อารามเอ็ททาล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก อารามเอททัล)
ด้านหน้าวัด

อารามเอ็ททาล (เยอรมัน: Kloster Ettal) เป็นแอบบีย์คณะเบเนดิกติน ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านชื่อเดียวกันใกล้กับเมืองโอเบอร์อัมแมร์เกา (Oberammergau) และเมืองการ์มิช-พาร์เทินเคียร์เชินในรัฐไบเอิร์น ประเทศเยอรมนี

ประวัติ[แก้]

ภายใน

อารามเอ็ททาลก่อตั้งเมื่อขึ้นวันที่ 28 เมษายน ปี ค.ศ. 1330 ตรงกับวันนักบุญวีตาลิสแห่งมิลาน (Vitalis of Milan) โดย จักรพรรดิลูทวิชที่ 4 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์หรือลูทวิชชาวไบเอิร์น (Ludwig the Bavarian) ที่หุบเขากราสแวง (Graswang valley) ตามที่พระองค์ได้ให้คำปฏิญาณไว้หลังจากกลับมาจากประเทศอิตาลี ตรงจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางการค้าขายระหว่างประเทศอิตาลีและเมืองเอาคส์บวร์ค ประเทศเยอรมนี ตามตำนานกล่าวว่าม้าของจักรพรรดิลูทวิชผงกหัวสามครั้งตรงที่ที่ต่อมาเป็นที่สร้างอารามเดิม ซึ่งในปัจจุบันเป็นที่ตั้งรูปปั้นพระแม่มารีย์ ที่เรียกกันว่า "Frau Stifterin" หรือ "Ettal Madonna" (เอ็ททาลมาดอนนา) เป็นศิลปะตระกูลปีซาโน (Pisano) ซึ่งเป็นของขวัญที่จักรพรรดิลูทวิชทรงมอบให้แก่อาราม รูปปั้นนี้กลายมาเป็นเรลิกที่ผู้แสวงบุญนิยมกันมาสักการะ อารามนี้อุทิศให้แก่แม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์

สถาปัตยกรรมเดิมเป็นแบบศิลปะกอทิก สร้างระหว่างปี ค.ศ. 1330 ถึงปี ค.ศ. 1370 เป็นสิ่งก่อสร้างที่ไม่ใหญ่นักเมื่อเทียบกับอารามระดับเดียวกันในสมัยกลางในแคว้นไบเอิร์น

อารามได้รับความเสียหายมากจากกองทัพของมอริสแห่งแซกโซนี (Maurice of Saxony) ระหว่างการปฏิรูปศาสนา แต่รอดจากการถูกทำลายระหว่างสงครามสามสิบปี (Thirty Years' War) ระหว่างปี ค.ศ. 1618 ปี ค.ศ. 1648

เมื่อปี ค.ศ. 1709 ภายใต้อธิการปลาซีดุสที่ 2 (Abbot Placidus II Seiz) ถือกันว่าเป็นยุคทองของอารามนี้ท่านก็ได้ก่อตั้ง "Knights' Academy" ("Ritterakademie") ซึ่งกลายมาเป็นสถานศึกษาที่มีชื่อเสียงและเป็นการเริ่มเป็นแนวทางการศึกษาของอารามแห่งนี้ แต่เมื่อปี ค.ศ. 1744 อารามก็ถูกไฟไหม้จนเกือบไม่เหลือ อารามที่สร้างแทนเป็นอารามที่สร้างอย่างโอฬารแบบศิลปะบารอก มีโดมสองชั้นตามแบบของเอนรีโก ซุกกัลลี (Enrico Zuccalli) สถาปนิกชาวสวิส-อิตาลี ที่ทำงานอยู่ที่มิวนิก ผู้เป็นลูกศิษย์ของจัน โลเรนโซ แบร์นีนี การตกแต่งภายในทำโดยโยเซ็ฟ ชมุทเซอร์ (Josef Schmutzer) ช่างปั้นปูนในสกุลศิลปะเว็สโซบรุนเนอร์ (Wessobrunner School) และโยฮัน บัพทิสท์ ชเตราพ์ (Johann Baptist Straub) ผู้เป็นผู้ตกแต่งแท่นบูชาและบริเวณที่ทำพิธีรอบแท่นบูชา

ความใหญ่โตหรูหราของอารามทำให้อารามเพิ่มความสำคัญขึ้นและกลายมาเป็นอารามที่สำคัญที่สุดในบริเวณเชิงเทือกเขาแอลป์

การปฏิรูปสถาบันคริสต์ศาสนา[แก้]

รูปปั้นแบบโรโกโก

อารามถูกยุบเลิกเมื่อปี ค.ศ. 1803 ระหว่างการ "การปฏิรูปสถาบันคริสต์ศาสนา" (Secularization) หลังจากนั้นอารามถูกขายให้กับโยเซ็ฟ ฟ็อน เอ็ลบิง (Josef von Elbing) เมื่อปี ค.ศ. 1809 ต่อมาลูกหลานของเขา ก็ขายให้กับเคานต์พัพเพินไฮม์ (Count Pappenheim) ระหว่างศตวรรษที่ 19 มีการบูรณะสิ่งก่อสร้างย่อย ๆ ของอารามโดยเฉพาะด้านหน้าของอารามและหอระฆัง

ฟื้นอาราม[แก้]

อารามตกไปเป็นของบารอนเทโอดอร์ ฟอน คราเมอร์-เคลทท์ (Baron Theodor von Cramer-Klett) ผู้ยกอารามนี้คืนนักพรตคณะเบเนดิกตินที่ไชเยิร์น (Scheyern) เมื่อปี ค.ศ. 1900 ซึ่งได้สถาปนาอารามเอ็ททาลกลับเป็นอารามเบเนดิกตินตามเดิม และได้ขึ้นทะเบียนเป็นอารามในตำแหน่ง Basilica minor (มหาวิหารน้อย) เมื่อปี ค.ศ. 1920

ตามประเพณี ของ "Ritterakademie" เดิม อารามก็สร้างโรงเรียนมัธยมศึกษาประจำ (Gymnasium) เชี่ยวชาญทาง มนุษยศาสตร์ และภาษาสมัยใหม่ (modern languages) นอกจากนั้นทางวัดก็ยังมีโรงงานกลั่นเหล้าและทำเบียร์ ร้านขายหนังสือ โรงพิมพ์ โรงแรม โรงงานทำเนยแข็ง และมีโครงร่วมกับธุรกิจอื่น ๆ ด้วย

เมื่อปี ค.ศ. 1993 อารามเอ็ททาลตั้งอดีตอารามเว็คเซิลบวร์ค (Wechselburg Abbey) ซึ่งเคยเป็นอารามคณะออกัสติเนียน ขึ้นมาเป็นอารามคณะเบเนดิกติน

เมื่อปี ค.ศ. 2005 อารามนี้มีนักพรตด้วยกัน 50 องค์ และอีก 5 องค์อยู่ทีเว็คเซิลบวร์ค อารามเอ็ททาลเป็นอารามเบเนดิกตินที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของนิกายนี้และเป็นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวปีละมาก ๆ

อ้างอิง[แก้]

  • Drößler, Adolf, 1930. Königsschloß Linderhof, Oberammergau und Kloster Ettal (Violette Bücher, vol. 7). Würzburg: Bonitas-Bauer.
  • Koch, Laurentius, 1996. Basilika Ettal. Kloster-, Pfarr- und Wallfahrtskirche. Ettal: Buch-Kunstverlag. ISBN 3-87112-074-X
  • Prosch, Magdalena, 1927. Die sonnige Not [historical novel about Ettal Abbey]. Regensburg: Manz.
  • Sarach, Rupert (ed.), 1970. Festschrift zum 300jährigen Weihejubiläum der Klosterkirche Ettal. Ettal: Buch-Kunstverlag.
  • Schenk, Clemens, c. 1960. Kloster Ettal bei Oberammergau. Eine kunstgeschichtliche Betrachtung. Würzburg: Triltsch.
  • Schnell, Hugo, 1960. Ettal. Kloster- und Marien-Münster (Große Kunstführer, vol. 3). Munich: Schnell & Steiner.
  • Seidel, Max, 1949. Ad gloriam dei. Neue Bilder vom Benediktinerkloster Ettal. Stuttgart: Belser.
  • Anon, 1860. Kloster Ettal. Kurzgefaßte Nachricht von dem Ursprunge, Fortgange und Ende des Benediktinerklosters Ettal. Munich: Weiß.

ข้อมูลเพิ่มเติม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

สมุดภาพ[แก้]