อันล่วงละเมิดมิได้
ปกต้นฉบับ Noli me Tangere | |
ผู้ประพันธ์ | โฮเซ รีซัล |
---|---|
ชื่อเรื่องต้นฉบับ | Noli Me Tangere |
ผู้แปล | จิตราภรณ์ ตันรัตนกุล |
ประเทศ | ฟิลิปปินส์ |
ภาษา | สเปน |
ประเภท | นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ |
วันที่พิมพ์ | พ.ศ. 2430 |
อันล่วงละเมิดมิได้ (อังกฤษ: Touch Me Not; ละติน: Noli Me Tangere) เป็นนวนิยายอมตะเรื่องหนึ่งของประเทศฟิลิปปินส์ ประพันธ์โดยโฮเซ รีซัล นักเขียนและนักปฏิวัติในยุคเรียกร้องเอกราชจากประเทศสเปน เขาเขียนนวนิยายเรื่องนี้ด้วยภาษาสเปนขณะที่อาศัยอยู่ในยุโรป และเป็นหนังสือต้องห้ามเล่มหนึ่งในอาณานิคมฟิลิปปินส์สมัยนั้น นิยายเรื่องนี้แปลเป็นภาษาไทยโดยจิตราภรณ์ ตันรัตนกุล
ที่มาของชื่อเรื่อง
[แก้]Noli Me Tangere (ออกเสียงว่า "โนลีเมตังเกเร" แปลตรงตัวว่า "อย่าแตะต้องเรา") เป็นวลีสำคัญในศาสนาคริสต์ เป็นคำพูดของพระเยซูหลังจากฟื้นคืนพระชนม์ มีอยู่ในพระวรสาร (Gospel) ของนักบุญมัทธิว, นักบุญมาระโก, นักบุญลูกา และนักบุญยอห์น โดยวลีนี้พระเยซูตรัสกับแมรี แมกเดเลน เพื่อไม่ให้แตะต้องพระองค์ คาดกันว่ารีซัลใช้วลีนี้ในเชิงเสียดสีรัฐบาลเจ้าอาณานิคมและบาทหลวงทั้งหลายที่ขัดขวางไม่ให้เขาแตะต้องประเทศของเขาที่มีปัญหาจากการเป็นอาณานิคม
เนื้อเรื่อง
[แก้]เนื้อหาโดยรวมกล่าวถึงสภาพสังคมของฟิลิปปินส์ในสมัยที่เป็นอาณานิคมของสเปนซึ่งคนพื้นเมืองถูกกดขี่จากชาวสเปน อิบาร์ร่า (ตัวเอกของเรื่อง) กลับจากศึกษาต่อในยุโรปและพบว่าบิดาของเขาที่เสียชีวิตไปก่อนหน้านี้ เสียชีวิตในคุกเพราะถูกบาทหลวงดามาโซใส่ร้ายและศพถูกนำไปทิ้งในทะเลสาบ ไม่ได้ถูกฝังตามประเพณีของชาวคริสต์ แม้แต่ต้นตระกูลของอิบาร์ร่าเองก็มีความชั่วร้ายอยู่เบื้องหลัง ปู่ของเขาเป็นชาวสเปนที่เข้ามาขูดรีดชาวพื้นเมือง และจบชีวิตด้วยการแขวนคอตาย มาเรีย คลารา คนรักของอิบาร์ร่า ก็เป็นบุตรีลับ ๆ ของบาทหลวงดามาโซ และยังเป็นที่หมายปองของบาทหลวงซัลวี ความขัดแย้งระหว่างอิบาร์ร่ากับบาทหลวงทำให้ความฝันที่จะเปิดโรงเรียนเพื่อเด็ก ๆ ของเขาไม่สำเร็จ ตัวเขาเองถูกจับและต้องหลบหนีไปเป็น “คนนอกกฎหมาย” ส่วนคลาราไปบวชชีในอาราม
อิทธิพล
[แก้]รีซัลเขียนนิยายเรื่องนี้เมื่อ พ.ศ. 2430 ด้วยภาษาสเปน ต่อมาได้แปลเป็นภาษาอื่นหลายภาษารวมทั้งภาษาไทย เป็นนิยายที่มีอิทธิพลต่อแนวคิดทางการเมืองของชาวฟิลิปปินส์ในสมัยนั้น และมีส่วนทำให้รีซัลถูกตัดสินประหารชีวิต เพราะเขาเปิดโปงความเลวร้ายของระบอบอาณานิคมและความเหลวแหลกของศาสนจักรไว้ในนิยายเรื่องนี้ ซึ่งทำให้ฝ่ายศาสนจักรในสมัยนั้นมองเขาเป็นศัตรูคนสำคัญ
อ้างอิง
[แก้]- โฮเซ รีซัล. (2548) อันล่วงละเมิดมิได้. จิตราภรณ์ ตันรัตนกุล, แปล. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- หนังสืออิเล็กทรอนิกส์
- โฮเซ รีซัล. (2548) อันล่วงละเมิดมิได้. เก็บถาวร 2012-03-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จิตราภรณ์ ตันรัตนกุล, แปล. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.