาไม่ได้ควบคุมดูแลการบรรทุกเรือชูชีพและดูเหมือนไม่พยายามตรวจสอบว่ามีคนปฏิบัติตามคำสั่งของเขาหรือไม่[24][26]

เพียงไม่กี่นาทีก่อนที่เรือจะเริ่มพุ่งลงสู่ใต้น้ำครั้งสุดท้าย สมิธยังคงยุ่งอยู่กับการปล่อยลูกเรือไททานิกจากหน้าที่ เขาไปที่ห้องวิทยุโทรเลขของไททานิกและปลดแฮโรลด์ ไบรด์ เจ้าหน้าที่วิทยุชั้นรอง กับจอห์น "แจ็ก" ฟิลลิปส์ เจ้าหน้าที่วิทยุอาวุโส ออกจากหน้าที่ของพวกเขา จากนั้น เขาก็เดินชมดาดฟ้าเป็นครั้งสุดท้าย โดยบอกกับลูกเรือว่า "ตอนนี้แต่ละคนต้องพึ่งตัวเอง"[27] เวลา 02:10 น. เอ็ดเวิร์ด บราวน์ บริกร เห็นกัปตันเดินเข้ามาพร้อมเครื่องขยายเสียงในมือ เขาได้ยินกัปตันพูดว่า "เอาละหนุ่ม ๆ จงทำดีที่สุดเพื่อผู้หญิงและเด็ก ๆ และดูแลตัวเองด้วย" เขาเห็นกัปตันเดินขึ้นไปบนสะพานเดินเรือเพียงลำพัง[28] นี่เป็นการพบเห็นสมิธที่เชื่อถือได้ครั้งสุดท้าย ไม่กี่นาทีต่อมา ซามูเอล เฮมมิง คนเล็มถ่านหิน พบว่าสะพานดูเหมือนจะว่างเปล่า[29] ห้านาทีต่อมาเรือก็หายไปใต้มหาสมุทร คืนนั้น สมิธเสียชีวิตพร้อมกับคนอื่น ๆ อีกประมาณ 1,500 คน และร่างของเขาไม่เคยถูกค้นพบอีกเลย

เสียชีวิต

[แก้]

มีเรื่องเล่าที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับการตายของสมิธ ผู้รอดชีวิตบางคน[30] กล่าวว่าพวกเขาเห็นสมิธเข้าไปในห้องถือท้ายของเรือบนสะพานเดินเรือ และเสียชีวิตที่นั่นเมื่อเรือถูกกลืน[31] หนังสือพิมพ์นิวยอร์กเฮรัลด์ (New York Herald) ฉบับวันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 1912 อ้างคำพูดของรอเบิร์ต วิลเลียมส์ แดเนียล ผู้ซึ่งกระโดดลงมาจากท้ายเรือทันทีที่เรือจม โดยกล่าวว่า "ผมเห็นกัปตันสมิธอยู่บนสะพานเดินเรือ ดวงตาของผมจ้องไปที่เขาอย่างไม่ละสายตา ดาดฟ้าที่ผมกระโดดลงมาจมอยู่ใต้น้ำ ระดับน้ำค่อย ๆ สูงขึ้นและตอนนี้สูงถึงพื้นสะพานเดินเรือ จากนั้นก็ถึงเอวของกัปตันสมิธ ผมไม่เห็นเขาอีกเลย เขาเสียชีวิตอย่างวีรบุรุษ"[32]

กัปตันสมิธเองก็เคยให้คำใบ้ว่าเขาอาจจะจมลงไปพร้อมกับเรือของเขาหากเขาต้องเผชิญกับภัยพิบัติ ดร.วิลเลียมส์ เพื่อนของสมิธ ถามเขาว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเรือเอเดรียติกชนแนวปะการังที่ซ่อนอยู่และได้รับความเสียหายอย่างหนัก "พวกเราบางคนคงจะจมไปกับเรือ" คือคำตอบของสมิธ วิลเลียม โจนส์ เพื่อนสมัยเด็กของเขาเล่าว่า "เท็ด สมิธเสียชีวิตไปดังที่เขาปรารถนา" การยืนอยู่บนสะพานเดินเรือและจมลงไปพร้อมกับเรือเป็นลักษณะเฉพาะของการกระทำทั้งหมดของเขาเมื่อเรายังเป็นเด็กด้วยกัน[33] เนื่องด้วยปัจจัยเหล่านี้ เช่นเดียวกับคำบอกเล่าของสมิธที่เข้าไปในห้องถือท้าย ภาพลักษณ์ที่เป็นสัญลักษณ์ของสมิธจึงยังคงดำรงอยู่และได้รับการถ่ายทอดผ่านภาพยนตร์

ขณะกำลังทำงานเพื่อปลดเรือชูชีพพับ B แฮโรลด์ ไบรด์ เจ้าหน้าที่ชั้นรองของมาร์โคนี กล่าวว่าเขาเห็นกัปตันสมิธกระโดดลงจากสะพานลงไปในทะเลพอดีกับตอนที่เรือชูชีพพับ B ถูกงัดออกจากหลังคาที่พักเจ้าหน้าที่[34] เรื่องนี้ได้รับการยืนยันโดยนางเอลีนอร์ วิดิเนอร์ ผู้โดยสารชั้นหนึ่ง ผู้ซึ่งอยู่ในเรือชูชีพหมายเลข 4 (อยู่ใกล้กับเรือที่กำลังจมที่สุด) ในขณะนั้น[35] นอกจากนี้ วิลเลียม จอห์น เมลเลอส์ ผู้โดยสารชั้นสอง ที่รอดชีวิตจากเรือชูชีพพับ B ยังกล่าวอีกว่า สมิธกระโดดลงมาจากสะพานด้วย[36] นักเขียนคนหนึ่งระบุว่าพยานและผู้รอดชีวิตอย่างแฮโรลด์ ไบรด์ "อาจจะเข้าใจผิดคิดว่ากัปตันสมิธเป็นไลทอลเลอร์ ซึ่งเราทราบดีว่าเขาทำเช่นนี้เป็นครั้งแรก โดยว่ายน้ำไปทางรังกา"[37]

มีรายงานหลายฉบับระบุว่าอาจพบเห็นสมิธอยู่ในน้ำใกล้กับเรือชูชีพพับ B ที่พลิกคว่ำระหว่างหรือหลังจากเรือจมลง พันเอก อาร์ชิบอลด์ เกรซี รายงานว่ามีนักว่ายน้ำนิรนามคนหนึ่งเข้ามาใกล้เรือชูชีพที่พลิกคว่ำและแออัด และหนึ่งในคนที่อยู่บนเรือบอกกับเขาว่า "จับสิ่งที่คุณมีไว้ให้แน่น ๆ นะเพื่อนเอ๋ย หนึ่งคนบนเรือนี้จะทำให้พวกเราจมน้ำตายกันหมด" นักว่ายน้ำจึงตอบกลับมาด้วยเสียงอันทรงพลังว่า "เอาล่ะทุกคน ขอให้โชคดีและขอพระเจ้าอวยพรนาย[38] เกรซีไม่เห็นชายคนนี้ และไม่สามารถระบุตัวตนของเขาได้ แต่ผู้รอดชีวิตคนอื่น ๆ อ้างในเวลาต่อมาว่าพวกเขาจำชายคนนี้ได้ว่าเป็นสมิธ[39][40] ชายอีกคน (หรืออาจจะเป็นคนเดียวกับที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้) ไม่ได้ขอขึ้นเรือ แต่กลับส่งเสียงให้กำลังใจคนบนเรือโดยพูดว่า "เด็กดี! หนุ่ม ๆ!" ด้วยน้ำเสียง "ที่แสดงถึงอำนาจ"[41]

วอลเตอร์ เฮิสต์ คนคุมเตาไฟ หนึ่งในผู้รอดชีวิตเรือชูชีพพับ B พยายามจะพายเข้าไปหาเขา แต่คลื่นที่ซัดสูงขึ้นอย่างรวดเร็วได้พัดชายคนดังกล่าวหนีไปเสียก่อนที่เขาจะไปถึง[41] เฮิสต์บอกว่าเขาแน่ใจว่าชายคนนี้คือสมิธ[41] เรื่องราวบางส่วนเหล่านี้ยังบรรยายถึงสมิธที่อุ้มเด็กไปที่เรือด้วย แฮร์รี ซีเนียร์ หนึ่งในคนตักถ่านหินของไททานิก และชาลส์ ยูจีน วิลเลียมส์ ผู้โดยสารชั้นสอง ซึ่งทั้งคู่รอดชีวิตบนเรือชูชีพพับ B กล่าวว่าสมิธ[36] ว่ายน้ำไปยังเรือชูชีพพับ B โดยมีเด็กอยู่ในอ้อมแขนนำไปมอบให้กับบริการ หลังจากนั้น เขาก็ว่ายน้ำกลับไปที่เรือที่กำลังจมลงอย่างรวดเร็ว คำอธิบายของวิลเลียมส์แตกต่างกันเล็กน้อย โดยอ้างว่าหลังจากที่สมิธส่งเด็กให้กับบริกร เขาจึงถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับเมอร์ด็อก ต้นเรือ

เมื่อได้ยินข่าวการเสียชีวิตของเมอร์ด็อก สมิธ "ผลักตัวเองออกจากเรือชูชีพ โยนเข็มขัดชูชีพออกจากตัวเรือ และจมลงอย่างช้า ๆ จากสายตาของเรา เขาไม่โผล่ขึ้นมาบนผิวน้ำอีกเลย" เรื่องราวเหล่านี้แทบจะแน่นอนว่าเป็นเรื่องเล่าที่แต่งขึ้นโดยนักประวัติศาสตร์ที่นำเสนอในสารคดีเรื่อง Titanic: Death of a Dream ของช่องเอแอนด์อี (A&E) ไลทอลเลอร์ ผู้ซึ่งรอดชีวิตจากเรือชูชีพพับ B ไม่เคยรายงานว่าเห็นสมิธอยู่ในน้ำหรือรับเด็กจากเขาเลย นอกจากนี้ ไม่มีทางที่ผู้รอดชีวิตจากเรือชูชีพพับ B จะสามารถตรวจสอบตัวตนของบุคคลอื่นได้ภายใต้สถานการณ์ที่แสงสลัวและวุ่นวายเช่นนี้ มีแนวโน้มว่าจะเป็นเพียงการคิดไปเองว่าบุคคลที่พวกเขาเห็นคือกัปตัน[42] ชะตากรรมของกัปตันสมิธอาจจะยังคงไม่ชัดเจน

เป็นเวลาหลายปีที่ยังมีเรื่องเล่าที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับคำพูดสุดท้ายของสมิธ รายงานของหนังสือพิมพ์หนึ่งระบุว่า เมื่อการดำดิ่งครั้งสุดท้ายเริ่มขึ้น สมิธได้แนะนำผู้ที่อยู่บนเรือว่า "จงเป็นชาวบริติช เด็ก ๆ จงเป็นชาวบริติช!" แม้เรื่องนี้จะสลักอยู่บนอนุสรณ์ของเขาและปรากฏในละครโทรทัศน์เรื่องสั้น ค.ศ. 1996 แต่ก็เป็นตำนานที่แพร่หลาย[43] หากสมิธพูดคำเหล่านี้กับใครก็ตาม ก็คงเป็นกับลูกเรือ แต่ลูกเรือที่รอดชีวิตไม่มีใครอ้างเลยว่าเขาพูด เนื่องจากคำบอกเล่าของสจวร์ต บราวน์ ที่กล่าวถึงสมิธที่ออกคำสั่งก่อนจะเดินขึ้นไปบนสะพานเป็นการพบเห็นครั้งสุดท้ายที่เชื่อถือได้ ดังนั้นคำพูดสุดท้ายของสมิธจึงมีเพียงข้อความสั้น ๆ ว่า "เอาละหนุ่ม ๆ จงทำดีที่สุดเพื่อผู้หญิงและเด็ก ๆ และดูแลตัวเองด้วย"[44]

มรดก

[แก้]
รูปปั้นของสมิธในบีคอนพาร์ก ลิชฟิลด์

รูปปั้นของสมิธ ซึ่งปั้นโดยแคทลีน สกอตต์ ภรรยาม่ายของรอเบิร์ต ฟัลคอน สกอตต์ นักสำรวจแอนตาร์กติกา ได้รับการเปิดตัวในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1914 ที่ปลายด้านตะวันตกของสวนมิวเซียมในบีคอนพาร์ก ลิชฟีลด์[45] ฐานทำด้วยหินแกรนิตคอร์นิช ส่วนรูปปั้นทำด้วยทองสัมฤทธิ์[46] ลิชฟีลด์ได้รับเลือกให้เป็นสถานที่สร้างอนุสรณ์สถาน เนื่องจากสมิธเป็นชาวแสตฟฟอร์ดเชอร์ และลีชฟิลด์เป็นศูนย์กลางของสังฆมณฑล[47] เดิมทีรูปปั้นนี้มีราคา 740 ปอนด์ (80,000 ปอนด์รวมอัตราเงินเฟ้อ[48]) โดยได้รับเงินบริจาคจากท้องถิ่นและระดับชาติ[47]

ใน ค.ศ. 2010 ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ "สวนสาธารณะเพื่อประชาชน" รูปปั้นนี้ได้รับการบูรณะและขจัดคราบเขียวออกจากพื้นผิวด้วยค่าใช้จ่าย 16,000 ปอนด์ [47] ใน ค.ศ. 2011 มีการเริ่มรณรงค์เพื่อย้ายรูปปั้นไปยังแฮนลีย์ บ้านเกิดของกัปตันสมิธ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ[49]

สมิธได้รับการรำลึกถึงที่ศาลากลางเมืองแฮนลีย์ด้วยป้ายจารึกข้อความว่า "แผ่นป้ายนี้สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงนาวาโท เอ็ดเวิร์ด จอห์น สมิธ RD, RNR เกิดที่แฮนลีย์เมื่อวันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 1850 และเสียชีวิตในทะเลเมื่อวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1912 ขณะเป็นผู้บังคับการเรือเอสเอส ไททานิก ของสายการเดินเรือไวต์สตาร์ เรือลำดังกล่าวได้ชนภูเขาน้ำแข็งในมหาสมุทรแอตแลนติกในตอนกลางคืนและจมลงอย่างรวดเร็วพร้อมผู้โดยสารเกือบทั้งหมดที่อยู่บนเรือ กัปตันสมิธได้ทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารและลูกเรือและยังคงประจำอยู่ที่ตำแหน่งของเขาบนเรือที่กำลังจมอยู่จนกระทั่งถึงที่สุด ข้อความสุดท้ายที่เขาส่งถึงลูกเรือคือ 'จงเป็นชาวบริติช'"[50]

ป้ายดังกล่าวถูกถอดออกใน ค.ศ. 1961 แล้วมอบให้กับโรงเรียนในท้องถิ่น จากนั้นจึงนำกลับมาไว้ที่ศาลากลางเมือง แต่ได้รับการติดกลับเข้าไปใหม่ในส่วนภายในอาคารใน ค.ศ. 1978[51] โรงเบียร์ไททานิกในเบิร์สเล็ม สโตก-ออน-เทรนต์ สร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่เขา[52]

ในฐานะสมาชิกกองหนุนราชนาวี สมิธได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์สองชุดเมื่ออยู่ในเครื่องแบบ ได้แก่ เครื่องราชอิสริยาภรณ์เจ้าหน้าที่กองหนุนราชนาวี และเหรียญการขนส่ง

ครอบครัว

[แก้]

แคเทอรีน แฮนค็อก แม่ของสมิธ อาศัยอยู่ในรันคอร์น เชสเชอร์ ซึ่งเป็นที่ที่สมิธตั้งใจจะเกษียณอายุด้วยเช่นกัน เธอเสียชีวิตที่นั่นในปี ค.ศ. 1893 ไทร์ซา น้องสาวต่างมารดาของสมิธเสียชีวิตใน ค.ศ. 1921 และซาราห์ เอลีนอร์ สมิธ ภรรยาม่ายของเขาถูกแท็กซี่ชนเสียชีวิตในลอนดอนใน ค.ศ. 1931[53] เฮเลน เมลวิลล์ ลูกสาวของพวกเขาแต่งงานและให้กำเนิดแฝดใน ค.ศ. 1923 ได้แก่ ไซมอนและพริสซิลลา ไซมอน เป็นนักบินในกองทัพอากาศอังกฤษ เสียชีวิตใน ค.ศ. 1944 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง พริสซิลลาเสียชีวิตด้วยโรคโปลิโอสามปีต่อมา ทั้งสองคนไม่มีลูก เฮเลนเสียชีวิตใน ค.ศ. 1973[2][ไม่อยู่ในแหล่งอ้างอิง]

การพรรณนา

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "We Are Stoke-on-Trent: What links the Titanic and oatcakes?". BBC News. 29 September 2019. สืบค้นเมื่อ 29 September 2019.
  2. 2.0 2.1 "Plaque for Titanic captain's house in Stoke-on-Trent". BBC News. 20 March 2012. สืบค้นเมื่อ 26 March 2012.
  3. Kasprzak, Emma (15 March 2012). "Titanic: Captain Edward John Smith's legacy". BBC News. สืบค้นเมื่อ 15 April 2012.
  4. Kerins, Dan (10 January 2012). "Captain Edward J. Smith's home, 34 Winn Road, Highfield, Southampton". The Daily Echo. สืบค้นเมื่อ 27 November 2022.
  5. Barczewski, S.L. (2004). Titanic: A Night Remembered. Hambledon and London. p. 165. ISBN 978-1-85285-434-8. สืบค้นเมื่อ 27 Nov 2022. when White Star moved its main port of embarcation to Southampton in 1907 they followed, settling into a large red brick house on Winn Road
  6. Behe, George (29 February 2012). On Board RMS Titanic: Memories of the Maiden Voyage. The History Press. ISBN 9780752483054.
  7. Naval Staff Directorate. "Naval Flags and Ensigns" (PDF). p. 12. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 6 June 2014. สืบค้นเมื่อ 1 January 2013.
  8. "Titanic Captain • Titanic Facts" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2018-06-04. สืบค้นเมื่อ 2023-02-07.
  9. Owner, Practical Boat (2012-09-20). "Titanic captain originally failed his navigation test". Practical Boat Owner (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2023-02-07.
  10. Butler, Daniel Allen (2012). Unsinkable: The Full Story. Frontline Books. pp. 47–48. ISBN 9781848326415.
  11. Cashman, Sean Dennis (1998). America Ascendant: From Theodore Roosevelt to FDR. NYU Press. p. 136. ISBN 9780814715666.
  12. Gary Cooper (2011). Titanic Captain: The Life of Edward John Smith. p. 133. The History Press
  13. Bonner, Kit; Carolyn Bonner (2003). Great Ship Disasters. MBI Publishing Company. pp. 33–34. ISBN 978-0-7603-1336-7.
  14. Gibbons, Elizabeth. "To the Bitter End". williammurdoch.net. สืบค้นเมื่อ 4 November 2018.
  15. "Why A Huge Liner Runs Amuck". Popular Mechanics. Hearst Magazines. February 1932.
  16. For example, the account of his planned retirement is prominently mentioned at the Titanic attraction museums in the United States.
  17. Ryan 1985, p. 10.
  18. Bartlett 2011, p. 24.
  19. Mowbray 1912, p. 278.
  20. Barczewski 2006, p. 13.
  21. Testimony of Arthur G. Peuchen at Titanic inquiry.com
  22. "Robert Williams Daniel | William Murdoch". www.williammurdoch.net.
  23. Ballard & Archbold 1987, p. 22.
  24. 24.0 24.1 Butler 1998, pp. 250–52.
  25. Bartlett 2011, p. 106.
  26. Cox 1999, pp. 50–52.
  27. Butler, Daniel Allen (1998). Unsinkable: The Full Story of RMS Titanic. Mechanicsburg, PA: Stackpole Books. p. 130. ISBN 978-0-8117-1814-1.
  28. "British Wreck Commissioner's Inquiry. Day 9". Titanic Inquiry.
  29. Testimony of Samuel Hemming at Titanic inquiry.com
  30. Ballard & Archbold (1987), pp. 40–41; Chirnside (2004), p. 177.
  31. Daniel Allen Butler writes: "if Smith did indeed go to the bridge around 2:10 a.m. as Steward Brown said, and took refuge inside the wheelhouse, that would explain why Trimmer Hemming did not see him when he went onto the bridge a few minutes later. Earlier, at nightfall, the shutters on the Titanic's wheelhouse windows would have been raised, to keep the lights of the wheelhouse from interfering with the bridge officers' night vision: Trimmer Hemming would have been unable to see Captain Smith had the captain indeed been inside the wheelhouse, awaiting his end". (website) เก็บถาวร 2014-10-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  32. Spignesi, Stephen (2012). The Titanic for Dummies. John Wiley & Sons. p. 207. ISBN 9781118206508. สืบค้นเมื่อ 6 November 2012.
  33. On a Sea of Glass: the life and loss of the RMS Titanic. by Tad Fitch, J. Kent Layton & Bill Wormstedt. Amberley Books, March 2012. pp 329-334
  34. "TIP | United States Senate Inquiry | Day 14 | Testimony of Harold S. Bride, recalled". www.titanicinquiry.org.
  35. "Mrs. Eleanor Widener | William Murdoch". www.williammurdoch.net.
  36. 36.0 36.1 "Secondary accounts - no mention of an officer's suicide (from Logan Marshall's Sinking of the Titanic and Great Sea Disasters)". Bill Wormstedt's Titanic. สืบค้นเมื่อ June 22, 2023. Captain Smith … did not shoot himself," ... "jumped from the bridge.
  37. Maltin, Tim; Aston, Eloise (2011). "#83 Captain Smith Committed Suicide As the Ship Went Down". 101 Things You Thought You Knew About the Titanic . . . but Didn't! (E-book ed.). Penguin. ISBN 9781101558935.
  38. Gracie, Archibald (7 August 2012). The Truth About the Titanic. Tales End Press. ISBN 9781623580254 – โดยทาง Google Books.
  39. "Cries in the Night". 19 September 2000. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 September 2000. สืบค้นเมื่อ 1 February 2018.
  40. "Captain Edward John Smith". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 August 2014. สืบค้นเมื่อ 6 October 2014.
  41. 41.0 41.1 41.2 Lord, Walter (6 March 2012). A Night to Remember: The Sinking of the Titanic. Open Road Media. ISBN 9781453238417 – โดยทาง Google Books.
  42. "Charles Eugene Williams | William Murdoch". www.williammurdoch.net.
  43. Howells, R. (1999). "5 - 'Be British!'". The Myth of the Titanic. Palgrave Macmillan. pp. 99–119. ISBN 9780230510845. สืบค้นเมื่อ June 22, 2023. [page 101]The historical evidence that Smith ever actually said "Be British!" is actually very slight indeed ... myths frequently conform to cultural wishes and expectations rather than documentary evidence.
  44. Formal Investigation Into the Loss of the S.S. "Titanic": Evidence, Appendices, and Index, Volume 3. London: His Majesty's Stationery Office. 1912. p. 220. ISBN 9780115004988. สืบค้นเมื่อ June 22, 2023.
  45. "Smith information at". Titanic-titanic.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 January 2010. สืบค้นเมื่อ 2012-11-06.
  46. Noszlopy, George T. (2005), Public Sculpture in Staffordshire & the Black Country, Liverpool University Press, ISBN 978-0-85323-999-4
  47. 47.0 47.1 47.2 Kerr, Andy (3 November 2011). "Captain of the Titanic is here to stay despite no local connection". Lichfield Mercury. Lichfield. p. 29.
  48. UK Retail Price Index inflation figures are based on data from Clark, Gregory (2017). "The Annual RPI and Average Earnings for Britain, 1209 to Present (New Series)". MeasuringWorth. สืบค้นเมื่อ December 2, 2021.
  49. "Titanic Captain Smith statue Hanley move campaign", BBC News, 26 August 2011, สืบค้นเมื่อ 26 August 2011
  50. Barczewski 2006, pp. 172–173.
  51. Barczewski 2006, p. 175.
  52. "Titanic Brewer" เก็บถาวร 15 เมษายน 2009 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. titanicbrewery.co.uk
  53. Cooper, Gary (31 October 2011). Titanic Captain: The Life of Edward John Smith. History Press Limited. pp. 300–. ISBN 978-0-7524-6777-1. In 1931, Eleanor was ... knocked down by a taxi cab in Cromwell Road, dying a short while ... A verdict of accidental death was returned by the coroner.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]


อ้างอิงผิดพลาด: มีป้ายระบุ <ref> สำหรับกลุ่มชื่อ "lower-alpha" แต่ไม่พบป้ายระบุ <references group="lower-alpha"/> ที่สอดคล้องกัน