หินที่ยังไม่แข็งตัว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

หินที่ยังไม่แข็งตัว (Unconsolidated rocks) คือตะกอนที่ยังไม่แข็งตัวเป็นหิน ส่วนใหญ่เป็นพวกทราย กรวด ซึ่งจะเป็นชั้นหินอุ้มน้ำที่สำคัญที่สุดซึ่งอาจจะถึง 90% ของแหล่งน้ำบาดาลทั้งหมดที่ใช้ในปัจจุบันนี้ สำหรับชั้นหินอุ้มน้ำในกลุ่มนี้ อาจจะแบ่งได้เป็น 4 พวกใหญ่ ๆ ตามลักษณะการเกิด ดังนี้

ตะกอนธารน้ำปัจจุบัน[แก้]

ตะกอนธารน้ำปัจจุบัน หมายถึง ตะกอนซึ่งตกทับถมอยู่ตามที่ราบลุ่มน้ำหลากของแม่น้ำลำธารปัจจุบัน โดยปกติแล้วถ้าเป็นพวกที่มีขนาดใหญ่ และมีสัมประสิทธิ์ของการซึมได้สูง เช่น พวกทราย กรวด มักจะเป็นชั้นหินอุ้มน้ำที่ดีมาก แต่ถ้าเป็น พวกที่มีขนาดเล็ก เช่น พวกทรายแป้ง ดินเหนียว ทรายละเอียด ก็อาจจะไม่ให้น้าเป็นปริมาณมาก

ตะกอนธารน้ำเก่า[แก้]

ตะกอนธารน้ำเก่า หมายถึง ตะกอนธารน้ำของทางน้ำเก่า ปกติจะมีความหนาและแผ่กระจายกว้างกว่าตะกอนธารน้ำปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าพวกนี้จะมีคุณสมบัติในการให้น้ำดีเท่า ๆ กับพวกตะกอนธารน้ำปัจจุบัน แต่จะเสียเปรียบในด้านปริมาณของน้ำที่ลงไปเพิ่มเติม (Recharge) ทั้งนี้ เพราะว่าในส่วนของตะกอนธารน้ำปัจจุบัน จะมีแม่น้ำไหลผ่าน ทำ ให้สามารถได้รับน้ำลงไปเพิ่มเติมจากแม่น้ำ ดังนั้น จึงต้องระมัดระวังการใช้น้ำจากตะกอนธารน้ำเก่าให้มากกว่าแบบที่เป็นตะกอนธารน้ำปัจจุบัน

ตะกอนตามหุบเขา[แก้]

ลักษณะตะกอนชายหาดที่ถูกพัดพามาสะสมตัว มีลักษณะเป็นริ้ว

ตะกอนตามหุบเขา หมายถึง ตะกอนที่อยู่ตามหุบเขา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น ผลมาจากการผุพังทลายของหินที่ประกอบตัวเป็นภูเขาในบริเวณข้างเคียง ส่วนใหญ่จะเป็นพวกทรายและกรวด ซึ่งมักจะเป็นชั้นหินอุ้มน้ำที่ดีอันหนึ่ง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับตะกอนธารน้ำ ทั้งข้อ ก และข้อ ข ข้างต้นแล้ว มักจะมีคุณสมบัติของการให้น้ำต่ำกว่า เนื่องจากการคัดขนาดไม่ค่อยดี

ตะกอนชายหาด[แก้]

ตะกอนชายหาด หมายถึง กรวด ทราย ที่ถูกพัดพามาและสะสมตัว โดยคลื่นจากทะเล มักจะมีขนาดเล็กและอมน้ำเค็ม บริเวณที่เป็นหาดทราย หรือสันทรายริมฝั่งมักจะมีน้ำจืดอยู่ตอนบน โดยมีน้ำเค็มรองหนุนอยู่ตอนล่าง การเจาะพัฒนาน้ำบาดาลในบริเวณนี้ จึงต้องระมัดระวังในเรื่องของน้ำกร่อยปละน้ำเค็ม

อ้างอิง[แก้]

  • ทวีศักดิ์ ระมิงค์วงศ์. 2546. น้ำบาดาล. ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 373 หน้า.