ข้ามไปเนื้อหา

อาร์เตมีเซีย เจนตีเลสกี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
“ภาพเหมือนตนเอง” (ราว ค.ศ. 1630)

อาร์เทมิเซีย เจ็นทิเลสชิ (ภาษาอังกฤษ: Artemisia Gentileschi) (8 กรกฎาคม ค.ศ. 1593 - ค.ศ. 1651/1653) เป็นจิตรกรบาโรกสมัยต้นของประเทศอิตาลีในคริสต์ศตวรรษที่ 17 อาร์เทมิเซียเกิดที่กรุงโรมและเสียชีวิตที่เนเปิลส์มีความเชี่ยวชาญทางการเขียนภาพสีน้ำมัน อาร์เทมิเซียเป็นจิตรกรคนสำคัญคนหนึ่งที่ได้รับอิทธิพลจากคาราวัจโจ และเป็นจิตรกรในสมัยที่ผู้หญิงยังไม่เป็นที่ยอมรับกันในกลุ่มนักเขียนภาพ อาร์เทมิเซียเป็นจิตรกรหญิงคนแรกที่ได้เป็นสมาชิกของสถาบันวิจิตรศิลป์แห่งฟลอเรนซ์ (Accademia di Belle Arti Firenze) และเป็นสตรีคนแรกที่เขียนภาพเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์และศาสนาในสมัยที่หัวข้อเช่นนี้เชื่อกันว่าเป็นสิ่งที่เกินกว่าผู้หญิงจะเข้าใจได้

ชีวิต

[แก้]
“จูดิธตัดหัวโฮโลเฟอร์เนส”
“ซูซานนากับผู้สูงอายุ” (Susanna and the Elders) พิพิธภัณฑ์เชินบอร์น, พอมเมอร์สเฟลเด็น

อาร์เทมิเซีย เจ็นทิเลสชิเกิดที่โรมเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 1593 เป็นลูกคนแรกของจิตรกร โอราซิโอ เจ็นทิเลสชิ (Orazio Gentileschi) ผู้เป็นจิตรกรคนสำคัญของตระกูลการเขียนแบบคาราวัจโจ อาร์เทมิเซียได้รับการฝึกการเขียนเบื้องต้นภายในเวิร์คช็อพของพ่อ และมีฝีมือดีกว่าน้องชายที่ฝึกงานด้วยกัน ในเมื่อพ่อของอาร์เทมิเซียได้รับอิทธิพลจากคาราวัจโจ เธอเองจึงได้รับอิทธิพลตามไปด้วย และวิธีการเขียนของเธอต่างกับพ่อ

งานชิ้นแรกของอาร์เทมิเซียเขียนเมื่ออายุ 17 ปึ (ซึ่งเป็นที่สงสัยกันว่าได้รับความช่วยเหลือจากพ่อ) คือ “ซูซานนากับผู้สูงอายุ” (Susanna e i Vecchioni) ที่เขียนเมื่อ ปี ค.ศ. 1610 เป็นภาพที่แสดงให้เห็นว่าอาร์เทมิเซียใช้ความเหมือนจริงเช่นคาราวัจโจแต่ก็มิได้ละทิ้งแบบการเขียนของโบโลนยาที่รวมทั้งจิตรกรอันนิบาเล คารัคชีไปเสียทั้งหมด

ในปี ค.ศ. 1612 แม้ว่าอาร์เทมิเซียจะแสดงความสามารถในการเขียนภาพมาตั้งแต่ต้น แต่สถาบันศิลปะที่มีแต่ศิลปินผู้ชายก็ยังไม่ยอมรับอาร์เทมิเซีย ขณะนั้นพ่อของอาร์เทมิเซียทำงานกับอากอสติโน ทาสซีเพื่อตกแต่งเพดานของคาสิโนเดลลาโรเซภายในวังพาลลารอสพิกลิโอซิ (Pallavicini Rospigliosi Palace) โอราซิโอจึงจ้างช่างเขียนชาวทัสเคนีให้ฝึกลูกสาว ระหว่างที่ฝึกทาสซีก็ข่มขืนอาร์เทมิเซีย แม้ว่าเริ่มแรกทาสซีสัญญาว่าจะแต่งงานกับอาร์เทมิเซียเพื่อรักษาชื่อเสียงแต่ตอนหลังทาสซีก็บิดเบือนจากสัญญา โอราซิโอจึงฟ้องร้องเจ้าหน้าที่

ระหว่าง 7 เดือนที่ฟ้องร้องกัน ก็พบว่าทาสซีมีแผนที่จะฆ่าภรรยา, ข่มขืนน้องภรรยา, และมีแผนที่จะขโมยภาพเขียนของโอราซิโอ ระหว่างนั้นอาร์เทมิเซียเองก็ถูกทรมานเพื่อเป็นการเค้นความจริงและเพื่อป้องกันการแจ้งความเท็จ ซึ่งทางการขณะนั้นเชื่อว่าถ้าผู้ถูกทรมานยังยืนยันเรื่องเดิมก็แปลว่าพูดความจริง เมื่อเสร็จศาลก็ตัดสินให้จำคุกทาสซีปึหนึ่ง การขึ้นศาลครั้งนี้มีผลต่อการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมของสิทธิสตรีในคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นที่เชื่อกันว่าภาพเขียน “จูดิธตัดหัวโฮโลเฟอร์เนส” (Giuditta che decapita Oloferne) ที่เขียนระหว่างปี ค.ศ. 1612 ถึงปี ค.ศ. 1613 เป็นภาพเขียนที่แสดงความรุนแรง ซึ่งตีความหมายกันว่าเป็นภาพเขียนที่มาจากความรู้สึกในจิตใต้สำนึกของอาร์เทมิเซียเองที่ต้องการแก้แค้นในสิ่งที่เกิดขึ้น

หลังจากศาลตัดสินได้เดือนหนึ่งโอราซิโอก็จัดการให้ลูกสาวแต่งงานกับเปียร์อันโตนิโอ สเตียเทซิ (Pierantonio Stiattesi) ศิลปินชั้นรองจากฟลอเรนซ์ เพื่อเป็นการกู้ชื่อเสียง หลังจากนั้นไม่นานอาร์เทมิเซียและเปียร์อันโตนิโอก็ย้ายไปฟลอเรนซ์ซึ่งอาร์เทมิเซียได้รับสัญญาให้วาดภาพที่วังบวยนาร์โรติและกลายเป็นช่างเขึยนประจำราชสำนักผู้มีชื่อเสียงและได้รับการอุปถัมป์จากตระกูลเมดิชิและพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ เป็นที่เชื่อกันว่าช่วงเวลานี้อาร์เทมิเซียเขียนภาพ “พระแม่มารีและพระบุตร” ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่แกลเลอรีสปาดาที่กรุงโรม

ขณะที่พำนักอยู่ที่ฟลอเรนซ์อาร์เทมิเซียและเปียร์อันโตนิโอมีบุตรธิดาด้วยกันห้าคนผู้ชายสี่ผู้หญิงหนึ่ง แต่พรูเด็นเซียเป็นลูกสาวคนเดียวเท่านั้นที่มีชีวิตรอดมาจนโตและย้ายกลับโรมตามอาร์เทมิเซียเมื่อปี ค.ศ. 1621 และต่อมาเนเปิลส์ หลังจากที่อาร์เทมิเซียเสียชีวิตก็ไม่มีใครทราบความเป็นไปของพรูเด็นเซีย

สมัยฟลอเรนซ์ (ค.ศ. 1614-ค.ศ. 1620)

[แก้]

อาร์เทมิเซียได้รับความสำเร็จเมื่อไปทำงานอยู่ที่ฟลอเรนซ์ เป็นสตรีคนแรกที่ได้รับเข้าสมาชิกของสถาบันการวาดภาพ (Academy of Drawing) และมีความสัมพันธ์อันดีกับศิลปินสำคัญๆ ร่วมสมัยเช่น คริสโตฟาโน อัลลอริ (Cristofano Allori) และได้รับการอุปถัมภ์จากผู้มีอิทธิพลเช่นแกรนดยุคโคสิโมที่ 2 เดอ เมดิชิและโดยเฉพาะแกรนดัชเชสคริสตีนา นอกจากนั้นอาร์เทมิเซียก็ยังมีความสัมพันธ์เป็นอันดีกับกาลิเลโอ กาลิเลอีโดยได้เขียนจดหมายติดต่อกันอยู่ระยะหนึ่ง และกับหลานไมเคิล แอนเจโลชื่อเดียวกันที่กำลังก่อสร้างบ้านบวยนาร์โรติและได้ขอให้อาร์เทมิเซียมาวาดภาพบนเพดานของห้องภาพเขียน

ภาพที่อาร์เทมิเซียเขียนเป็นภาพสัญลักษณ์แฝงคติของความสามารถ (Allegoria dell'Inclinazione) ซึ่งเป็นภาพเปลือยของสตรีผู้ถือเข็มทิศและเชื่อกันว่าสตรึในรูปละม้ายตัวอาร์เทมิเซียเอง และอันที่จริงแล้ววีรสตรีในภาพเขียนทั้งหลายที่อาร์เทมิเซียเขียนต่างก็มีหน้าตาคล้ายอาร์เทมิเซีย ความสำเร็จและเพศขออาร์เทมิเซียทำให้มีข่าวลือต่างๆ ถึงชีวิตส่วนตัวของอาร์เทมิเซียเอง งานที่สำคัญในช่วงเวลานี้ก็ได้แก่ “การสนทนาของแมรี แม็กดาเลน” (La Conversione della Maddalena) และ “จูดิธกับสาวใช้” (Giuditta con la sua ancella) ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์พิตติที่ฟลอเรนซ์ อาร์เทมิเซียเขียนภาพ “จูดิธตัดหัวโฮโลเฟอร์เนส” อีกครั้ง ครั้งนี้ใหญ่กว่าภาพเดิมที่เขียนที่เนเปิลส์ ซึ่งปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ยูฟิซิที่ฟลอเรนซ์

แม้ว่าจะได้รับความสำเร็จระหว่างที่อยู่ฟลอเรนซ์แต่อาร์เทมิเซียก็มีปัญหามากมายกับเจ้าหนี้เพราะความฟุ่มเฟือยของสามี ปัญหาเรื่องเงินทำให้อาร์เทมิเซียตัดสินใจกลับไปโรมในปี ค.ศ. 1621

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ อาร์เทมิเซีย เจ็นทิเลสชิ


สมุดภาพ

[แก้]