เลอง ฟูโก
ฌ็อง เลอง ฟูโก | |
---|---|
เลอง ฟูโก | |
เกิด | 18 กันยายน ค.ศ. 1819 ปารีส ฝรั่งเศส |
เสียชีวิต | 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1868 ปารีส ฝรั่งเศส | (48 ปี)
สัญชาติ | ฝรั่งเศส |
มีชื่อเสียงจาก | ลูกตุ้มฟูโก |
รางวัล | เหรียญคอปลีย์ (ค.ศ. 1855) |
อาชีพทางวิทยาศาสตร์ | |
สาขา | ฟิสิกส์ |
สถาบันที่ทำงาน | หอดูดาวปารีส |
ฌ็อง แบร์นาร์ เลอง ฟูโก (ฝรั่งเศส: Jean Bernard Léon Foucault; 18 กันยายน ค.ศ. 1819 – 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1868) เป็นนักฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศส
ประวัติ
[แก้]เลอง ฟูโก เกิดที่กรุงปารีสในวันที่ 18 กันยายน ค.ศ. 1819 ครอบครัวของเขาทำธุรกิจโรงพิมพ์ในกรุงปารีส ฟูโกเป็นเด็กขี้โรคและมีปัญหาทางสายตา เขาจึงไม่ชอบไปโรงเรียน ฟูโกได้รับการศึกษาแบบโฮมสคูลที่บ้านโดยแม่ของเขา และหลังจากนั้นเขาได้ศึกษาด้านแพทยศาสตร์ แต่เรียนได้ไม่นานก็ย้ายไปเรียนด้านฟิสิกส์เพราะกลัวเลือด แต่กระนั้นก็ยังเรียนไม่จบ เพราะฟูโกสนใจด้านการประดิษฐ์ทดลองแทน โดยผลงานชิ้นแรกของเขาเริ่มจากการปรับปรุงระบบภาพถ่ายของหลุยส์ ดาแกร์ และเป็นผู้ช่วยให้กับอาลแฟรด ฟร็องซัว ดอเน นักแบคทีเรียวิทยา
หลังจากนั้น เขาก็ช่วยอีปอลิต ฟีโซ นักฟิสิกส์ ในการพิสูจน์เกี่ยวกับความเข้มข้นของแสงอาทิตย์ รังสี วัดค่าความเร็วแสง พิสูจน์ว่าแสงเคลื่อนที่ในน้ำช้ากว่าในอากาศ รวมถึงสนับสนุนแนวคิดที่ว่าแสงนั้นเป็นคลื่น ไม่ใช่อนุภาค กระทั่งในปี ค.ศ. 1851 ฟูโกได้ทำการทดลองเกี่ยวกับการหมุนรอบตัวเองของโลก โดยใช้ลูกตุ้มพิสูจน์ให้เห็นว่าโลกหมุนรอบตัวเอง ซึ่งรูปตุ้มดังกล่าวถูกเรียกว่า ลูกตุ้มฟูโก (Foucault pendulum) แล้วก็ได้กลายเป็นผลงานที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักในเวลาต่อมา ในปีต่อมา ฟูโกได้ประดิษฐ์เครื่องมือที่ใช้ประโยชน์ในการบ่งชี้ทิศทาง ซึ่งก็คือ ไจโรสโคป โดยเป็นล้อที่ติดตั้งอยู่ในวงแหวนที่หมุนได้ และเมื่อหมุนล้อแล้วมันก็จะหมุนในทิศทางเดิมของมัน ไม่ขึ้นกับการเอียงไปมาของวงแหวน
เลอง ฟูโก เสียชีวิตเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1868 ด้วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ชื่อของเขาได้ถูกนำไปจารึกลงบนหอไอเฟล ร่วมกับบุคคลสร้างชื่อของฝรั่งเศสอีก 71 คน