หอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

หอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2542 ด้วยความร่วมมือของ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย โดยเข้าเป็นสมาชิก ของ หอการค้านานาชาติ หรือ ไอซีซี มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ภาคธุรกิจไทยมีบทบาทโดยตรง ในการร่วมกำหนดนโยบายทางการค้า และการลงทุนในเวทีโลก

หอการค้านานาชาติ หรือ ไอซีซี (International Chamber of Commerce – ICC) เป็นองค์กรเอกชนนานาชาติ ก่อตั้งขึ้นเมื่อในปี พ.ศ. 2462 ปัจจุบันมีสมาชิกและเครือข่ายเป็นองค์กรธุรกิจหลายพันราย ในกว่า 130 ประเทศทั่วโลก มีภารกิจหลักในการส่งเสริมการค้า และการลงทุนระหว่างประเทศ

ปัจจุบัน สมยศ ตั้งมีลาภ ดำรงตำแหน่งเป็น ประธานคณะกรรมการบริหาร หอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย

ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศของไอซีซี[แก้]

นอกจากการเป็นผู้กำหนดและจัดทำกฎระเบียบการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ไอซีซียังมีบทบาทระงับข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศ ผ่านทาง ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศของไอซีซี (ICC International Court of Arbitration) ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2466 โดยนับตั้งแต่มีการจัดตั้ง ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศของไอซีซี ได้จัดการคดีทางการค้าระหว่างประเทศไปแล้วกว่า 13,000 คดี โดยเกี่ยวพันกับคู่พิพาทและอนุญาโตตุลาการ ประมาณ 180 ประเทศทั่วโลก ข้อพิพาทที่เกิดขึ้น มักเกิดจากการที่คู่พิพาทมีพื้นฐานทางกฎหมาย เศรษฐกิจ วัฒนธรรม หรือภาษาแตกต่างกัน และคู่พิพาทอาจต้องการหลีกเลี่ยงการฟ้องร้องต่อศาลภายในประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาความอคติ ความไม่คุ้นเคยต่อการดำเนินคดีของศาลในประเทศ หรือป้องกันไม่ให้มีการเผยแพร่ข้อเท็จจริงที่ไม่สมควรออกสู่สาธารณะ เฉพาะในปี ค.ศ. 2006 มีการดำเนินการอนุญาโตตุลาการของไอซีซีใน 52 ประเทศ เกี่ยวพันกับคู่กรณี 1,613 ราย ใน 125 ประเทศ

การอนุญาโตตุลาการโดยไอซีซี จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ทำให้คู่พิพาทได้รับคำวินิจฉัยชี้ขาดเป็นที่สุดและเป็นอิสระ โดย อนุญาโตตุลาการ ผู้ทำหน้าที่ชี้ขาดข้อพิพาทจะได้รับแต่งตั้งในนามของคู่พิพาท จากผู้ที่มีความเป็นกลาง มีประสบการณ์ เป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในประเด็นพิพาท การอนุญาโตตุลาการมีความแตกต่างจากกระบวนการฟ้องคดีในศาล เพราะเป็นกระบวนการที่มีความยืดหยุ่น และสามารถปรับเปลี่ยนเพื่อให้การระงับข้อพิพาท กระทำได้ในระยะเวลาและค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม นอกจากนี้คำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศของไอซีซี ยังสามารถอ้างอิงเพื่อบังคับใช้ระหว่างประเทศ ได้ง่ายกว่าคำพิพากษาของศาลภายในประเทศ ในกรณีที่ฝ่ายแพ้คดีไม่ปฏิบัติตามคำชี้ขาดอีกด้วย

เว็บไซต์องค์กร[แก้]