อ่าวปัตตานี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เขื่อนกันทราย ปากน้ำปัตตานี

อ่าวปัตตานี เป็นอ่าวในพื้นที่อำเภอเมืองปัตตานีและอำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ลำน้ำสองสายที่ไหลสู่อ่าวปัตตานี คือ แม่น้ำปัตตานีและคลองยามูหรือคลองยะหริ่ง

ภูมิศาสตร์[แก้]

อ่าวปัตตานีมีจะงอยปากอ่าวที่เรียกว่าแหลมตาชีหรือแหลมโพธิ์ ยื่นออกไปในแนวตะวันตกตะวันออก ก่อตัวเป็นแนวสันทรายยื่นออกไปในทะเลในแนวที่เกือบขนานกับพื้นแผ่นดิน โอบล้อมพื้นที่ตอนในของอ่าวในลักษณะสันดอนจะงอยทราย ส่วนปลายของแหลมโพธิ์โค้งงอเข้าหาฝั่งคล้ายตะขอ มีความยาวประมาณ 18.5 กิโลเมตร ส่วนกว้างสุดของแหลมอยู่ที่บ้านบูดี กว้าง 1.6 กิโลเมตร ส่วนที่แคบที่สุดอยู่ที่บ้านตะโล๊ะสะมิแล กว้าง 70 เมตร ถือเป็นอ่าวน้ำตื้น มีความลึกเฉลี่ย 1.2 เมตร โดยมีพื้นที่ทั้งสิ้นประมาณ 74 ตารางกิโลเมตร แบ่งเป็นพื้นที่ภายในอ่าว 54 ตารางกิโลเมตร และพื้นที่ปากอ่าว 20 ตารางกิโลเมตร[1]

ระบบนิเวศน์[แก้]

ระบบไหลเวียนน้ำภายในอ่าวที่ผสมผสานกันระหว่างน้ำจืดและน้ำเค็มและน้ำกร่อย เป็นระบบนิเวศแบบทะเลตมและป่าชายเลน อ่าวปัตตานีมีสัตว์หน้าดินไม่ต่ำกว่า 159 ชนิด สาหร่ายทะเลจำนวน 8 ชนิด และหญ้าทะเลจำนวน 4 ชนิด กระจายภายในอ่าว พบนกที่อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ นกตะกรามและนกปากช้อนหน้าดำ และพบนกอีก 21 ชนิด ที่อยู่ในสถานภาพใกล้ถูกคุกคาม โดยชนิดที่มีการแพร่กระจายมาก คือ นกหัวโตมลายูรองลงมาเป็นนกกระเต็นใหญ่ปีกสีน้ำตาลและนกซ่อมทะเลอกแดง[1] ในอ่าวปัตตานีเคยพบพะยูนมาหากินบริเวณอ่าวปัตตานีมาแล้วหลายปี

ประวัติ[แก้]

ในอดีตมีการใช้อ่าวปัตตานีเป็นที่กำบังลมทอดสมอของเรือสินค้า ทำให้เกิดบ้านเมืองที่พัฒนามาจากชุมชนเมืองท่าภายในบริเวณอำเภอยะรังที่อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดินราว 15–16 กิโลเมตร มาเป็นเมืองปาตานีซึ่งเป็นเมืองท่าชายฝั่งริมอ่าวด้านใน เมืองมีความเจริญด้านารค้าทางทะเลเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 21[2]

ปัจจุบันชาวบ้านรอบอ่าวปัตตานีอาศัยกันอย่างหนาแน่น ใช้ชีวิตทางประมงชายฝั่งหรือประมงพื้นบ้านขนาดเล็กต้องพบปัญหาความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม ระหว่าง พ.ศ. 2560–2562 มีโครงการขุดลอกอ่าวปัตตานีเพื่อแก้ปัญหาการตื้นเขินของอ่าวปัตตานี[3] แต่กลับทำให้อ่าวปัตตานีตื้นเขินมากขึ้น เนื่องจากผู้ดำเนินโครงการได้ทิ้งตะกอนทราย วัสดุขุดลอกจนทับถมบริเวณที่ทำกินของชาวบ้านในวงกว้าง ทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำและระบบนิเวศ[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "แผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการอนุรักษ์และฟื้นฟู ระบบนิเวศอ่าวปัตตานี พ.ศ. 2558-2562" (PDF). สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. p. 5.
  2. วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. "สถานภาพการศึกษาภูมิวัฒนธรรมอ่าวปัตตานี". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์.
  3. อรสา ศรีดาวเรือง. "ไอ้โง่ ความเงียบ สันดอนทราย และความตายของอ่าวปัตตานี ภายใต้ชื่อ 'พสกนิกรรอบอ่าวสู่สันติสุข'". waymagazine.
  4. "อ่าวปัตตานี : โครงการขุดลอกเพื่อแก้ปัญหาความยากจนแต่ให้ผลตรงกันข้าม". บีบีซีไทย.