อสังคะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

อสังคะ (อักษรโรมัน Asaṅga; อักษรเทวนาครี: असङ्ग; ภาษาทิเบต: ཐོགས་མེད།; ภาษาจีน: 無著) คณาจารย์ท่านสำคัญของพุทธศาสนานิกายโยคาจาร หรือนิกายวิชญานวาท ในประเทศอินเดีย ท่านอสังคะและท่านวสุพันธุ น้องชายต่างบิดาได้รับการยกย่องให้เป็นปรมาจารย์แห่งสำนักนิกายนี้ นอกจากนี้ ท่านทั้ง 2 ยังเป็นผู้เผยแผ่คำสอนแนวอภิธรรมที่สำคัญยิ่ง

ประติมากรรมไม้แกะสลักรูปพระอสังคะ สร้างขึ้นเมื่อปีค.ศ. 1208 ประดิษฐานที่หอแปดเหลี่ยมเบื้องทิศอุดร แห่งวัดโคฟุคุจิ เมืองนาระ ประเทศญี่ปุ่น

ช่วงต้นของชีวิต[แก้]

ท่านอสังคะมีบิดาอยู่ในวรรณะกษัตริย์ส่วนมารดาอยู่ในวรรณะพราหมณ์ [1] กำเนิดที่เมืองปุรุษปุระ (ปัจจุบันคือเมืองเปศวาร์ ในประเทศปากีสถาน) ในครั้งนั้นเมืองปุรุษปุระเป็นเขตขัณฑสีมาของอาณาจักรคันธาระ นักวิชาการยุคใหม่สันนิษฐานว่าท่านมีช่วงอายุอยู่ในราวศตวรรษที่ 4 ในชั้นต้นคาดว่า ท่านอสังคะอาจสังกัดนิกายมหีศาสกะ หรืออาจสังกัดนิกายมูลสรวาสติวาท [2] แต่ต่อมาแปลงนิกายเป็นฝ่ายมหายาน จากทัศนะของนักวิชาการของบางคน ชี้ให้เห็นว่า ผลงานรจนาของท่านเกี่ยวกับฝ่ายอภิธรรมนั้น ได้รับอิทธิพลมาจากนิกายมหีศาสกะ [3] ดังที่ André Bareau ได้แสดงความเห็นไว้ว่า [4]

"มีหลักฐานบ่งชี้พอสมควรว่า เมื่อแรกอุปสมบทนั้นอสังคะสังกัดนิกายมหีศาสกะ และได้ซึมซับทัศนะเฉพาะของนิกายนี้มาไว้ในผลงานของท่านอยู่ไม่น้อยหลังจากที่ท่านได้กลายเป็นคณาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ของฝ่ายมหายานแล้ว โดยท่านได้ทำการริเริ่มพระอภิธรรมปิฎกของฝ่ายมหายานขึ้น ซึ่งเป็นของแปลกใหม่ของนิกายนี้"

จากบันทึกของพระถังซำจั๋ง ระบุว่า แรกเริ่มนั้น ท่านอสังคะเป็นพระในนิกายมหีศาสกะ ต่อมาเกิดความซาบซึ้งในคำสอนของฝ่ายมหายาน [5] ขณะที่น้องชายต่างบิดาของท่านคือ ท่านวสุพันธุ แรกเริ่มนั้นเป็นพระในสังกัดนิกายวรวาทสตวาท แต่ต่อมาท่านแปลงเป็นฝ่ายมหายาน หลังได้พบกับ อสังคะพี่ชายของท่าน และหนึ่งในศิษย์ของท่านอสังคะ [6]

ผลงานและคำสอน[แก้]

ท่านอสังคะบำเพ็ญภาวนาอย่างจริงจังนานหลายปี กล่าวกันว่าในช่วงเวลานั้น ท่านมักเดินทางไปยังสวรรค์ชั้นดุสิตเพื่อสดับพระธรรมเทศนาของพระศรีอารยะเมตไตรย โพธิสัตว์ และกล่าวกันว่า ผู้ที่จะเดินทางไปยังสวรรค์ชั้นดุสิตนั้นจะต้องมีภูมิวิปัสนากรรมฐานขั้นสูง เรื่องราวตอนนี้ได้รับการบันทึกและถ่ายทอดโดยท่านปรมารถะ พระภิกษุชาวอินเดีย ซึ่งมีช่วงชีวิตระหว่างศตวรรษที่ 6 [7] ทั้งนี้ พระถังซำจั๋งยังได้กล่าวถึงตำนานเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้ว่า [5]

ในป่ามะม่วงใหญ่ห่างจากนครอโยธยาไปทางเบื้องหรดีประมาณ 5 - 6 ลี้ มีพระอารามแห่งหนึ่งที่พระโพธิสัตว์อสังคะรับพระธรรมเทศนาและสังสอนสัปบุรุษทั้งหลาย ในยามราตรีท่านจะเดินทางไปยังสวรรค์ชั้นดุสิตเพื่อเข้าเฝ้าพระศรีอารยะเมตรไตรย โพธิสัตว์ เพื่อศึกษาคำสอนโยคาจารภูมิศาสตร์ คำสอนมหายานสูตรอลังการศาสตร์ คำสอนมัธยันตะวิภาคศาสตร์ เป็นอาทิ ในยามทิวา ท่านจะเทศนาหลักธรรมอันลึกซึ้งเหล่านี้แก่มหาสมาคม

ท่านอสังคะรจนาผลงานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักธรรมของนิกายโยคาจาร เช่นคัมภีร์โยคาจารภูมิศาสตร์ คัมภีร์มหายานสังเคราะห์ และอภิธรรมสมุจจัย เป็นอาทิ อย่างไรก็ตาม พุทธศาสนาสายจีนและทิเบตมีความเห็นขัดแย้งกันบางประการเกี่ยวกับผลงานของท่านอสังคะ ว่าชิ้นใดเป็นของท่านอย่างแท้จริง และชิ้นใดเป็นของพระเมตไตรย [8] นอกจากนี้ ฝ่ายจีนและฝ่ายทิเบตยังไม่ลงรอยกันว่า คัมภีร์รัตนโคตรวิภาคเป็นงานรจนาของท่านอสังคะหรือไม่ ซึ่งฝ่ายทิเบตเห็นว่าใช่ ขณะที่ฝ่ายจีนเห็นว่าเป็นผลงานของท่านสถิรมติ หรือท่านสารมติ ซึ่งในประเด็นนี้ Peter Harvey นักวิชาการด้านศาสนาเห็นว่า ข้อเสนอของฝ่ายทิเบตมีความเป็นไปได้น้อยมาก ขณะที่ท่าน Walpola Rahula นักวิชาการฝ่ายเถรวาทที่ได้ศึกษางานของท่านอสังคะมีความเห็นว่า อภิธรรมสมุจจัยมีความคล้ายคลึงกับคัมภีร์ฝ่ายสุตันตะปิฎกมากกว่าคัมภีร์ฝ่ายอภิธรรมของฝ่ายเถรวาท [9]

ผลงานการรจนาคัมภีร์[แก้]

ชื่อ ภาษาจีน หมายเหตุ
วัชรเฉทิกาปรัชญาปารมิตาสูตรศาสตร์ 金剛般若論 ฝ่ายทิเบตว่าแต่งโดยวสุพันธุ
วัชรเฉทิกาปรัชญาปารมิตาสูตรศาสตร์การิกา 能斷金剛般若波羅蜜多經論頌 แต่งร่วมกับวสุพันธุ
วัชรเฉทิกาปรัชญาปารมิตาสูตรศาสตร์ 能斷金剛般若波羅蜜多經論釋 แต่งร่วมกับวสุพันธุ
โยคาจารภูมิศาสตร์ 瑜伽師地論 ฝ่ายจีนว่าแต่งโดยพระไมเตรยะ
ประกรณารยะวาจาศาสตร์ 顯揚聖教論 -
อภิธรรมสมุจจัย 大乘阿毘達磨集論 -
อารยะศาสนะปกรณ์ 顯揚聖教論頌 -
มหายานสูตราลังการศาสตร์ 大乘莊嚴經論 ฝ่ายทิเบตว่าแต่งโดยพระไมเตรยะ
มหายานสังเคราะห์ 攝大乘論 -
ซุนจงลุ่นอี๋หรูต้าปันรั่วปัวหลั๋วหมีจิง 順中論義入大般若波羅蜜經 พบแต่ฉบับภาษาจีน
(รัตนโคตรวิภาค) มหายาโนตตรตันตระศาสตร์ 究竟一乘寶性論 ฝ่ายทิเบตว่าแต่งโดยพระไมเตรยะ
ลิ่วเหมินเจี้ยวโซ่วซี่ติ้งลุ่น 六門教授習定論 แต่งร่วมกับวสุพันธุ

การบำเพ็ญภาวนา[แก้]

มารดาของท่านอสังคะมีนามว่า ประติษศีล มีศรัทธาประสาทะในพุทธศาสนาอย่างแรงกล้ากับทั้งยังรู้ซึ้งในพระธรรมคำสอนยิ่งนัก เมื่อท่านยังเยาว์มารดาได้สั่งสอนสรรพวิชาคือศิลปศาสตร์ทั้ง 18 แขนงจนเชี่ยวชาญ กระทั่งเจริญวัยขึ้นมารดาได้ซักถามท่านอสังคะและท่านวสุพันธุว่า จะใช้ชีวิตเยี่ยงคฤหัสถ์ ด้วยการสมรสและรับภารกิจต่อจากผู้เป็นบิดา หรือว่าจะอุปสมบทเป็นพระภิกษุและกระทำกิจเกื้อหนุนสรรพสัตว์ทั้งหลาย ท่านอสังคะและพี่ชายตัดสินใจเป็นบรรพชิต

ท่านอสังคะพำนักอยู่ ณ อารามแห่งหนึ่ง เฝ้าเพียรศึกษาพระธรรมจนสามารถสาธยายพระธรรมนับพันๆ โศลกจนขึ้นใจ ท่านยังศรัทธาในพระศรีอารยะเมตไตรย โพธิสัตว์เป็นอย่างยิ่ง จึงดั้นด้นไปกระทำสมาธิภาวนาที่ภูปักษา เฝ้าทำกรรมฐานจดจ่อที่พระเมตไตรยโพธิสัตว์ หลังจากกำหนดจิตกรรมฐานนานถึง 3 ปี มิได้เกิดผลอันใด ท่านรู้สึกท้อแท้ใจจึงเริ่มคิดจะล้มเลิกการบำเพ็ญภาวนาเสีย

ขณะลงจากเขา ท่านแลเห็นกาตัวหนึ่งโผบินกลับรัง ขณะที่มันถลาใกล้ถึงรวงรังนั้นปีกของมันถูเข้ากับแผ่นหินของหน้าผาจนเกิดเป็นรอยขึ้น ด้วยความที่มันบินไปบินมาหลายครั้งหลายครา ท่านอสังคะเห็นดังนั้น จึงรำพึงว่า "เรามิควรท้อแท้ใจโดยง่าย ดูอย่างกาตัวนี้ โผบินไปมากลับรวงรัง จนปีกมันยังทำให้แผ่นผาเป็นรอยได้" คิดได้ดังนั้น ท่านจึงหวนกลับไปบำเพ็ญเพียรต่ออีก 3 ปี

หลังจากผ่านไปอีก 3 ปี ท่านยังรู้สึกไม่พึงใจ ด้วยไม่มีความก้าวหน้าอันใด จึงตัดสินใจละทิ้งการบำเพ็ญภาวนาอีกครั้ง ทว่า ระหว่างที่ลงจากเขาท่านได้ยินเสียงน้ำหยดลงหิน จึงพิจารณาดูเห็นว่า หยดน้ำนั้นยังทำให้ศิลาอันแข็งแกร่งเกิดรูลึกได้ ท่านจึงรำพึงว่า "แม้แต่สิ่งที่อ่อนที่สุดอย่างน้ำยังก่อให้เกิดรูบนก้อนศิลาได้ เราควรจะบำเพ็ญภาวนาต่อไป หากเราปรารถนาจะยังให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ในตัวเอง" ท่านจึงหวนกลับไปยังถ้ำอีกครั้ง เพื่อทำวิปัสนากรรมฐานอีก 3 ปี และด้วยความพากเพียรยิ่งกว่า ปีที่ผ่านมาๆ

แม้จะยากเย็นเพียงใดก็ตาม เวลาก็ผ่านไปอีก 3 ปี ท่านเกิดท้อแท้อีกครั้ง และดำเนินลงจากเขาเข้าไปยังหมู่บ้านใกล้ๆ กันนั้น แลเห็นชายชรากำลังฝนแท่งเหล็กกับเสื้อผ้าฝ้ายอันบางเบาเพื่อทำให้เป็นเข็ม และได้ทำสำเร็จมาแล้วหลายต่อหลายเล่ม ท่านจึงฉุกคิดว่า "แม้แต่การทำเรื่องเล็กน้อยเช่นนี้ยังต้องอาศัยความพยายามอย่างยิ่งยวด เราจึงควรอย่างยิ่งยวดยิ่งกว่าเพื่อบรรลุธรรม" จากนั้นท่านจึงหวนกลับไปบำเพ็ญเพียรอีก 3 ปี

กระนั้น ก็ตามเมื่อเวลาผ่านไปทั้งหมดแล้วถึง 12 ปี ท่านก็ยังไม่ประสบความสำเร็จอันใด วันหนึ่งท่านมายังหมู่บ้าน ได้ยินเสียงสุนัขตัวหนึ่งคร่ำครวญด้วยความเจ็บปวด ท่านจึงมองหาจนพบมันนอนทิ้งร่างกายเน่าเปื่อยให้นอนชอนไช เหลือเพียงขาหน้ากับบางส่วนของร่างเท่านั้น มันจึงทุกข์ทรมานยิ่งท่านอสังคะรู้สึกเจ็บปวดไปกับมัน จึงฉวยเอาแท่งไม้ หวังจะเขี่ยหนอนออกจากแผล แต่เมื่อไม้แตะที่มันเท่านั้น สุนัขตัวนี้ก็ร้องโหยหวนด้วยความเจ็บปวด ท่านจึงพยายมหยิบหนอนด้วยมือ แต่มันก็ยังเจ็บปวดอย่างสุดแสนยามที่นิ้วถูกแผลเน่าเปื่อย

ท่านอสังคะจึงรำพึงว่า เราควรใช้ลิ้นเขี่ยหนอนออกจึงจะควร แต่ในพลันที่ลิ้นของท่านสัมผัสกับสุนัข ร่างของมันแปรเปลี่ยนเป็นพระวรกายของพระศรีอารยะเมตรไตรย โพธิสัตว์ บังเกิดรัศมีแผ่นซ่านไปทั่วทุกสารทิศ ท่านอสังคะยินดีปรีดายิ่งนัก แต่เกิดความแคลงใจจึงซักถามพระโพธิสัตว์ผู้จะตรัสรู้เป็นพระอนาคตพุทธะว่า ข้าแต่พระโพธิสัตว์ ข้าพระองค์จึงต้องผ่านความทุกข์ลำเค็ญมากมาย แต่ไฉนกลับไม่แสดงพระองค์แก่ข้าเล่า?"

พระโพธิสัตว์ดำรัสตอบว่า "เราอยู่กับท่านเสมอมา แต่ที่ท่านมิอาจแลเห็นเรา ด้วยความเมตตาอันไพศาลของท่านต่อสุนัขอนาถา ยังให้อกุศลกรรมทั้งหลายของท่านถูกขจัดสิ้น จึงสามารถแลเห็นเราได้ในที่สุด หากท่านไม่เชื่อคำของเรา จงแบกเราขึ้นไหล่ แล้วไต่ถามใครๆ ดูว่า ได้แลเห็นสิ่งใดฤๅ"

ท่าอสังคะจึงแบกพระโพธิสัตว์ไว้บนเหนือไหล่ แล้วเดินตรงเข้าไปยังเมือง ตะโกนถามผู้สัญจรผ่านไปมาว่า ท่านกำลังแบกสิ่งใดอยู่ หากแต่มีเพียงเสียงหัวเราะเย้ยหยันว่าท่านเป็นคนบ้า เว้นแต่หญิงชราผู้เปี่ยมเมตตาอารีเท่านั้นที่ตอบว่า แลเห็นซากสุนัขตาย ส่วนทาสผู้ซื่อสัตย์ผู้หนึ่งกล่าวว่า แลเห็นเท้าของบุคคลหนึ่งบนไหล่ท่าน ในกาลต่อมา ทาสผู้นี้สำเร็จภูมิธรรมขั้นสูงเพียงแค่แลเห็นพระบาทของพระโพธิสัตว์

หลังจากสิ้นความสงสัยแล้วว่าเหตุที่ไม่อาจเห็นพระโพธิสัตว์เพราะกรรมของสัตว์โลกได้บดบังไว้ พระโพธิสัตว์ได้ไต่ถามท่านอสังคะว่า ท่าปรารถนาในสิ่งใด ท่านตอบว่า ปรารถนาจะประกาศพระสัทธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์จึงเชิญท่านสู่สวรรค์ชั้นดุสิต โดยเกาะชายอาภรณ์ของพระโพธิสัตว์ไป

ท่านอสังคะศึกษาพระธรรมคำสอนบนสวรรค์ชั้นดุสิตนานถึง 50 ปี จึงหวนกลับคือนสู่มนุษย์ภูมิ และเผยแผ่พระธรรมคำสอนกระทั่งละสังขารในวัย 120 ปี [10]

อ้างอิง[แก้]

  1. Tsoṅ-kha-pa Blo-bzaṅ-grags-pa, Robert A. F. Thurman (Page 28)
  2. Doctrinal Affiliation of the Buddhist Master Asanga' - Alex Wayman in Untying the Knots in Buddhism, ISBN 81-208-1321-9
  3. Anacker, Stefan. Seven Works Of Vasubandhu: The Buddhist Psychological Doctor. 1984. p. 58
  4. Rama Karana Sarma. Researches in Indian and Buddhist Philosophy: Essays in Honour of Alex Wayman. 1993. p. 5
  5. 5.0 5.1 Rongxi, Li. The Great Tang Dynasty Record of the Western Regions., Numata Center, Berkeley, 1996, p. 153.
  6. Rongxi, Li. The Great Tang Dynasty Record of the Western Regions., Numata Center, Berkeley, 1996, pp. 154-155.
  7. Wayman, Alex. Untying the Knots in Buddhism: Selected Essays. 1997. p. 213
  8. On Some Aspects of the Doctrines of Maitreya (natha) and the Asanga - Giuseppe Tucci, Calcutta, 1930
  9. Dan Lusthaus, Buddhist Phenomenology. Routledge, 2002, page 44, note 5. Lusthaus draws attention to Rahula's Zen and the Taming of the Bull
  10. Maitreya appears to Asanga จาก http://aumamen.com/story/maitreya-appears-to-asanga