บุคคลที่ได้รับความคุ้มครอง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

บุคคลที่ได้รับความคุ้มครอง (protected persons) หมายถึงบุคคลที่กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ กำหนดให้ได้รับความเคารพและความคุ้มครองจากการตกเป็นเป้าหมายโจมตี และจากการถูกบังคับให้กระทำการอันขัดต่อจรรยาบรรณและหน้าที่ของตน ทั้งนี้ไม่ว่าผู้นั้นจะเข้ามีส่วนในการขัดกันทางอาวุธหรือไม่ก็ตาม ซึ่งเป็นบทบัญญัติในอนุสัญญาเจนีวา 1949 และพิธีสารเพิ่มเติมอนุสัญญาดังกล่าวในปี 1977

บุคคลที่ได้รับความคุ้มครองซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับกองทัพ[แก้]

กฎหมายกำหนดให้บุคคลจำพวกนี้ได้รับการปฏิบัติและการดูแลเอาใจใส่โดยปราศจากการแบ่งแยก

  • ผู้บาดเจ็บและป่วยไข้ในกองทัพในสนามรบ
  • ผู้ซึ่งบาดเจ็บ ป่วยไข้ และเรือต้องอับปาง สังกัดในกองทัพขณะอยู่ในทะเล
  • บุคลากรทางการแพทย์ และบุคลากรทางศาสนา
  • ผู้สื่อข่าวสงคราม

บุคคลมีสถานะพิเศษ[แก้]

บุคคลจำพวกนี้จำเป็นต้องได้รับการพิจารณาเพิ่มเติม

  • ทหารผู้ละทิ้งหน้าที่ ซึ่งตกอยู่ในความควบคุมตัวโดยภาคีปฏิปักษ์ จะได้สถานะเชลยศึก หรือสถานะที่ดีกว่า
  • ทหารผู้แปรพักตร์ ซึ่งตกอยู่ในความควบคุมตัวโดยภาคีต้นสังกัด ไม่มีสิทธิ์ได้สถานะเชลยศึก
  • สายลับ ถ้าเป็นพลรบมีเครื่องแบบให้ถือเป็นเชลยศึก แต่ถ้าเป็นพลเรือนหรือพลรบไม่มีเครื่องแบบให้ถือไม่เป็นเชลยศึก
  • ทหารรับจ้าง ไม่มีสิทธิ์ได้สถานะเชลยศึกหรือพลรบ จึงไม่เป็นบุคคลที่รับความคุ้มครอง

บุคคลพลเรือน[แก้]

อนุสัญญาเจนีวาฉบับที่สี่ให้ความคุ้มครองต่อเฉพาะพลเรือนที่อยู่ในพื้นที่ของภาคีปฏิปักษ์ (อันหมายถึงบุคคลพลเรือนที่อยู่ในอาณาเขตประเทศของตนในส่วนที่ถูกข้าศึกยึดครอง) และต้องเป็นพลเรือนที่ไม่มีส่วนร่วมในการสู้รบ พลเรือนจำพวกนี้ได้รับการคุ้มครองดูแลบนทางมนุษยธรรม ไม่ถูกทรมาน สังหาร หรือทารุณกรรมทางเพศ (พลเรือนสัญชาติที่มิได้เข้าเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาฉบับที่สี่จะไม่ได้รับความคุ้มครองตามนี้)

  • พลเรือนจะได้ร้บความคุ้มครองโดยทั่วไปจากอันตรายซึ่งเกิดขึ้นจากการปฏิบัติการทางทหาร
  • พลเรือนจะไม่ตกเป็นเป้าหมายแห่งการโจมตี และการคุกคาม
  • พลเรือนจะไม่ถูกบังคับให้ออกจากอาณาเขตของตน เว้นแต่ในกรณีความมั่นคงของพลเรือนหรือด้วยเหตุผลทางการทหารอันมิอาจเลี่ยง

อ้างอิง[แก้]