เจ้าหญิงฮายู
เจ้าหญิงฮายู | |
---|---|
เจ้าหญิงฮายูในพิธีเสกสมรสใน พ.ศ. 2556 | |
ประสูติ | 24 ธันวาคม พ.ศ. 2526 ยกยาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย |
พระภัสดา | เจ้าชายโนโตเนอโกโร (พ.ศ. 2556–ปัจจุบัน) |
พระบุตร | ราเดน มัซ มันเตโย กุนโจโร |
ราชวงศ์ | ฮาเมิงกูบูโวโน |
พระบิดา | ศรีสุลต่านฮาเมิงกูบูโวโนที่ 10 |
พระมารดา | ราตูเฮมัซ |
ศาสนา | ฮินดู (เดิมอิสลาม)[1] |
กุซตี กันเจิง ราตู ฮายู (ชวา: ꦓꦸꦱ꧀ꦡꦶꦑꦁꦗꦼꦁꦫꦡꦸꦲꦪꦸ) เป็นที่รู้จักในพระนาม เจ้าหญิงฮายู (ชวา: ꦲꦪꦸ; ประสูติ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2526) เป็นพระธิดาลำดับที่สี่ของศรีสุลต่านฮาเมิงกูบูโวโนที่ 10 และราตูเฮมัซ เจ้าผู้ครองและพระราชินีแห่งยกยาการ์ตา และเป็นพระขนิษฐาของเจ้าหญิงมังกูบูมี รัชทายาทแห่งยกยาการ์ตา เจ้าหญิงฮายูเสกสมรสกับเจ้าชายโนโตเนอโกโร (นามเดิม อังเงอร์ ปรีบาดี วีโบโน) ผู้บริหารโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศอินโดนีเซีย และบุคลากรเชี่ยวชาญองค์การสหประชาชาติ นิวยอร์ก สหรัฐ
พระประวัติ
[แก้]เจ้าหญิงฮายู ประสูติเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2526 ณ ยกยาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เป็นพระธิดาลำดับที่สี่จากทั้งหมดห้าพระองค์ของศรีสุลต่านฮาเมิงกูบูโวโนที่ 10 และราตูเฮมัซ เจ้าผู้ครองและพระราชินีแห่งยกยาการ์ตา มีพระเชษฐภคินี คือ เจ้าหญิงมังกูบูมี เจ้าหญิงจนโดรกีโรโน เจ้าหญิงมาดูเร็ตโน และพระขนิษฐาคือ เจ้าหญิงเบินดารา
เจ้าหญิงฮายูทรงเข้ารับการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจากประเทศออสเตรเลียเป็นะระยะเวลาหนึ่งปี ก่อนเข้าศึกษาที่โรงเรียนมัธยมศึกษาซามัน 3 ปัดมานาบา ยกยาการ์ตา ที่เดียวกับเจ้าชายโนโตเนอโกโร หลังจากนั้นได้เสด็จไปศึกษาต่อที่โรงเรียนนานาชาติในประเทศสิงคโปร์ หลังจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษา ทรงศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ วิชาเอกวิทยาการคอมพิวเตอร์ สถาบันเทคโนโลยีสตีเวนส์ สหรัฐ ก่อนย้ายไปศึกษาต่อด้านการออกแบบและการจัดการไอที มหาวิทยาลัยเบิร์นเมาท์
เสกสมรส
[แก้]เจ้าหญิงฮายูทรงหมั้นหมายกับอังเงอร์ ปรีบาดี วีโบโน เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2556 หลังทั้งสองคบหากัน 10 ปี ทั้งสองรู้จักกันครั้งแรกที่นิวยอร์ก ผ่านการติดต่อจากราตูเฮมัซ ซึ่งทรงฝากฝังให้วีโบโนช่วยดูแลเจ้าหญิงฮายูที่เพิ่งเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในสหรัฐ[2]
พิธีเสกสมรสถูกจัดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2556 ณ พระราชวังยกยาการ์ตา อังเงอร์ ปรีบาดี วีโบโน ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าชายโนโตเนอโกโร พิธีดังกล่าวถูกจัดขึ้นยาวนานสามวันสามคืนติดต่อกัน มีอาคันตุกะเข้าร่วมในพิธีเป็นจำนวนมาก รวมถึงซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย[3] และเนื่องจากเจ้าหญิงฮายูเป็นพระธิดาพระองค์สุดท้ายที่ได้เข้าพิธีเสกสมรส สำนักพระราชวังจึงจัดให้พิธีเสกสมรสเป็นงานทางวัฒนธรรมของยกยาการ์ตา มีการจัดรถม้าสิบสองคันเพื่อรับส่งเชื้อพระวงศ์ยกยาการ์ตา จากเดิมที่มีเพียงห้าคันเท่านั้น[4] พิธีเสกสมรสตามโบราณราชประเพณีอย่างยิ่งใหญ่ถูกจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของเมืองเป็นหลัก[5] โดยมีประชาชนกว่าพันคนคอยรับเสด็จกระบวนราชรถของเจ้าหญิงฮายูและพระภัสดา[6]
เจ้าหญิงฮายูมีประสูติการพระโอรสพระองค์แรก พระนามว่า ราเดน มัซ มันเตโย กุนโจโร ซูรีโยเนอโกโร เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2562[7]
เปลี่ยนศาสนา
[แก้]เจ้าหญิงฮายูทรงเปลี่ยนศาสนาจากศาสนาอิสลามเป็นศาสนาฮินดูแบบชวา เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2560 โดยให้เหตุผลว่า พระองค์รู้สึกสงบเมื่อทรงสวดมนต์ที่เทวาลัยหรือร่วมในกระบวนพิธีกรรมเกอจาเว็น-ฮินดู[8]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Wahyura, AA Gde Putu (20 July 2017). "Kanjeng Raden Ayu Mahindrani from the Solo Palace Reveals the Reason for Choosing the Dharma Path". Tribune Bali.
- ↑ J. Gordon Julien (2013-10-25). "Princess bride! Crowds celebrate colorful royal Indonesian wedding". TODAY.com. สืบค้นเมื่อ 2013-11-16.
- ↑ "BBC News - Crowds flock to witness Indonesian royal wedding". Bbc.co.uk. 2013-10-23. สืบค้นเมื่อ 2013-11-16.
- ↑ Pito Agustin Rudyana (2013-10-11). "12 Horse Carriages at Yogyakarta Princess Royal Wedding". Tempo.com. สืบค้นเมื่อ 2013-11-16.
- ↑ "Hive of activity in Yogyakarta for royal wedding". The Jakarta Post. 2013-10-20. สืบค้นเมื่อ 2013-11-16.
- ↑ "Thousands of Yogyakartans greet royal newlyweds | AsiaOne". News.asiaone.com. 2013-10-24. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 2, 2013. สืบค้นเมื่อ 2013-11-16.
- ↑ "Kelahiran Putera GKR Hayu & KPH Notonegoro". kratonjogja.id. 2019-08-23. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-23. สืบค้นเมื่อ 2020-12-18.
- ↑ Wahyura, AA Gde Putu (20 July 2017). "Kanjeng Raden Ayu Mahindrani from the Solo Palace Reveals the Reason for Choosing the Dharma Path". Tribune Bali.