อัลกุรอานเลือด
"อัลกุรอานเลือด" เป็นสำเนาของคัมภีร์อัลกุรอานของศาสนาอิสลาม เขียนขึ้นจากเลือดของอดีตประธานาธิบดีอิรัก ซัดดัม ฮุสเซน ตลอดเวลามากกว่าสองปีในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1990 ซัดดัมมอบหมายให้เริ่มดำเนินงานใน พ.ศ. 2540 ตรงกับวันคล้ายวันเกิดปีที่ 60 ของเขา ซึ่งตามรายงานระบุว่าเขาต้องการขอบคุณพระผู้เป็นเจ้าที่ทรงช่วยเหลือเขาหลายครั้งตลอด "การสมรู้ร่วมคิดและภยันตราย" เขาอธิบายเหตุผลของเขาที่มอบหมายให้สร้างคัมภีร์ดังกล่าวในจดหมายซึ่งได้รับการตีพิมพ์โดยสื่อของรัฐอิรักในเดือนกันยายน พ.ศ. 2543: "ชีวิตของข้าพเจ้าเต็มไปด้วยภยันตรายซึ่งข้าพเจ้าควรจะเสียเลือดเป็นจำนวนมาก ... แต่เนื่องจากเลือดของข้าพเจ้าหลั่งออกมาเพียงเล็กน้อย ข้าพเจ้าจึงร้องขอให้มีผู้เขียนพระวาทะของพระผู้เป็นเจ้าด้วยเลือดของข้าพเจ้าด้วยความรู้สึกขอบคุณ"[1] หลังจากซัดดัมสิ้นอำนาจใน พ.ศ. 2546 อัลกุรอานเลือดถูกนำออกจากการแสดงต่อสาธารณะ ปัจจุบัน ผลงานดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการถกเถียงว่าควรจะดำเนินการอย่างไรกับมันดี เนื่องจากกระบวนการสร้างสรรค์ถือว่าดูหมิ่นศาสนา แต่การทำลายผลงานดังกล่าวก็อาจถือได้ว่าดูหมิ่นศาสนาได้เช่นเดียวกัน[2]
การผลิตและการจัดแสดง
[แก้]คัมภีร์ได้รับการผลิตโดยอับบาส ชากิรฺ เจาดี นักอักษรวิจิตรอิสลาม ผู้ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ในรัฐเวอร์จิเนียในสหรัฐอเมริกา ตลอดช่วงเวลาสองปี ซัดดัมได้อุทิศเลือด 24-27 ลิตร ซึ่งเจาดีได้ใช้ในการคัดเลือกคัมภีร์กว่า 6,000 โองการ ความยาวมากกว่า 360,000 คำ[2] ตามคำบอกเล่าของเจาดี ซัดดัม ฮุสเซนได้เรียกเขาไปยังโรงพยาบาลอิบน์ ซีนา ในกรุงแบกแดด ที่ซึ่งบุตรชายของฮุสเซน อูเดย์ ฮุสเซน กำลังพักฟื้นจากการพยายามลอบสังหาร และต้องการให้เขาเขียนอัลกุรอานด้วยเลือดของเขาว่าเป็น "การให้สัตย์ปฏิญาณรูปแบบหนึ่งจากฝ่ายซัดดัม"[3] ผลงานถูกส่งมอบให้แก่ซัดดัมเป็นทางการเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2543[1] ต่อมา มันได้ถูกจัดแสดงในสุเหร่าอุมม์ อัลมะอาริก (มารดาแห่งการยุทธ์ทั้งปวง) ในแบกแดด ซึ่งสร้างขึ้นโดยซัดดัมเพื่อระลึกถึงสงครามอ่าว (พ.ศ. 2533-34) และได้รับการออกแบบหออะซานให้เป็นรูปจรวดสกั๊ดและลำกล้องไรเฟิลคาแลชนิคอฟ
อัลกุรอานเลือดได้รับการจัดแสดงในอาคารหินอ่อนทรงหกเหลี่ยมซึ่งตั้งอยู่บนทะเลสาบประดิษฐ์ภายในเขตสุเหร่า มีเพียงแขกที่ได้รับเชิญเท่านั้นที่จะสามารถมาดูผลงานนี้ได้ เนื่องจากอาคารดังกล่าวมักจะถูกปิดล็อกและห้ามเข้า[4][5] ตามข้อมูลของนักหนังสือพิมพ์ชาวออสเตรเลีย พอล แมกควอจ์ ผู้ซึ่งมีโอกาสได้เห็นอัลกุรอ่านเลือดหน้าหนึ่ง ได้กล่าวว่า "ตัวอักษรเลือดมีขนาดสูงประมาณสองเซนติเมตรและขอบหน้ากว้างซึ่งใช้ในการตกแต่งนั้นเป็นประกายแวววาว สีน้ำเงิน ทั้งอ่อนและเข้ม จุดสีแดงและชมพู และการเน้นไฮไลต์ขดงอด้วยสีดำ" มาร์ติน ชูลอฟ จากหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน อธิบายว่ามันเป็น "หนังสือที่ประดิษฐ์ขึ้นอย่างวิจิตรพิสดาร ซึ่งสามารถนำไปจัดแสดงในนิทรรศการศิลปะใด ๆ ก็ได้ หากไม่ใช่เพราะข้อเท็จจริงที่ว่ามันเขียนขึ้นด้วยเลือด"[2]
หลังการสิ้นอำนาจของซัดดัม
[แก้]หลังจากการนำทัพบุกแบกแดดนำโดยกองทัพสหรัฐในเดือนเมษายน พ.ศ. 2546 ผู้รับผิดชอบดูแลสุเหร่าได้นำอัลกุรอานเลือดไปเก็บไว้เพื่อความปลอดภัย การเสียชีวิตของซัดดัมได้ทำให้องค์การศาสนาและฝ่ายฆราวาสอิรักอยู่ในสภาวะลำบากอย่างรุนแรง ในแง่หนึ่ง ศาสนาอิสลามถือว่าเป็นฮะรอม (ข้อห้าม) ที่จะเขียนอัลกรุอานด้วยเลือด พฤติการณ์ของซัดดัมได้รับการประณามใน พ.ศ. 2543 โดยองค์การศาสนาในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และซาอุดิอาระเบีย[6] ศาสตราจารย์อับดุล กอฮ์ฮะร์ อัล-อะนี ศาสตราจารย์ด้านความคิดอิสลามจากมหาวิทยาลัยแบกแดด ได้ให้เหตุผลว่า "ซัดดัมไม่ใช่บุคคลศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นเลือดของเขาจึงสกปรก" อะลี อัลวะอะฮ์ นักบวชนิกายชีอะฮฺผู้ซึ่งถูกจองจำในสมัยซัดดัม อธิบายว่าอัลกุรอานเลือดเป็น "เวทมนตร์ดำของซัดดัม อัลกุรอานเป็นสิ่งที่เกี่ยวกับทองคำและเงิน ไม่ใช่สิ่งที่ไม่บริสุทธิ์ดังเช่นเลือด [อัลกุรอานเลือด] สามารถถูกเผาทิ้งหรือสามารถโยนลงแม่น้ำได้ ผมจะโยนมันลงในแม่น้ำ" ในอีกแง่หนึ่ง เป็นข้อห้ามมิให้ทำให้อัลกุรอ่านแปดเปื้อนหรือเสียหาย โดยที่ชาวอิรักคนหนึ่งได้สรุปถึงปัญหาดังกล่าวว่า "มันเป็นข้อห้ามที่จะเขียนอัลกุรอานด้วยเลือด แต่เราจะทำลายคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์จากพระผู้เป็นเจ้าได้อย่างไร"[2][5]
รัฐบาลอิรักและบุคคลทางการเมืองยังได้แสดงมุมมองที่แตกต่างกันว่าควรจะดำเนินการอย่างไรกับอัลกุรอานเลือด รัฐบาลชีอะฮฺไม่ต้องการเห็นการเกิดใหม่ทางสัญลักษณ์ของการปกครองสมัยซัดดัมและตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อดูแลการทำลายสัญลักษณ์เหล่านี้ อดีตศัตรูการเมืองของซัดดัมบางคน อย่างเช่น อะห์มัด ชลาบี ได้ให้เหตุผลสำหรับการทำลายอนุสาวรีย์และสัญลักษณ์บนพื้นดินทั้งหมดสมัยซัดดัมเนื่องจากมันเป็น "เครื่องเตือนใจที่ชัดเจนถึงผลที่ตามมาของการปกครองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จและสร้างภาพบุคคลที่มีความชั่วร้ายอยู่ในตัวว่าเป็นอุดมคติ" ส่วนคนอื่น อย่างเช่น มุวัฟฟัก อัลรุบาอีย์ ได้โต้แย้งว่าชาวอิรัก "จำเป็นต้องจดจำ [สมัยซัดดัม] ทั้งสิ่งที่เลวร้ายและสิ่งที่ดีและเรียนรู้จากบทเรียนดังกล่าว" โฆษกประจำนายกรัฐมนตรีอิรัก อะลี อัลมูซาวี ได้เสนอว่าอัลกุรอานเลือดควรจะเก็บไว้ "เป็นเอกสารสำหรับความป่าเถื่อนของซัดดัม เนื่องจากเขาไม่ควรจะสร้างสิ่งนี้ขึ้นมา มันสามารถบอกอะไรเราได้มากเกี่ยวกับเขา" อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่ามันไม่ควรจะถูกจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ เนื่องจากคงไม่มีชาวอิรักคนใดต้องการได้เห็นมัน แต่มันอาจถูกนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เอกชน อย่างเช่น เรื่องน่าจดจำของฮิตเลอร์หรือสตาลิน[2]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 "Iraqi leader's Koran 'written in blood'. BBC News, 25 September 2000
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 Chulov, Martin. "Qur'an etched in Saddam Hussein's blood poses dilemma for Iraq leaders". The Guardian, 19 December 2010
- ↑ Saddam orders to write the Koran from his blood เก็บถาวร 2004-11-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน". Arabic News, 5 February 2004.
- ↑ Blair, David. "Saddam has Koran written in his blood". The Daily Telegraph, 14 December 2002
- ↑ 5.0 5.1 McGeough, Paul. "Storm over tyrant's unholy blood". The Sydney Morning Herald, 18 December 2003
- ↑ Emirate official: Saddam's writting of the Quran with his blood is prohibited เก็บถาวร 2000-12-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน". Arabic News, 26 September 2000