เพียร์ส เกฟสตัน เอิร์ลแห่งคอร์นวอลล์ที่ 1

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เพียส เกฟสตัน เอิร์ลที่ 1 แห่งคอร์นวอลล์ (อังกฤษ: Piers Gaveston, 1st Earl of Cornwall) เป็นขุนนางอังกฤษที่มีชีวิตอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13 ถึง 14 เขาเป็นคนโปรดของกษัตริย์อังกฤษ คือ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 แห่งอังกฤษ

เพียร์ส เกฟสตันเกิดในช่วงราวปี ค.ศ. 1284 บิดาของเขาคืออาร์โนด์ เดอ แกแบสตง ขุนนางชั้นผู้น้อยในกัสกอญ ส่วนมารดาคือแคลรามง เดอ แมซ็อง อาร์โนด์รับใช้กษัตริย์อังกฤษ คือ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 ด้วยความซื่อสัตย์จนทำให้ครอบครัวของเขาได้รับพระเมตตาจากกษัตริย์ แกแบสตงถึงแก่กรรมในปี ค.ศ. 1302 โดยก่อนหน้าที่จะเสียชีวิต เขาได้ผลักดันให้คนอื่นๆ ในครอบครัวได้เข้าไปรับใช้กษัตริย์จนทำให้ครอบครัวมีหน้าที่การงานที่มั่นคง มีรายได้ที่มั่นคง และมีอนาคตที่มั่นคง

ความสัมพันธ์กับว่าที่กษัตริย์[แก้]

ภาพ "พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 กับคนโปรด, เพียร์ส เกฟสตัน" โดยมาร์คัส สโตน ปี ค.ศ. 1872

เพียร์ส บุตรชายของแกแบสตัน เป็นสมาชิกในครัวเรือนของกษัตริย์ กระทั่งเริ่มเข้าสู่วัยหนุ่ม ในปี ค.ศ. 1300 เขาได้ย้ายไปอยู่ในครัวเรือนของเจ้าชายแห่งเวลส์ที่ต่อมาจะขึ้นเป็นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 เกฟสตันน่าจะมีอายุ 15 หรือ 16 ปีเท่ากับว่าที่กษัตริย์หรือไม่ก็อาจจะแก่กว่าพระองค์เล็กน้อย แหล่งข้อมูลจากยุคนั้นบรรยายถึงเกฟสตันไว้ว่าเป็นคนรูปงาม แข็งแรงปราดเปรียว และสุภาพ มีความเก่งกาจด้านการทหารจนทำให้ได้รับใช้เป็นเพื่อนร่วมรบและเป็นต้นแบบให้เจ้าชายแห่งเวลส์

ความสนิทสนมของทั้งสองพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วมากจนหลายคนมองว่าเป็นความสัมพันธ์แบบรักร่วมเพศ ทว่านักประวัติศาสตร์ยุคใหม่ส่วนหนึ่งแย้งว่าความสัมพันธ์ระหว่างเกฟสตันกับพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 เป็นความสัมพันธ์แบบ "เพื่อนร่วมเป็นร่วมตาย" มากกว่า ทั้งคู่อาจสาบานเป็นพี่น้องกันและเอ็ดเวิร์ดเรียกเกฟสตันว่า "เพียร์สน้องข้า"

เพียร์ส เกฟสตัน เอิร์ลแห่งคอร์นวอลล์[แก้]

ช่วงแรกของกฎบัตรที่พระราชทานตำแหน่งเอิร์ลแห่งคอร์นวอลล์ให้แก่เพียร์ส เกฟสตันในวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1307

เกฟสตันไม่เพียงคนโปรดของเจ้าชายแห่งเวลส์ แต่ยังเป็นที่โปรดปรานของกษัตริย์ ในปี ค.ศ. 1302 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 มีคำสั่งเลื่อนตำแหน่งให้เขาอย่างต่อเนื่อง ทว่าในปี ค.ศ. 1305 เจ้าชายได้ทะเลาะบาดหมางกับวอลเทอร์ แลงตัน บิชอปแห่งลิชฟิลด์ซึ่งเป็นผู้ดูแลทรัพย์สินของอังกฤษ กษัตริย์เข้าข้างแลงตันและตัดสินใจลงโทษพระราชโอรส เป็นเหตุให้เจ้าชายเอ็ดร์ดถูกขับไล่ออกจากราชสำนักของพระราชบิดาและถูกตัดลดเงินสนับสนุน ครัวเรือนของเจ้าชายถูกลดขนาดลง ในปี ค.ศ. 1307 เกฟสตันถูกกษัตริย์เนรเทศไปฝรั่งเศส เจ้าชายได้มอบของกำนัลล้ำค่ามากมายให้แก่เกฟสตัน ทั้งเสื้อผ้าชั้นดีสองชุด, ม้าห้าตัว, หงส์ และนกกระสา และเดินทางไปส่งเขาที่โดเวอร์พร้อมกับนักขับลำสองคน

เมื่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 เสด็จสวรรคตในปีเดียวกัน สิ่งแรกที่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 ทำหลังขึ้นเป็นกษัตริย์คือการเรียกตัวเกฟสตันกลับอังกฤษ กฎบัตรฉบับแรกๆ ที่ตราขึ้นในรัชสมัยของพระองค์คือการพระราชทานตำแหน่งเอิร์ลแห่งคอร์นวอลล์ให้แก่เกฟสตัน ทั้งยังให้เขาสมรสกับมาร์กาเร็ต เดอ แคลร์ ธิดาของโจนแห่งเอเคอร์ผู้เป็นพระเชษฐภคินี ทำให้กษัตริย์กับเกฟสตันกลายเป็นญาติกัน ความสนิทสนมจนเกินงามของทั้งคู่ทำให้หลายคนมองว่าเกฟสตันคือ "กษัตริย์คนที่สอง" สร้างความโกรธแก่เหล่าขุนนาง อีกทั้งพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 ยังแตกต่างจากพระราชบิดาอย่างสิ้นเชิงจีงทำให้มีปัญหากับกลุ่มบารอนผู้ทรงอำนาจ สุดท้ายกษัตริย์กับผู้อยู่ใต้พระราชอำนาจก็กลายเป็นปรปักษ์กัน

การถูกเนรเทศ[แก้]

ภาพพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 แห่งอังกฤษกำลังเข้ารับการสวมมงกุฎ ใน "พงศาวดารอังกฤษ"

แม้จะเป็นคนโปรดของกษัตริย์ แต่เกฟสตันไม่เป็นที่โปรดปรานของราชสำนัก หนึ่งในศัตรูของเขาคือพระนางอีซาแบลแห่งฝรั่งเศสผู้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 ทั้งคู่สมรสกันด้วยเหตุผลทางการเมืองในช่วงที่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 ยังมีชีวิตอยู่ ในตอนนั้นกษัตริย์ต้องการสร้างหลักประกันในการสืบทอดตำแหน่งให้แก่พระโอรสจึงได้จับพระองค์สมรสกับอีซาแบลแห่งฝรั่งเศส พระราชธิดาของพระเจ้าฟีลิปที่ 4 แห่งฝรั่งเศสเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรี ทว่าในวันพิธีสมรส (ซึ่งเป็นช่วงที่เกฟสตันถูกเนรเทศอยู่) เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดเมินเฉยต่ออีซาแบลจนทำให้พระนางกับพระญาติรู้สึกอับอายขายหน้า

แม้สุดท้ายพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 จะมีพระราชบุตรสี่คนกับพระราชินีชาวฝรั่งเศส แต่พระองค์อาจเป็นไบเซ็กซวล ความสนิทสนมของเกฟสตันกับพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 อาจเป็นต้นเหตุของรอยร้าวที่ขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับพระราชินี หลังพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 เสด็จสวรรคต พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 กับพระมเหสีเข้ารับการสวมมงกุฎพร้อมกันที่วิหารเวสต์มินสเตอร์ในปี ค.ศ. 1308 โดยขณะนั้นกษัตริย์มีพระชนมายุ 23 พรรษา ส่วนอีซาแบลมีพระชนมายุ 13 พรรษา ในช่วงพิธีราชาภิเษกมีบันทึกว่ากษัตริย์คนใหม่ใช้เวลาอยู่กับคนโปรดของพระองค์มากกว่าพระราชินีจนทำให้พระญาติส่วนหนึ่งของอีซาแบลตัดสินใจเดินออกจากงาน มีหลักฐานที่ทำให้เชื่อว่าความอับอายขายหน้าที่เกิดขึ้นนี้ส่งผลให้พระเจ้าฟีลิปที่ 4 แห่งฝรั่งเศส พระราชบิดาของอีซาแบลว่าจ้างเอิร์ลแห่งลิงคอร์นและเอิร์ลแห่งเพมโบรกให้กำจัดเกฟสตันลงจากอำนาจ เกฟสตันถูกเนรเทศอีกครั้งไปไอร์แลนด์ในช่วงปลายปี แต่ก็ได้กลับมาในปี ค.ศ. 1309 หลังกลับมาจากการถูกเนรเทศครั่งนี้ ความสัมพันธ์ของเขากับพระราชินีดูจะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น

การเป็นคนโปรดของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 กระตุ้นให้ขุนนางคนอื่นๆ ในราชสำนักริษยาเกฟสตัน อีกทั้งอุปนิสัยที่แข็งกร้าวของเขายิ่งทำให้ทุกอย่างเลวร้ายลง ในช่วงปี ค.ศ. 1310 ความไม่พอใจในหมู่ขุนนางรุนแรงมากจนกษัตริย์ถูกบีบให้ตั้งคณะขุนนางผู้บัญญัติ (Lord Ordainers) อันประกอบด้วยเอิร์ล, บารอน และบิชอป จำนวน 21 คน ขึ้นมาปฏิรูปการบริหารจัดการครัวเรือนของกษัตริย์ ขณะที่กษัตริย์นำทัพไปทำศึกในสกอตแลนด์แต่ไม่สามารถกำราบโรเบิร์ต เดอะ บรูซ

ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1311 คณะขุนนางผู้บัญญัติมีคำสั่งเนรเทศเกฟสตันอย่างถาวร โดยไม่อนุญาตให้เขากลับมาอีก พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 เสนอข้อแลกเปลี่ยนยินดีทำทุกอย่างเพื่อให้เกฟสตันได้อยู่ต่อ แต่คณะขุนนางผู้บัญญัติไม่รับข้อเสนอ ในเดือนพฤศจิกายนคนโปรดของพระองค์ต้องเดินทางออกจากประเทศ ในระหว่างการถูกเนรเทศครั้งที่สามนี้ มาร์กาเร็ต เดอ แคลร์ ภรรยาของเพียร์สได้ให้กำเนิดบุตรสาวนามว่าโจน เกฟสตัน พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 ทุ่มเงิน 40 ปอนด์ (หรือ 100,000 ปอนด์เมื่อเทียบกับค่าเงินในปัจจุบัน) เพื่อจัดงานเลี้ยงฉลองการเกิดของโจนเป็นระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์

การเสียชีวิตของคนโปรดของกษัตริย์[แก้]

ภาพศีรษะของเพียร์ส เกฟสตัน เอิร์ลที่ 1 แห่งคอร์นวอลล์ถูกยื่นแสดงแก่ธอมัส เอิร์ลที่ 2 แห่งแลงคัสเตอร์, ฮัมฟรีย์ เดอ โบฮัน เอิร์ลที่ 4 แห่งเฮริฟอร์ด และเอ็ดมันด์ ฟิตซ์อลัน เอิร์ลที่ 9 แห่งอารันเดล ใน "พงศาวดารอังกฤษ" โดยเจมส์ วิลเลียม เอ็ดมันด์ ดอยล์ ปี ค.ศ. 1864

แม้เกฟสตันจะไปอยู่ที่แฟลนเดอร์ แต่ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1312 เขาแอบกลับมาอังกฤษ สันนิษฐานกันว่าเป็นเพราะความเป็นห่วงภรรยาที่เพิ่งคลอดลูกหรือไม่ก็ต้องการเห็นหน้าบุตรสาว พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดมีประกาศให้การเนรเทศเกฟสตันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทรงคืนทรัพย์สินที่ริบมาทั้งหมดให้แก่เขา เหล่าบารอนจึงหยิบอาวุธขึ้นมาต่อสู้กับกษัตริย์จนเกิดเป็นสงครามกลางเมือง กษัตริย์และเกฟสตันเกือบถูกธอมัส เอิร์ลที่ 2 แห่งแลงคัสเตอร์ (ซึ่งเป็นบุตรชายของเอ็ดมันด์หลังกางเขน พระอนุชาของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1) จับตัวได้ที่นิวคาสเซิล ทั้งคู่รวมถึงพระราชินี (ซึ่งขณะนั้นกำลังตั้งครรภ์พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3) ถูกกลุ่มเอิร์ลทางตอนเหนือของอังกฤษที่กำลังโกรธไล่ต้อนจนต้องหนีทางทะเลไปสการ์เบอโร กลุ่มขุนนางได้วางแผนอย่างแยบยลจนทำให้พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 และพระราชินีเดินทางไปที่อื่นโดยทิ้งเกฟสตันไว้ที่ปราสาทสการ์เบอโร เอิร์ลแห่งเพมโบรกและเอิร์ลแห่งวอริกได้ทำการปิดล้อมปราสาท กระทั่งในเดือนพฤษภาคม เกฟสตันยอมจำนนต่อเอแมร์ เดอ วาล็อง เอิร์ลที่ 2 แห่งเพมโบรกอย่างมีเงื่อนไข คือ หากภายในเดือนสิงหาคมกลุ่มขุนนางยังไม่บรรลุข้อตกลงกับกษัตริย์ เขาจะเดินทางกลับปราสาทสการ์เบอโร

ในช่วงที่กษัตริย์กับกลุ่มเอิร์ลกำลังเจรจาทำข้อตกลงกัน เอิร์ลแห่งเพมโบรกได้รับรองความปลอดภัยแก่เกฟสตันและทิ้งเขาไว้ในเดดดิงตันโดยไร้การคุ้มกันด้วยความประมาทเลินเล่อหรืออาจจะด้วยความตั้งใจ วันต่อมากาย เดอ โบชอมป์ เอิร์ลที่ 10 แห่งวอริกได้เข้าโจมตีปราสาทและจับกุมตัวเกฟสตัน เขาถูกนำตัวไปวอริกเพื่อเข้ารับการพิจารณาคดีโดยมีธอมัส เอิร์ลที่ 2 แห่งแลงคัสเตอร์, ฮัมฟรีย์ เดอ โบฮัน เอิร์ลที่ 4 แห่งเฮริฟอร์ด และเอ็ดมันด์ ฟิตซ์อลัน เอิร์ลที่ 9 แห่งอารันเดลรู้เห็นเป็นใจกัน เกฟสตันถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานกบฏและต้องโทษประหารชีวิต เขาถูกนำตัวขึ้นไปบนยอดแบล็กโลว์ฮิลล์และถูกตัดหัวด้วยดาบในวันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ. 1312 ขณะมีอายุได้ 28 ปี ร่างของเขาถูกทิ้งให้เน่าที่นั่น แต่ต่อมาถูกเก็บไปดองและฝังที่ศาสนสถานดอมินิกันที่คิงส์แลงลีย์ในฮาร์ตฟอร์ดเชอร์ แม้จะถูกประหารชีวิตในวอริกเชอร์ แต่เล่าลือกันว่าวิญญาณของเขาวนเวียนอยู่ในปราสาทสการ์เบอโร การประหารชีวิตของเกฟสตันทำให้พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 รู้สึกถูกหมิ่นพระเกียรติและเสียใจเป็นอย่างมาก

อ้างอิง[แก้]