ข้ามไปเนื้อหา

เมฮ์รอน แครีมี นอเซรี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เมฮ์รอน แครีมี นอเซรี
นอเซรีเมื่อปี 2005
เกิด1945[1]
มัสเยดสุลัยมาน รัฐจักรวรรดิอิหร่าน
เสียชีวิต (อายุ 77)
ท่าอากาศยานชาร์ล เดอ โกล ประเทศฝรั่งเศส
ชื่ออื่นเซอร์อัลเฟร็ด เมฮ์รอน
พลเมืองอิหร่าน (ถึง 1977)
ไร้รัฐ (1977–2022)

เมฮ์รอน แครีมี นอเซรี (เปอร์เซีย: مهران کریمی ناصری, ออกเสียง: [mehˈrɒn kæriˈmi nɒseˈri]; 1945 – 12 พฤศจิกายน 2022) หรือรู้จักในชื่อ เซอร์อัลเฟร็ด เมฮ์รอน (อังกฤษ: Sir Alfred Mehran)[2] เป็นผู้ลี้ภัยชาวอิหร่านที่อาศัยอยู่ภายในอาคารผู้โดยสาร 1 ของสนามบินชาร์ล เดอ โกลนับตั้งแต่ 26 สิงหาคม 1988 ถึงกรกฎาคม 2006 ที่ซึ่งเขาถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เขาเขียนอัตชีวประวัติของคชตนเองตีพิมพ์ในชื่อ The Terminal Man ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2004 เรื่องราวของเขายังเป็นแรงบันดาลใจของภาพยนตร์ปี 1993 เรื่อง Lost in Transit และภาพยนตร์ปี 2004 เรื่อง The Terminal

ชีวิตช่วงต้น

[แก้]

นอเซรีเกิดในนิคมขุดเจาะน้ำมันของอังกฤษ-เปอร์เซียแห่งหนึ่งในมัสเยดสุลัยมาน ประเทศอิหร่าน นอเซรีอ้างว่าบิดาของเขาชื่อ Abdelkarim เป็นแพทย์ประจำบริษัทขุดเจาะน้ำมัน[3] ส่วนมารดาเป็นพยาบาลจากสก็อตแลนด์ที่ทำงานกับบิดา แต่ในการให้สัมภาษณ์บางครั้งก็เคยอ้างว่ามารดาเป็นชาวสวีเดน[4][5] เมื่ออายุได้ 28 ปี เขาเดินทางไปยังสหราชอาณาจักรในเดือนกันยายน 1973 เพื่อเข้าศึกษาในคอร์สระยะสามปีด้านยูโกสลาฟศึกษา ที่มหาวิทยาลัยบราดฟอร์ด[6]

ชีวิตในอาคารผู้โดยสาร

[แก้]

นอเซรีอ้างว่าเขาถูกขับออกจากอิหร่านในปี 1977 เนื่องจากไปประท้วงขับไล่ชาห์แห่งราชวงศ์ปาห์ลาวี หลังจากนั้นเขาได้ยื่นจดหมายขอลี้ภัยทางการเมืองไปยังหลายประเทศ หลังผ่านขั้นตอนจำนวนมากในการสมัคร เขาได้รับรองการลี้ภัยโดย UNHCR ในเบลเยียม ที่ซึ่งเข้าใจว่ายินยอมให้สามารถอยู่อาศัยในยุโรปประเทศใดก็ได้ อย่างไรก็ตาม การอ้างนี้เป็นที่ถกเถียง และการตรวจสอบต่อมาพบว่านอเซรีไม่เคยถูกขับออกจากอิหร่าน[4]

เขาสามารถเดินทางไปมาระหว่างสหราชอาณาจักรกับฝรั่งเศส กระทั่งในปี 1988 เขาระบุว่าเอกสารระบุตัวตนของเขาทั้งหมดสุญหายหลังกระเป๋าเดินทางของเขาถูกขโมย[7] ข้อมูลจากแหล่งอื่นเสนอว่าจริง ๆ แล้ว นอเซรีได้ส่งไปรษณีย์เอกสารระบุตัวตนทั้งหมดไปยังบรัสเซลส์ขณะนั่งเรือข้ามฟากไปอังกฤษ และเรื่องการถูกขโมยกระเป๋าที่เขาอ้างนี้ไม่เป็นความจริง[8] หลังเดินทางถึงลอนดอน เขาถูกส่งกลับฝรั่งเศสเนื่องจากไม่สามารถสำแดงหนังสือเดินทางแก่ด่านตรวจคนเข้าเมืองที่ลอนดอนได้ เมื่อกลับมาถึงฝรั่งเศส เขาก็ไม่สามารถยืนยันตัวตนหรือยืนยันสถานะผู้ลี้ภัยได้ เขาจึงถูกกักตัวไว้ในเขต zone d'attente ซึ่งมีไว้สำหรับนักเดินทางที่ไม่มีเอกสารระบุตัวตน[5] ต่อมา กรณีของนอเซรีได้รับการดูแลโดยนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนชาวฝรั่งเศส Christian Bourget[9]

มีความพยายามออกเอกสารใหม่ให้กับเขาจากเบลเยียม แต่เจ้าหน้าที่จะออกเอกสารให้ได้ก็ต่อเมื่อนอเซรีเดินทางมารับด้วยตนเอง กระทั่งในปี 1995 ทางการเบลเยียมได้อนุมัติให้เขาเดินทางมายังเบลเยียม แต่ภายใต้ข้อตกลงว่าเขาจะต้องอาศัยในเบลเยียมภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ นอเซรีปฏิเสธข้อเสนอนี้โดยอ้างว่าอยากเดินทางเข้าสหราชอาณาจักรตามที่ตั้งใจไว้เดิม[7] ทั้งฝรั่งเศสและเบลเยียมได้ยื่นข้อเสนอให้นอเซรีพำนักในประเทศของตน แต่นอเซรีปฏิเสธที่จะลงชื่อในเอกสารเพราะในเอกสารระบุสัญชาติของเขาเป็นอิหร่าน แต่เขาต้องการให้ระบุว่าเป็นอังกฤษ รวมถึงยังไม่ใช้ชื่อ "Sir Alfred Mehran" ตามที่เขาต้องการ[2] การไม่ลงนามในเอกสารนี้ทำให้นักกฎหมายที่ดูแลกรณีของเขา Bourget โมโหเป็นอย่างมาก[8] ในการติดต่อกับครอบครัวของนอเซรี ครอบครัวเขายังระบุว่าเชื่อว่าเขากำลังใช้ชีวิตแบบที่ตัวเองต้องการอยู่[4]

ในปี 2003 สตีเวน สปีลเบิร์ก โดยบริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์ดรีมเวิกส์ของเขา ได้จ่ายเงินแก่นอเซรีเพื่อรับสิทธิ์ในการสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับเขา มีข่าวลือว่าเงินที่จ่ายนั้นสูงถึง US$275,000 ภาพยนตร์ดังกล่าวถูกผลิตและฉายในชื่อ The Terminal กระนั้นก็ไม่ได้นำเนื้อเรื่องจากชีวิตของนอเซรีมาใช้จริงแต่อย่างใด[5] ไม่มีส่วนใดเลยของภาพยนตร์ ทั้งในเอกสาร โฆษณา เครดิตท้ายภาพยนตร์ ที่ระบุถึงชื่อของนอเซรี กระนั้นก็ตาม ในบทความปี 2003 ของ The New York Times ชี้ให้เห็นว่าสปีลเบิร์กแค่ซื้อสิทธิ์ในเรื่องราวชีวิตเขามาเป็น "พื้นฐาน" สำหรับภาพยนตร์เท่านั้น[5]

หลังอาศัยในอาคารผู้โดยสารมา 18 ปี ในปี 2006 เขาถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ที่นั่งประจำของเขาในอาคารผู้โดยสารยังถูกรื้อถอนออกหลังเขาถูกย้ายออกไป ในปลายเดือนมกราคม 2007 เขาออกจากโรงพยาบาลและได้รับการดูแลโดยกาชาดฝรั่งเศส สำนักงานสนามบิน เขาถูกส่งตัวไปอาศัยในโรงแรมใกล้กับสนามบินเป็นเวลาสองสามสัปดาห์ ต่อมาเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2007 เขาถูกส่งตัวไปยังศูนย์ขององค์กรการกุศล Emmaus ในเขต 20 ของปารีส และในปี 2008 มีรายงานว่าเขาอยู่อาศัยในศูนย์พักพิงแห่งหนึ่งในปารีส[7] กระทั่งเขาเสียชีวิตในปี 2022 สำนักข่าว Associated Press รายงานว่าไม่นานมานี้เขาได้เดินทางกลับมาอาศัยในสนามบินดังเดิมก่อนจะเสียชีวิต[10]

เวลาส่วนใหญ่ในสนามบินของเขาหมดไปกับการอ่านหนังสือ เขียนบันทึกประจำวัน และเรียนเศรษฐศาสตร์ เขายังมีสัมภาระทั้งหมดติดตัวอยู่ด้วยตลอดเวลาที่อยู่ในสนามบิน[11] เขายังได้รับตั๋วอาหารกับข้าวของเครื่องใช้เป็นครั้งคราจากพนักงานบนเครื่องบินที่ผ่านไปมา[12]

เสียชีวิต

[แก้]

นอเซรีเสียชีวิตจากหัวใจล้มเหลวในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2022 สิริอายุ 76 ปี ที่ท่าอากาศยานชาร์ล เดอ โกล[13][14][15] โฆษกของท่าอากาศยานระบุว่านับตั้งแต่นอเซรีออกจากสนามบินไปในปี 2007 เพื่อรับการรักษาในโรงพยาบาล หลังจากนั้นมา นอเซรีกลายมาเป็นคนไร้บ้านก่อนที่จะกลับมาอาศัยในสนามบินนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2022[16]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Mehran Karimi Nasseri, le SDF de Roissy qui a inspiré Spielberg est mort à l'aéroport". BFM TV (ภาษาฝรั่งเศส). 12 November 2022. สืบค้นเมื่อ 12 November 2022.
  2. 2.0 2.1 "Stranded at the Airport". Snopes. 2 July 2008. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 March 2022. สืบค้นเมื่อ 2 September 2009.
  3. "The man who lost his past". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 6 September 2004. สืบค้นเมื่อ 13 November 2022.
  4. 4.0 4.1 4.2 Berczeller, Paul (6 September 2004). "The man who lost his past". The Guardian. London. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 May 2019. สืบค้นเมื่อ 1 August 2008.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 Rose, Matthew (21 September 2003). "Waiting For Spielberg". The New York Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 February 2009. สืบค้นเมื่อ 12 June 2008.
  6. Paterniti, Michael (12 September 2003). "The 15 Year Layover". GQ (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 1 July 2022.
  7. 7.0 7.1 7.2 "Mehran Karimi Nasseri - In Transit". h2g2. BBC. 28 May 2008. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 December 2008. สืบค้นเมื่อ 20 August 2008.
  8. 8.0 8.1 Merhan, Alfred (2004). The Terminal Man. Corgi Adult. ISBN 9780552152747. OL 7815505M. 0552152749.
  9. McCaffrey, Stephen C.; Main, Thomas O. (2010). Transnational Litigation in Comparative Perspective: Theory and Application (ภาษาอังกฤษ). Oxford University Press. ISBN 978-0-19-530904-1.
  10. Schaeffer, Jeffrey (12 November 2022). "Iranian who inspired 'The Terminal' dies at Paris airport". AP News (ภาษาอังกฤษ). Associated Press. สืบค้นเมื่อ 12 November 2022.
  11. Adams, Cecil (20 August 1999). "Has a guy been stuck in the Paris airport since 1988 for lack of the right papers?". The Straight Dope. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 February 2009. สืบค้นเมื่อ 17 February 2009.
  12. Gottdiener, Mark (2001). Life in the Air: Surviving the New Culture of Air Travel (ภาษาอังกฤษ). Rowman & Littlefield. ISBN 978-0-7425-0029-7.
  13. "Mehran Karimi Nasseri, le réfugié de Roissy qui a inspiré « le Terminal » de Steven Spielberg, est mort dans l'aéroport". Le Monde.fr. 12 November 2022.
  14. È morto Mehran Karimi Nasseri, l’uomo che ispirò il film The Terminal di Spielberg (ในภาษาอิตาลี)
  15. "Iranian who made Paris airport home for 18 years dies". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 12 November 2022. สืบค้นเมื่อ 12 November 2022.
  16. Vandoorne, Saskya; Ehlinger, Maija (2022-11-13). "Iranian refugee who inspired Spielberg's film "The Terminal" dies inside Paris airport". CNN (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2022-11-13.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]