เลือดทหารไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เลือดทหารไทย
กำกับขุนวิจิตรมาตรา
เขียนบทขุนวิจิตรมาตรา
อำนวยการสร้างมานิต วสุวัต
นักแสดงนำร.อ.ม.ล.ขาบ กุญชร
ร.อ.หลวงปฏิยัทนาวายุทธ
น.ต.หลวงสุภีอุทกธาร
ร.น.จำเนียร อินทรนิลวัต
ร.ท.เขียน ธีมากร
จมื่นมานิตย์นเรศ
จำรุ กรรณสูตร
กำกับภาพหลวงกลการเจนจิต
กระเศียร วสุวัต
ตัดต่อกระเศียร วสุวัต
ขุนวิจิตรมาตรา (ไม่ใส่เครดิต)
ดนตรีประกอบขุนวิจิตรมาตรา (คำร้อง)
เรือโท มานิต เสนะวีณิน (ทำนอง)
บริษัทผู้สร้าง
ภาพยนตร์เสียงศรีกรุง แบบวสุวัต โดยการสนับสนุนของ กระทรวงกลาโหม
วันฉายพ.ศ. 2478
ประเทศไทย
ภาษาไทย

เลือดทหารไทย เป็นภาพยนตร์พูด (ในฟิล์ม) ของไทยแนวชีวิตและสงคราม ชั้นพิเศษ "ซูเปอร์" เพื่อเผยแพร่กิจการของกองทัพไทย ระบบ 35 มม.ไวด์สกรีน ซาวออนฟิล์ม ขาวดำ พ.ศ. 2478

ภาพยนตร์เสียงศรีกรุง แบบวสุวัต ดำเนินงานสร้างตามความประสงค์ของกระทรวงกลาโหม โดยมีนายทหารชั้นผู้ใหญ่สามกองทัพ (บก เรือ อากาศ) ร่วมเป็นคณะกรรมการอำนวยการใหญ่ [1]

งานสร้าง[แก้]

หนังฟอร์มใหญ่มโหฬารทันสมัย มีฉากการใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ใหม่ เช่น ปืนใหญ่ ปืนกล ลูกระเบิด รถถัง รถเกราะ รถตีนตะขาบขนาดใหญ่ เรือรบแบบต่างๆ ตอร์ปิโด ลูกระเบิดน้ำลึก เครื่องบินขนาดใหญ่ทันสมัย และทหารประจำการเข้าร่วมแสดง ทั้งบนบกและกลางทะเล โดยมีนายทหารสามฝ่ายเป็นที่ปรึกษาทางวิชาการด้านยุทธวิธีต่างๆ

ฉากใหญ่อีกตอนหนึ่งเป็นงานราตรีสโมสรบนเรือรบหลวงกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ดารานำในเครื่องแบบราตรีสโมสรทั้งทหาร ตำรวจและพลเรือน นักแสดงหญิงแต่งชุดราตรีแบบต่างๆ ร่วมด้วยแตรวงทหารเรือ ทีมงานตั้งกล้องหนังเงียบไว้ตัวหนึ่งบนฝั่งท่าราชวรดิษฐ์ และต้องโยงสายอุปกรณ์จากรถอัดเสียงบนฝั่งไปที่กล้องภาพ-เสียงระบบดับเบิลซีสเต็ม/แบบวสุวัต ในเรือ ถ่ายฉากนายทหารลงเรือบดไปขึ้นเรือรบและทักทาย "ไอไอ" ,การเป่านกหวีดรับรอง ,ฉากเต้นรำตอนค่ำและฉากสนทนาท่ามกลางแขกเหรื่อพูดคุยกันตามกราบเรือขณะผู้คนส่วนใหญ่เต้นรำ [2]

บทภาพยนตร์แยกเป็นซีน (Scene) เมื่อผ่านความเห็นชอบจากปรึกษาและคณะกรรมการอำนวยการใหญ่แล้วจึงทำบทสำหรับถ่ายทำหรือชูตติ้งสคริป (Shooting Script) อย่างละเอียด ส่งให้คณะกรรมการใหญ่เป็นผู้สั่งการทุกครั้ง ใช้เวลาถ่ายทำหลายเดือนและขั้นตัดต่ออีกร่วม 3 เดือน

เมื่อเสร็จสมบูรณ์ ทีมงานได้จัดฉายให้ผู้บัญชาการทหารและคณะกรรมการนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ที่ห้องฉายของโรงถ่าย เพื่อตรวจแก้ไขอีก 2 -3 ครั้งและถ่ายฉากรบเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยก่อนส่งมอบคณะกรรมการ

กรมโฆษณาการ นำเข้าฉายที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง ต้นปี พ.ศ. 2478 แล้วส่งฉายทั่วราชอาณาจักร [3]

สถานที่ถ่ายทำ[แก้]

เพลง[แก้]

  1. มาร์ชไตรรงค์ (เพลงหลัก ทำนองไทยเดิมแปลงเข้าโน้ตสากล ลัดดา สุทธิพงษ์ แต่งชุดทหารร้องนำหมู่ตอนประกาศสงคราม )
  2. กุหลาบในมือเธอ (เดิมใช้ชื่อ “ดอกไม้ของหล่อน“ ภายหลังถูกเปลี่ยนชื่อเพลงตอนที่ชรินทร์ นันทนาคร นำมาบันทึกเสียงใหม่) (เนื้อร้องเพลงกล้วยไม้ที่นิยมแพร่หลายใส่ทำนองเพลงไทยสากล ร.อ.ม.ล.ขาบ กุญชร เล่นเปียโนร้องในห้อง)
  3. ความรักในแม่น้ำเจ้าพระยา (หลวงปฏิยัทนาวายุทธ - จำรุ)
  4. มาร์ชเลือดทหารไทย (เพลงหลัก ทำนองฝรั่งใส่เนื้อร้องไทย กองทหารเดินร้องตอนออกสนามรบ)

เพลงต้นฉบับ บันทึกแผ่นเสียงครั่ง 78 ตราโอเดียน (ช้างคู่) ต่อมามีการบันทึกเพลง "กุหลาบในมือเธอ" ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้ฟังตลอดมา โดย ชรินทร์ นันทนาคร ,ธานินทร์ อินทรเทพ ,ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ (ซึ่งได้บันทึกเพลง "ความรักในแม่น้ำเจ้าพระยา" คู่กับ ทิพวัลย์ ปิ่นภิบาล ด้วย) ,อัลบั้มเพลงบรรเลงวงศรีกรุงออร์เคสตร้า โดย อดิง ดีล่า - กังวาล ชลกุล และอัลบั้มเพลงประทับใจในอดีต โดย ประสิทธิ์ พยอมยงค์ เป็นต้น [5]

อ้างอิง[แก้]

  1. กาญจนาคพันธุ์ ,ยุคเพลงหนังและละครในอดีต ,เรืองศิลป์ 2518 หน้า 59-71
  2. กาญจนาคพันธุ์ หน้า 67-68,116
  3. กาญจนาคพันธุ์ หน้า 69-70
  4. ขุนวิจิตรมาตรา ,หลักหนังไทย ,หอภาพยนตร์ชาติ(องค์การมหาชน) 2555 ISBN 978-616-543-150-7 หน้า 70,119
  5. แผ่นเสียง/แถบเสียง/ซีดีตราโอเดียน ,ศรีกรุง ,ไทยทีวีช่อง 4 ,เมโทรแผ่นเสียง ,มูลนิธิขุนวิจิตรมาตรา ฯลฯ