อัลเฟรด เวล
อัลเฟรด เวล | |
---|---|
อัลเฟรด เวล | |
เกิด | 25 กันยายน ค.ศ. 1807 มอร์ริสทาวน์ รัฐนิวเจอร์ซีย์ |
เสียชีวิต | 18 มกราคม ค.ศ. 1859 |
สัญชาติ | อเมริกัน |
อาชีพ | ช่างเครื่อง, นักประดิษฐ์ |
มีชื่อเสียงจาก | มีส่วนร่วมในการประดิษฐ์โทรเลข |
อัลเฟรด ลิวอิส เวล (อังกฤษ: Alfred Vail; 25 กันยายน ค.ศ. 1807 — 18 มกราคม ค.ศ. 1859) เป็นช่างเครื่องและนักประดิษฐ์ เวลเป็นศูนย์กลาง ร่วมกับซามูเอล มอร์ส ในการพัฒนาและการประกอบธุรกิจโทรเลขระหว่าง ค.ศ. 1837 ถึง 1844[1] เวลและมอร์สเป็นสองผู้ควบคุมโทรเลขในสายทดลองแรกของมอร์สระหว่างวอชิงตัน ดี.ซี. กับบัลติมอร์ และเวลเป็นผู้ควบคุมอาคารและจัดการสายโทรเลขหลายสายในช่วงเริ่มแรกระหว่าง ค.ศ. 1845 และ 1848 เขายังรับผิดชอบต่อนวัตกรรมทางเทคนิคต่อระบบของมอร์สเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แป้นส่งและรีเลย์แม่เหล็ก เวลปลีกตัวจากอุตสาหกรรมโทรเลขใน ค.ศ. 1848 เนื่องจากเขาเชื่อว่าผู้จัดการสายของมอร์สไม่ได้ให้คุณค่าแก่การมีส่วนร่วมของเขาสักเท่าใด งานสุดท้ายของเขา คือ การเป็นผู้จัดการบริษัทโทรเลขวอชิงตันและนิวออร์ลีนส์ ซึ่งสร้างรายได้เพียง 900 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี โดยเขาเขียนจดหมายถึงมอร์สว่า "ผมได้ตัดสินใจที่จะปล่อยให้โทรเลขเป็นไปตามยถากรรม เพราะมันไม่สามารถดูแลผมได้เลย..."[2]
ประวัติ
[แก้]บิดามารดาของเวล ได้แก่ สตีเฟน เวล (1780-1864) และเบ็ธทีอะห์ ยังส์ (1778-1847) เวลเกิดในมอร์ริสทาวน์ รัฐนิวเจอร์ซีย์ บิดาของเขาเป็นผู้ประกอบการและนักอุตสาหกรรม ผู้ก่อตั้งสปีดเวลล์ ไอร์ออนเวิร์กส์ ให้เป็นหนึ่งในโรงงานผลิตเหล็กที่มีความก้าวหน้าที่สุดแห่งยุค[3] พี่น้องของอัลเฟรด ได้แก่ จอร์จ เวล ผู้ซึ่งเป็นนักการเมืองที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น
อัลเฟรดเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนรัฐบาล ก่อนที่จะเข้าทำงานเป็นช่างเครื่องในโรงงานผลิตเหล็ก เขาเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์กในด้านเทววิทยา ใน ค.ศ. 1832 ที่ซึ่งเขาเป็นนักเรียนที่กระตือรือร้นและประสบความสำเร็จ โดยสำเร็จการศึกษาใน ค.ศ. 1836[1] การเดินทางเยี่ยมโรงเรียนเก่าเมื่อวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1837 ทำให้เขาได้เป็นพยานเห็นหนึ่งในการทดลองโทรเลขครั้งแรก ๆ ของซามูเอล มอร์ส เขาได้มีความสนใจในเทคโนโลยีดังกล่าวเป็นอย่างมาก และเจรจาข้อตกลงกับมอร์สเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวที่สปีดเวลล์ โดยที่เขาจะต้องออกค่าใช้จ่ายเอง แต่จะได้รับผลตอบแทนเป็น 25% ของรายได้ อัลเฟรดได้แตกหุ้นของเขากับน้องชาย จอร์จ เวล เมื่อมอร์สว่าจ้างฟรานซิส สมิธ สมาชิกรัฐสภาจากรัฐเมน เป็นผู้ช่วยงาน เขาได้ลดสัดส่วนถือหุ้นของเวลเหลือหนึ่งในแปด มอร์สผูกขาดสิทธิบัตรในทุกสิ่งที่เวลได้พัฒนาขึ้น
หลังจากได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากบิดา เวลได้ปรับปรุงต้นแบบโทรเลขของมอร์ส เพื่อให้เหมาะสำหรับการนำเสนอต่อสาธารณะและการนำไปประกอบธุรกิจ การสื่อสารด้วยโทรเลขประสบความสำเร็จครั้งแรกที่สปีดเวลล์ไอร์ออนเวิร์กส์ เมื่อวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 1838 โดยส่งข้อความผ่านสายโทรเลขยาว 3 กิโลเมตร ข้อความดังกล่าวเขียนว่า "ผู้ที่อดทนรอไม่ใช่ผู้แพ้" ตลอดเวลาอีกหลายเดือนต่อมา มอร์สและเวลได้แสดงโทรเลขต่อสถาบันแฟรงกลินของฟิลาเดลเฟีย สมาชิกรัฐสภา และประธานาธิบดีมาร์ติน แวน บิวเรน ตลอดจนสมาชิกคณะรัฐมนตรี การแสดงดังกล่าวมีความสำคัญต่อการได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐสภาจำนวน 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในการสร้างสายโทรเลขสายแรกใน ค.ศ. 1844 จากวอชิงตันไปยังบัลติมอร์
มีข้อถกเถียงกันไม่น้อยว่า ระหว่างเวลหรือมอร์ส ผู้ใดเป็นผู้คิดค้น "รหัสมอร์ส" นักวิชาการจำนวนหนึ่งเห็นว่าแท้ที่จริงแล้ว เวลเป็นผู้คิดค้นรหัสดังกล่าว[4][5][6] [7]
เวลได้เกษียณจากกิจการโทรเลขใน ค.ศ. 1848 และย้ายกลับไปอาศัยยังมอร์ริสทาวน์ เขาใช้ชีวิตสิบปีสุดท้ายในการวิจัยเกี่ยวกับวงศ์ตระกูลของตน เนื่องจากเวลได้รับผลประโยชน์เพียงหนึ่งในแปดจากสิทธิบัตรโทรเลขของมอร์สร่วมกับน้องชาย เวลจึงเห็นว่าตนได้รับรายได้จากผลงานของเขาน้อยกว่ามอร์สและคนอื่น ๆ
ผลงานและอุปกรณ์ของเขาได้รับการบริจาคให้แก่สถาบันสมิทโซเนียนและสมาคมประวัติศาสตร์นิวเจอร์ซีย์ โดยบุตรชายของเขา สตีเฟน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-03-21. สืบค้นเมื่อ 2011-01-07.
- ↑ Morse, Edward L., ed. Samuel F. B. Morse, His Letters and Journals. New York, 1914
- ↑ Alfred Vail, World of Invention. Accessed June 1, 2008.
- ↑ Pope, Franklin Leonard. "The American Inventors of the Telegraph, with Special References to the Services of Alfred Vail." Century Illustrated Magazine 35 (April 1888), 924–45. on-line copy at Cornell's Making of America
- ↑ [1]
- ↑ Morse, Edward Lind (June 21, 1904). "Defends His Father's Claim to Paternity of the Telegraph" (PDF). New York Times. สืบค้นเมื่อ 2007-07-21.
My attention has been called to a communication in The New York Times of June 7 headed "Vail, Father of the Telegraph," and signed Stephen Vail. While I have no desire to enter into a newspaper controversy with Mr. Vail, and while I am sure that you have no desire to encourage one, I trust in justice to my father, Samuel F.B. Morse, you will allow me a few words in reply.
- ↑ Vail, Stephen (June 25, 1904). "VAIL-MORSE CONTROVERSY.; Stephen Vail on His Father's Claim to Telegraph Invention" (PDF). New York Times. สืบค้นเมื่อ 2009-12-22.
Alfred Vail ... invented the new "recording receiver," "the sounding key," and the "dot-and-dash" alphabet...but doing his duty in strict accordance with his understanding of the terms of his contract, and that to Morse belonged all the he had accomplished.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Morse Telegraph Club, Inc. (The Morse Telegraph Club is an international non-profit organization dedicated to the perpetuation of the knowledge and traditions of telegraphy.)
- Alfred Vail Biography at speedwell.org เก็บถาวร 2006-05-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- The Electromagnetic Telegraph by J. B. Calvert
- Profile of Alfred Vail (Manuscript Group 50, Alfred Vail Papers, The New Jersey Historical Society) เก็บถาวร 2017-08-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Vail Telegraph Collection (Record Unit 7055, Smithsonian Institution Archives)
- Iles, George (1912), Leading American Inventors, New York: Henry Holt and Company, pp. 158–176