เขตเกษตรเศรษฐกิจ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เขตเกษตรเศรษฐกิจ ความหมายตามราชกิจจานุเบกษา มีความว่า เขตการผลิตทางการเกษตร ซึ่งรวมทั้งการเลี้ยงสัตว์และการปลูกป่า ที่กำหนดขึ้นให้เหมาะสมกับภาวะตลาดและเศรษฐกิจการเกษตรของประเทศ

การกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจสำหรับสินค้าเกษตร จะก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน มีการผลิตที่เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ ลดปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรจากการใช้ที่ผิดประเภท และทำให้มีระบบการผลิตมีเสถียรภาพยิ่งขึ้น

วิธีการกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจ (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร)[แก้]

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้กำหนดให้มีขั้นตอนในการดำเนินงาน ดังนี้

  • ศึกษาระบบการผลิตพืชในปัจจุบัน เช่น แหล่งผลิต ปริมาณการผลิต ปริมาณความต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ แนวโน้มของตลาดในอนาคตข้างหน้า รวมทั้งเป้าหมายการผลิตที่เหมาะสมสำหรับสินค้าเกษตรแต่ละชนิด
  • วิเคราะห์ความเหมาะสมของพื้นที่ทางด้านกายภาพ โดยใช้ระบบข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ มาวิเคราะห์ความเหมาะสมของพื้นที่ทางด้านกายภาพสำหรับการปลูกพืชแต่ละชนิด
  • วิเคราะห์ความสัมพันธ์ของปัจจัยทางกายภาพและปัจจัยทางเศรษฐกิจ โดยการนำแผนที่ความเหมาะสมของพื้นที่สำหรับสินค้าเกษตรแต่ละชนิดที่ได้ มาวิเคราะห์ร่วมกับปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญและมีผลต่อระบบการผลิต ได้แก่ อุปสงค์และอุปทานของสินค้า เป้าหมายการผลิต แหล่งผลิต ต้นทุนการผลิต ราคาที่เกษตรกรได้รับ กำลังการผลิต และที่ตั้งโรงงานในกรณีที่สินค้าต้องส่งโรงงานเพื่อแปรรูป ในระดับอำเภอ ซึ่งจะมีหลักเกณฑ์ การให้คะแนน การถ่วงน้ำหนัก และเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละพืช

ลักษณะของการแบ่งเขตเกษตรเศรษฐกิจ[แก้]

  1. การกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจเป็นรายสินค้า (Commodities Approach) ดำเนินการกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจสำหรับสินค้าแต่ละชนิด ตามเป้าหมายของการผลิต โดยพิจารณาจากพื้นที่ที่มีศักยภาพในการผลิตระดับที่ 1 (พื้นที่เหมาะสมที่สุด) เป็นรายอำเภอเป็นอันดับแรก ถ้ามีพื้นที่เพียงพอที่จะทำการผลิตให้ได้ตามเป้าหมายแล้วก็จะพิจารณากำหนดเขตเฉพาะในพื้นที่ระดับที่ 1 เท่านั้น แต่ถ้าไม่เพียงพอก็จะพิจารณาในศักยภาพระดับที่ 2 (พื้นที่ที่เหมาะสมปานกลาง) เพิ่มเติมตามลำดับของคะแนนที่ได้จากการวิเคราะห์ หลังจากนั้นจึงพิจารณากำหนดเขตเป็นรายตำบลต่อไป ตามพื้นที่ปลูกจริง จากข้อมูลดาวเทียม และการสำรวจภาคสนาม
  2. การกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจตามศักยภาพการผลิตของพื้นที่ (Area Approach) ในขั้นตอนนี้เป็นการนำเขตเกษตรเศรษฐกิจเป็นรายสินค้ามาซ้อนทับกัน จะทำให้ทราบถึงศักยภาพของพื้นที่ว่ามีความเหมาะสมในการผลิตสินค้าชนิดใดได้บ้าง ในลักษณะเชิงพื้นที่ เพื่อเป็นข้อมูลให้กับเกษตรกรเลือกว่าควรจะผลิตพืชชนิดใด ที่มีความเหมาะสมกับศักยภาพพื้นที่ตัวเอง

อ้างอิง[แก้]