หลักการแบ่งแยก
หลักการแบ่งแยก (อังกฤษ: principle of distinction) เป็นหลักการภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ที่ว่าในการกระทำการขัดกันทางอาวุธ ผู้ก่อการโจมตีจะต้องพยายามแบ่งแยกพลรบและผู้มิใช่พลรบให้ได้ และห้ามกระทำการกราดโจมตี เพื่อป้องกันมิให้ผู้มิใช่พลรบรวมถึงพลเรือน (กล่าวคือเป็นบุคคลที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย) ตกเป็นเป้าหมายแห่งการโจมตีทางทหาร ซึ่งจะถือเป็นอาญชกรรมสงคราม
หลักการแบ่งแยกไม่เพียงใช้แต่กับบุคคลเท่านั้น แต่ยังใช้กับทรัพย์สิ่งของ ผู้ก่อการโจมตีจะต้องแบ่งแยกทรัพย์สิ่งของทางทหารและทรัพย์สิ่งของทางพลเรือนให้ได้ ซึ่งกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศเคยนิยามไว้ว่า ทรัพย์สิ่งของทางพลเรือนหมายถึงทรัพย์สิ่งของทั้งสิ้นทั้งปวงที่มิใช่ทรัพย์สิ่งของทางทหาร[1] และห้ามโจมตีต่อทรัพย์สิ่งของพลเรือน "การโจมตีจะต้องจำกัดอย่างเคร่งครัดเพียงต่อเป้าหมายทางการทหาร ในกรณีที่เกี่ยวกับทรัพย์สิ่งของนั้น เป้าหมายทางการทหารจะจำกัดเฉพาะทรัพย์สิ่งของซึ่งโดยลักษณะ สถานที่ตั้ง วัตถุประสงค์ หรือการใช้ จะช่วยก่อให้เกิดประสิทธิผลในการปฏิบัติการทางทหารและการทำลาย"[2] ข้อความดังกล่าวหมายความว่า โครงสร้างพื้นฐานของพลเรือนและสิ่งก่อสร้างของเอกชน (เช่น โรงไฟฟ้า โรงประปา) จะต้องไม่ตกเป็นเป้าหมายแห่งการโจมตีเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตุว่าทหารและพลเรือนมีการใช้งานโครงสร้างพื้นฐานบางอย่างร่วมกันอย่างแบ่งแยกมิได้ เช่นสายเคเบิลใต้ทะเลใต้ทะเล ในกรณีเช่นนี้ ผู้วางแผนโจมตีต้องพิจารณาว่าเข้าข่ายสองข้อหรือไม่ (1) โครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวของข้าศึก ช่วยให้เกิดประสิทธิผลในการปฏิบัติการทางทหารอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ (2) การทำลาย เข้ายึดโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวของข้าศึก จะต้องสร้างความได้เปรียบทางทหารอย่างชัดเจน ซึ่งในกรณีของสายเคเบิลอินเตอร์เน็ตใต้ทะเล ยังเป็นที่กังขากันว่าการทำลายสายเคเบิลใต้ทะเลจะช่วยสร้างความได้เปรียบทางทหารอย่างชัดเจนหรือไม่[3] เพราะสุดท้าย การส่งผ่านเดต้าก็จะหาช่องทางอื่นไปถึงปลายทางอยู่ดี
อ้างอิง
[แก้]- ↑ พิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่หนึ่ง (1977), ข้อ 52(1); ICRC, Study on Customary International Humanitarian Law, 2005, Rule 9.
- ↑ พิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่หนึ่ง (1977), ข้อ 52(2); ICRC, Study on Customary International Humanitarian Law, 2005, Rule 8.
- ↑ ICRC, International humanitarian law and the challenges of contemporary armed conflicts, 2015.