หมู่บ้านฝาย (จังหวัดอุตรดิตถ์)

พิกัด: 17°44′14″N 100°41′46″E / 17.737137°N 100.696132°E / 17.737137; 100.696132
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หมู่บ้านฝาย
Ban Fai


ป้ายทางเข้าหมู่บ้านฝาย ถ่ายเมื่อ กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559
พิกัดภูมิศาสตร์:17.737137° 100.696132°[ลิงก์เสีย]

ข้อมูลทั่วไป
ตำบล บ้านฝาย
อำเภอ น้ำปาด
จังหวัด อุตรดิตถ์
รหัสไปรษณีย์ 53110
การปกครอง
ผู้ใหญ่บ้าน นายเมฆา เสาวภา
ข้อมูลสถิติ
พื้นที่ -
ประชากร 1,062

หมู่บ้านฝาย หรือชื่อเดิม บ้านฝ้าย เป็นหมู่บ้านหนึ่งในตำบลบ้านฝาย อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นหมู่บ้านที่เป็นตั้งของศาลเจ้าพ่อพระยาปาด บุคคลสำคัญในตำนานของชาวอำเภอน้ำปาด ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือในท้องถิ่นลุ่มแม่น้ำปาด

ชาวบ้านฝายส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท มีวัดประจำหมู่บ้าน 1 แห่ง มีโรงเรียน 1 แห่ง ด้านเศรษฐกิจ ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่

ปัจจุบันหมู่บ้านฝาย อยู่ในระดับการปกครองพื้นที่มีหมู่เดียว จำนวน 297 หลังคาเรีอน ปัจจุบันมีนายเมฆา เสาวภา เป็นผู้ใหญ่บ้านฝาย[1]

ประวัติ[แก้]

ความเป็นมาชื่อหมู่บ้าน[แก้]

อุโบสถวัดศรีสะอาดโพธิ์ชัย อายุเก่าแก่นับร้อยปี

ตำนานกล่าวว่า บ้านฝายนั้นเป็นเมืองเก่า ตามคำกล่าวของย่าปล้อง เสาวภา เมื่อขณะท่านอายุได้ 95 ปี แต่ปัจจุบันนี้คุณย่าปล้อง ได้เสียชีวิตไปประมาณ 45 ปีแล้ว (พ.ศ. 2559) เพราะคุณย่าปล้อง เป็นผู้ดูแลรักษาสิ่งของๆ ท่านเจ้าพ่อพระยาปาดอยู่มาจนถึงลูกหลานของคุณย่าปล้องดูแลรักษาอยู่จนทุกวันนี้ ท่านย่าปล้องเล่าว่า เดิมทีบ้านฝายเป็นเมืองเก่า เพราะมีวัตถุโบราณของเก่าๆอยู่หลายต่อหลายอย่างอาทิ เช่น เครื่องทำโทษผู้กระทำผิดกฎหมาย ไม้หนีบขมับ ไม้จับตอกกกเล็บมือ แล้วมีพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองอยู่ 7 องค์ด้วยกัน พร้อมเครื่องทรงของท่านเจ้าพ่อพระยาปาดตอนออกรบอยู่ด้วย มีดาบ มีง้าว มีหมวกอยู่ครบชุด มีท่านพ่อพระยาปาดปกครองบ้านเมืองอยู่ในสมัยนั้น ไม่มีทุ่งนาล้อมรอบหมู่บ้านอย่างปัจจุบันนี้ ตอนนั้นเป็นหมู่บ้านเต็มไปหมด ชาวบ้านทำไร่ข้าวกัน (ทำไฮ้ข้าวเลื่อนลอย) ชาวบ้านต่างแยกย้ายกันออกไปตามพื้นที่ ๆ ที่อุดมสมบูรณ์ เช่น แยกออกไปอยู่หมู่บ้านใหม่ บ้านนากวางของปัจจุบันนี้แล้วแต่พื้นที่ที่เหมาะสม เพราะประชาชนหนาแน่นขึ้น ข้าวอยากหมากแพง และเสื้อผ้าก็ไม่มีนุ่งห่มกัน ท่านเจ้าพ่อพระยาปาดได้เข้าไปบ้านนาฝาย เมืองปากลาย (แขนงไชยบุรี) ประเทศลาวและได้เมล็ดฝ้ายมาแจกจ่ายให้กับประชาชนปลูกผสมกับไร่ข้าว (ทำไฮ้) เพราะไม่มีนาเหมือนทุกวันนี้ ได้ทำไร่ข้าวผสมฝ้ายเลื่อนลอย พอฝ้ายที่ปลูกผสมกับข้าวได้ประมาณ 120 วัน ก็จะมีปุยฝ้ายขาวเต็มไปพร้อมกับข้าว แล้วก็นำเอาฝ้ายมาเข็ญเป็นเส้นฝ้ายแล้วนำมาทำผ้าตัดเย็บด้วยมือเป็นซ้งเป็นเสื้อ (ซ้ง คือ กางเกง) สภาพพื้นที่ทำไร่กันนั้นเหมาะสมที่จะทำนาชาวบ้านก็มาขุดหลักขุดตอออกก็มาทำเป็นบิ้งนา และมาทำคันนบกันลำแม่น้ำปาด ลำห้วยแม่พังงาบ้างและลำห้วยอื่นๆอีกมากมายก็เลยเรียกว่า “ฝาย” กันลำน้ำเพื่อเอาน้ำมาทำนาไร่ข้าวและไร่ฝ้ายก็ค่อยๆหายไป เพราะไม่มีใครทำไร่ข้าวไร่ฝ้าย เพราะทำนาข้าวได้ดีกว่ากัน สุดท้ายมองไปทางไหนก็จะเห็นแต่เมืองฝายกันก็เลยเปลี่ยนจากบ้านฝ้ายมาเป็นบ้านฝาย จนทุกวันนี้[1]

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์[แก้]

ศาลเจ้าพ่อพระยาปาด

ต่อมาในปี พ.ศ. 2313 พระเจ้าตากสินได้ปราบปรามรวบรวมหัวเมืองต่างๆ ได้ตั้งตัวเป็นใหญ่ขึ้นปกครอง หลังจากกรุงศรีอยุธยาแตก เช่น เมืองนครสวรรค์ พิษณุโลก ด่านซ้ายเมืองเลย เจ้าน่าน เจ้าแพร่ รวมทั้งเมืองพระยาปาด พระฝาง ไว้ได้หมดทุกหัวเมือง พ่อพระยาปาดท่าน เป็นคนใจบุญ ท่านได้สร้างวัดขึ้น 1 หลัง ในปี พ.ศ. 2325 สร้างวัด 1 หลัง พร้อมหอสวดมนต์และ สร้างศาลา ขึ้น 2 หลัง เพื่อให้ลูกหลานของชาวบ้านไป หัดอ่าน หัดเขียน เพื่อเป็นการเรียนไปในตัว คือ ให้พระในวัดเป็นคนสอนมาบวชเป็นสามเณร โดยมีคุณพ่อสุวิชชา คำบ้านฝาย เป็นผู้บริจาคที่ดินจำนวน 8 ไร่ 3 ตารางวา ให้กับทางวัดและทางวัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. 2400 และท่านก็ได้ชื่อวัดว่า “ วัดศรีสะอาดโพธิ์ชัย ” เพราะบริเวณวัดมีแต่ต้นโพธิ์และต้นไชยใหญ่รอบบริเวณวัด และศาลา 2 หลังที่ให้ลูกหลานชาวบ้านมาหัดอ่าน หัดเขียน ก็เลยตั้งเป็นโรงเรียนคือ โรงเรียนวัดศรีสะอาดโพธิ์ชัย เพราะอยู่ในที่ดินแปลงเดียวกัน

เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2325 พระมหากษัตริย์ศึกคือ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้จับพระเจ้าตากสินปลงพระชนม์ และได้จับเจ้าหัวเมืองต่างๆทุกๆหัวเมือง ในเวลาไล่เลี่ยกันมา

เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2339 ในฤดูฝน ฝนตกอย่างหนักน้ำในลำแม่น้ำจะล้นฝั่งอยู่แล้ว ท่านพ่อพระยาปาดไปส่งสารที่ในเมืองไม่ได้ เพราะข้ามน้ำน่านไม่ได้ เจ้าเมืองพระฝางหาว่าท่านพ่อพระยาปาดแข้งข้อ แล้วแจ้งข่าวไปหาพระมหากษัตริย์ศึก พระมหากษัตริย์ศึกจึงสั่งจับพระยาปาด แต่ท่านพ่อพระยาปาดไม่ยอมหนีส่วนพระฝางได้หนีไปเลยหายสาบสูญ ส่วนเจ้าพระยาปาดไม่ยอมหนีและมีความจงรักภักดี ซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าตากสินตลอดมา จึงขอยอมตายเพื่อเกียรติศักดิ์และศักดิ์ศรี ของนักรบ โดยไม่ยอมเป็นข้าสองเจ้าบ่าวสองนาย ยอมให้ประหารชีวิตที่ริมลำแม่น้ำปาด ณ ที่หินสามเศร้า (ท่านา ) หน้าประตูเมืองของท่านเอง และศีรษะของท่านได้กระเด็นตกลงสู่ลำแม่น้ำปาดเหล่าทหารได้ลงไปงมหาหัวของท่าน แต่ก็ไม่มีใครพบส่วนภรรยาของท่านได้ไปเกณฑ์เอาชาวบ้านไปช่วยงมหาอยู่ 3 วัน 3 คืนด้วยกัน แต่ก็ไม่มีใครพบเจอเลยไปเจอก้อนหินกลมใหญ่อยู่ในวังน้ำกลางวังพอดีจนสุดท้ายศีรษะของท่านพ่อพระยาปาดก็หาไม่พบจนทุกวันนี้ สันนิษฐานกันว่า ท่านพระมหากษัตริย์ศึกคงจะเอาศีรษะของท่านเสียบประจานที่หน้าประตูเมืองของท่านเลยไม่ให้ใครพบเจอ และเดี๋ยวนี้ยังเรียกท่าน้ำวังว่า วังงม จนทุกวันนี้ หลังจากท่านพ่อพระยาปาดถูกประหารชีวิตไปอยู่นานเท่าไรไม่มีใครทราบได้

เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2425 ได้มีเจ้าเมืองคนใหม่มาปกครองต่อจากท่านพ่อพระยาปาด คือ ท่านพระคันทคีรี ต่อมาท่านพระคันทคีรี เห็นว่าเมืองติดริมแม่น้ำปาดและคับแคบไม่เหมาะสม จึงได้ย้ายเมืองพระยาปาดจากหมู่บ้านฝายมาตั้งเมืองใหม่อยู่ที่บริเวณบ้านลุ่ม ปัจจุบันนี้คือ บ้านแสนตอ และมาเรียกชื่อใหม่ว่า เมืองแสนตอ ในสมัยนั้น

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2450 ก็มีการจัดตั้งมณฑลพิษณุโลกขึ้น เมืองแสนตอจึงได้รับการแต่งตั้งขึ้นเป็นกิ่งอำเภอน้ำปาด ขึ้นกับอำเภอท่าปลาและได้ยกฐานะเป็นอำเภอน้ำปาดในปี พ.ศ. 2450 ตั้งแต่ นั้นมา เมืองพ่อพระยาปาดก็ได้ยุบมาเป็นตำบลบ้านฝายและได้แต่งตั้งกำนันคนแรกของตำบลบ้านฝายในปี พ.ศ. 2450[1]

สภาพด้านสังคม[แก้]

พระศรีโสภณมงคลมุนี พระประธานวิหารวัดศรีสะอาดโพธิ์ชัย

ในหมู่บ้านบ้านฝาย หมู่ที่ 1 มีราษฎรอาศัยอยู่จริง จำนวน 297 ครัวเรือน ประชากรทั้งสิ้น 1,062 คน แยกเป็นชาย 505 คน เป็นหญิง 547 คน มีเส้นทางคมนาคมติดต่อกับหมู่บ้านอื่นๆ จำนวน 1 เส้นทาง เป็นถนนลาดยางระยะห่างจากอำเภอน้ำปาด ประมาณ 1,500 เมตร ซึ่งมีรถยนต์รับจ้าง คือ รถมอเตอร์ไซค์ รถสามล้อ-เครื่อง ห่างจากที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านฝาย 6 กิโลเมตร ห่างจากตัวเมืองอุตรดิตถ์ ประมาณ 75 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมง 30 นาที เส้นทางหลวงหมายเลข 1047 การศึกษา มีโรงเรียน 1 แห่ง คือ โรงเรียนวัดศรีสะอาดโพธิ์ชัย ซึ่งเป็นโรงเรียนสาขาของโรงเรียนชุมชนไกรลาสวิทยาคม รับตั้งแต่นักเรียนชั้นอนุบาล จนถึง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปัจจุบันมีครูอาจารย์ผู้สอน ทั้งหมด 2 คน และมีวัด 1 แห่ง คือ วัดศรีสะอาดโพธิ์ชัย มีพระภิกษุสงฆ์ จำพรรษาอยู่ 2 รูป มีที่อ่านหนังสือพิมพ์ 2 แห่ง[1]

สภาพภูมิศาสตร์[แก้]

ลักษณะภูมิประเทศ โดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่ม ตามริมฝั่งลำแม่น้ำปาดโดยมีเนื้อที่อยู่สองริมฝั่งของลำแม่น้ำปาด และเป็นที่โคกริมฝั่งทางทิศเหนือและทิศตะวันออก ติดต่อกับที่ทำกินของหมู่ที่ 2 บ้านใหม่ และหมู่ที่ 5 บ้านทรายขาว ตำบลบ้านฝาย เป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำนาซึ่งติดกับถนนน้ำปาด-ฟากท่า ส่วนริมฝั่งด้านทิศตะวันตกและทิศใต้เป็นที่ทำนา ทำสวน ตลอดแนวไปถึงหมู่ที่ 5 บ้านสวนตำบลแสนตอ

หมู่บ้านฝาย หมู่ 1 มีอาณาเขตติดต่อกับหมู่บ้านใกล้เคียงดังนี้[1]

  1. ทิศเหนือ ติดต่อกับ ลำแม่น้ำปาด และบ้านทรายขาว หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านฝาย
  2. ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านใหม่ หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านฝาย
  3. ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านนาคันทุง หมู่ที่ 6 ตำบลแสนตอ
  4. ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านสวน หมู่ที่ 5 ตำบลแสนตอ


สภาพภูมิอากาศ[แก้]

สภาพภูมิอากาศของบ้านฝาย มี 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน ฤดูหนาว ฤดูฝน บางปีฝน ก็ตกมาก ทำให้น้ำท่วมเสียหายบางก็แล้งทำให้พืชไร่เสียหายมาก ตามแต่ฤดูกาลของธรรมชาติ

การปกครอง[แก้]

ทำเนียบผู้ปกครองหมู่บ้านฝาย หมู่ 1 จากอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยระบุรายชื่อกำนันของตำบลบ้านฝาย ในปี พ.ศ. 2450 - 2490 ก่อนระบุทำเนียบผู้ใหญ่บ้าน บ้านฝาย หมู่ที่ 1 หลังจากยกฐานะชื่อหมู่บ้านขึ้นเป็นตำบลในปีถัดมา ดังรายนามต่อไปนี้ [1]

  • กำนันของตำบลบ้านฝาย ในปี พ.ศ. 2450 - 2490
  1. นายสาวะดี โยทาสอน ตั้งแต่ พ.ศ. 2450 - 2462 (กำนันคนแรก)
  2. นายขุนนาค มาปุ้ง ตั้งแต่ พ.ศ. 2462 - 2482
  3. นายหม่วน มาบุญ ตั้งแต่ พ.ศ. 2482 - 2490 (ต่อมานายหม่วน มาบุญ ได้ย้ายครอบครัวไปอยู่ บ้านหม่วน หมู่ที่ 4 ซึ่งปัจจุบันคือ บ้านม่วง)
  • ทำเนียบผู้ใหญ่บ้าน บ้านฝาย หมู่ที่ 1 รับตำแหน่งตามปี พ. ศ. ดังนี้
  1. นายพลอย มาบุญ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2497 - 2517 ผู้ใหญ่คนแรกของบ้านฝาย
  2. นายหรั่น ขวาขัน ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2517-2519
  3. นายแบงค์ เนตรขันทอง ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2519 - 2525
  4. นายไทย พาพิมพ์ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2525 - 2528
  5. นายแบงค์ เนตรขันทอง ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2528 - 2533
  6. นายบุญส่ง เวรอักษร ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2533 - 2546
  7. นายประสานกิจ เสาวภา ตั้งแต่ 5 เม.ย. 2546 - 5 เม.ย. 2551
  8. นายประสานกิจ เสาวภา ตั้งแต่ 5 เม.ย. 2551 - 18 ตุลาคม 2555
  9. นายเมฆา เสาวภา ตั้งแต่ 18 ตุลาคม 2555 - ปัจจุบัน

เศรษฐกิจ[แก้]

หมู่บ้านฝาย มีเนื้อที่ทำกิน 12,797 ไร่ มีเนื้อที่อยู่อาศัย 117 ไร่ มีลำแม่น้ำปาด แม่น้ำห้วยพังงา มีน้ำไหลผ่านตลอดทั้งปี มีปลา มีปู มีหอย หากินได้ตลอดปี มีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไม้เศรษฐกิจ คือ ไม้สักทอง ไม้ประดู่ ไม้เต็ง ไม้รัง เป็นต้น ในป่าโคกก็จะมีอาหารป่าตามธรรมชาติ เช่น ไข่มดแดง ผักหวาน ผักสาบ ดอกก้าน เห็ดทุกชนิดตามฤดูกาลของธรรมชาติ และหน่อไม้ ก็เป็นอาหารธรรมชาติของชุมชน ผลิตภัณฑ์ชุมชน ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวโพดถอดยอด ถั่วลิสง งา หอม กระเทียม ข้าว ผลผลิตรวมทั้งหมู่บ้านชาวบ้านฝายส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม รวมรายได้หลักมาจากผลผลิตทางการเกษตร ประมาณปีละ 12,155,000 บาท[1]

วัฒนธรรมประเพณี[แก้]

ชาวหมู่บ้านฝาย ส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธเถรวาท มีวัดประจำหมู่บ้าน 1 แห่ง คือ วัดศรีสะอาดโพธิ์ชัย ซึ่งกิจกรรมทางวัฒนธรรมและประเพณีดั้งเดิมส่วนใหญ่จะจัดขึ้นในวัด และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อในชุมชน

ประเพณีบุญข้าวเปลือก[แก้]

ประเพณีบุญข้าวเปลือกบ้านฝาย จะจัดขึ้นตรงกับวันที่ 31 ธันวาคม – 1 มกราคมของทุกปี คือ จะจัดงานฉลองบุญข้าวเปลือกไปพร้อมกับการฉลองวันขึ้นปีใหม่ไปพร้อมกัน เพราะส่วนใหญ่ช่วงเทศกาลลูกหลานที่ไปทำงานที่ไกลๆจะกลับมาเที่ยวบ้านในช่วงนี้ ประเพณีบุญข้าวเปลือกเป็นความเชื่ออย่างหนึ่งของชาวนาที่ว่า เมื่อชาวนาทำการเก็บเกี่ยวข้าวใส่ยุ้งจนหมดทุกครัวเรือนแล้วเราจะต้องมีการทำบุญข้าวเปลือก เพราะข้าวเปลือกเป็นบุญข้าวพุทธบูชา จะทำให้ได้ข้าวและผลผลิตทางเกษตรได้ดี อุดมสมบูรณ์ ไม่อดอยากอยู่เย็นเป็นสุข ในการจัดงานบุญข้าวเปลือกนั้นชาวบ้านจะร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาและตกแต่งวัดให้ดูสวยงามตามประเพณี ต่อจากนั้นก็มีการนำข้าวเปลือก - ข้าวสาร ปัจจัย ตามกำลังศรัทธาของชาวบ้าน นำมาร่วมทำบุญกัน วันรุ่งขึ้นซึ่งจะตรงกับวันพระก็จะมีการทำบุญตักบาตรตอนเช้า พอสายๆทางคณะกรรมการหมู่บ้านก็จะมีการทำการจำหน่ายข้าวเปลือกและข้าวสารให้กับคนที่ไม่ได้ทำนาต้องการที่จะซื้อข้าวเปลือกในราคาถูกตามมติของคณะกรรมการหมู่บ้าน ซึ่งรายได้ทั้งหมดจะนำไปถวายให้กับทางวัด ก็เท่ากับเป็นการถวายปัจจัยจากความสามัคคีของชาวบ้านด้วยเป็นอันว่าเสร็จสิ้นงานทำบุญข้าวเปลือก[1]

ประเพณีสงกรานต์-แห่ต้นดอกไม้[แก้]

ประเพณีสงกรานต์ของชุมชนบ้านฝาย จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน หลังเที่ยงคืนชาวบ้านที่มีปืนแก๊ปจะยิงปืนเพื่อเป็นการต้อนรับวัน ปีใหม่ไทย ชาวบ้านจะสังขาลล่วง โดยเชื่อว่าพระยาสังขาลจะลงมา ชาวบ้านจึงยิงปืนต้อนรับ

เช้าวันที่ 13 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ คือวันสงกรานต์ ตอนเช้าจะมีการทำบุญตักบาตรกันที่วัด แล้วมีการทำบุญปล่อยนก ปล่อยปลา ปล่อยเต่า ถือว่าเป็นการสะเดาะเคราะห์ให้ออกจากตัวเรา สัตว์เหล่านั้นก็จะได้เป็นอิสระ ตอนกลางวันก็จะเป็นการสรงน้ำพระ เรียกว่าเอาพระลง บางกลุ่มก็อาจจะพากันออกไปเที่ยวในที่ต่างๆบ้าง บางกลุ่มอาจมีการสังสรรค์ หรือเล่นน้ำสงกรานต์กัน

เช้าวันที่ 14 เมษายน ชาวบ้านเรียกว่าวันเนา ( มื้อเน่า มื้อเหม็น) ทุกคนจะอยู่ที่บ้านกันหมด จะไม่ออกไปเที่ยวนอกบ้าน จะมีการสังสรรค์ระหว่างเพื่อนฝูง สังสรรค์ครอบครัว เพราะว่าวันนี้นอกจากจะเป็นวันสงกรานต์แล้วยังเป็นวันครอบครัว เป็นวันสำคัญวันหนึ่งด้วย ลูกหลานที่ไปทำงานที่อื่นๆ ก็จะพากันกลับมาช่วงวันสำคัญต่างๆ

เช้าวันที่ 15 เมษายน ชาวบ้านจะเรียกวันนี้ว่า วันพระยาวัน จะมีการรดน้ำดำหัวให้พ่อ แม่ ผู้ที่เคารพนับถือ แต่ตามประเพณีหมู่บ้านเราจะทำการสรงน้ำเจ้าปู่ตาก่อนที่บ้านฝายก็จะสรงน้ำเจ้าพ่อ พระยาปาด สรงน้ำพระคู่บ้านคู่เมือง รดน้ำผู้สูงอายุ จะทำพร้อมกันในวันนี้ ตอนกลางคืนก็จะมีการแห่ต้นดอกไม้ ไปถวายพระพุทธรูปใหญ่ที่วัด ตอนกลางวันที่เราจะเอาพระพุทธเจ้าขึ้น เราก็มีการแห่ ต้นพานเอาไปถวายพระภิกษุสงฆ์แล้วก็ก่อเจดีย์พระทราย ตอนเช้าก็ทำบุญใส่บาตรกัน ตอนกลางวัน เวลา 12.00 น. หรือเที่ยงวัน ก็มีการสรงน้ำพระภิกษุสงฆ์และพระพุทธรูปในวัดแล้วทำการสู่ขวัญให้พระภิกษุสงฆ์ในวัดแล้วนั้นคือเป็นการเสร็จสิ้นประเพณีสงกรานต์ของบ้านฝาย[1]


ประเพณีเลี้ยงลง (เจ้าพ่อพระยาปาด)[แก้]

ในฤดูก่อนที่ชาวนาจะเอาข้าวลงน้ำ (หว่านกล้า) ต้องมีการเลี้ยงบ้านก็คือ เลี้ยงปูตา ( เลี้ยงเจ้าพ่อพระยาปาด ) เรียกว่าเลี้ยงลง การเลี้ยงลงมีอยู่ 2 อย่าง คือ เลี้ยงหมูไป 2 ปี คือ 4 ครั้ง แล้วก็มาเลี้ยงควาย 1 ครั้ง เรียกว่า 2 ปี หาม 3 ปี คอบ 1 ปี มีการเลี้ยง 2 ครั้ง คือ เลี้ยงลง และเลี้ยงขึ้น พอถึงช่วงชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวจากนาขึ้นยุ้งสาง (เล้า ) ครบทุกครัวเรือนในหมู่บ้าน[1]

ประเพณีเลี้ยงบ้าน (เจ้าพ่อพระยาปาด)[แก้]

การจัดเลี้ยงเจ้าพ่อพระยาปาด (เลี้ยงบ้าน) เดือน 6 วันเลี้ยงชาวบ้านทุกครัวเรือนจะมีข้าวเหนียวสุกไป คนละ 1 แอบ (กระติ๊บ) พร้อมขัน 5 คือโชย 5 อัน การเลี้ยงจะต้องมีภาข้าว ( ภาข้าว คือ ถาดทรงกลม ) ภาข้าว 4 ภา มีเหล้าขาว 4 ขวด มีไก่ผู้แดงตุ้มตีน 1 ตัว น้ำเต็มเต๊าะ ข้าวเต็มแอบภาเสื้อภาผ้า เงินฮ้อยขี้ผึ้งเปี่ยง 1 ชิ้น พอจัดสำหรับเรียบร้อยแล้วข้าวจ้ำ ( ผู้ดูแลและเป็นคนกล่าว ) ก็กล่าวคำอันเชิญท่านเจ้าพ่อพระยาปาดและบริวาลของท่านลงมาจับ มาเหวย กินตรู่ กินสู้กันเสีย[1]

ประเพณีบุญกกโพธิ์เก้าง่า[แก้]

ทำบุญศาลากลางบ้าน (ทำบุญกกโพธิ์เก้าง่า) หลังเลี้ยงบ้านเดือน 6 เสร็จ ก็จะมีการทำบุญกกโพธิ์เก้าง่า คือ ทำบุญศาลากลาง บูชาเทวดาด้วยเครื่องร้อยทั้งนั้น ได้แก่ ช่อร้อยไม้ ร่มร้อยไม้ ธงร้อยไม้ เสกกษัตริย์ร้อยไม้ คำหมากร้อยคำ คำมวนยาร้อยมวน กระจอกใส่อาหารคาวหวานร้อยกระจอก และก่อกองเจดีย์ทราย 1 กอง แล้วนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาสวดมนต์เย็น 3 คืน พร้อมทั้งตักบาตรตอนเช้า 3 เช้า เช้าวันที่ 3 จะมีการฆ่าหมูเพื่อบวงทรวงเทวดาและเลี้ยงเจ้าแม่กกโพธิ์ เก้าง่า แล้วก็เย็บธงชาววา 2 ผืน เพื่อบูชาเทวดาที่รักษาหมู่บ้านให้อยู่ดีมีสุข แล้วนำธงไปแขวนไว้ที่หัวบ้าน ท้ายบ้าน ของหมู่บ้านก็เป็นอันเสร็จพิธี[1]

บุญเข้าพรรษา-แห่ข้าวพันก้อน[แก้]

เมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ตอนเช้าจะมีการทำบุญใส่บาตรที่วัด ในช่วงเข้าพรรษา จะมีการทำบุญใส่บาตรทุกวันพระ ฟังพระเทศน์ เมื่อสมัยแต่ก่อนโน้นตอนกลางคืน 15 ค่ำ จะมีการไปอยู่ที่วัดเพื่อแห่ข้าวพันก้อน คือ เอาข้าวเหนียวนึ่งสุกแล้วมาปั้นเป็นก้อนใส่ภาข้าวให้ถึงพันก้อนแล้วแห่รอบหมู่บ้านกันพอถึงตี 4 ตี 5 ของเช้าวันรุ่งขึ้นก็เอาข้าวพันก้อนใส่บาตรรับศีลรับพร[1]

บุญออกพรรษา-ฉลองต้นพาน[แก้]

วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ในตอนเย็นวันขึ้น 14 ค่ำ จะมีการทำต้นพานเข้าไปที่วัด ตอนเช้าวันขึ้น 15 ค่ำ จะมีการทำบุญใส่บาตร ฟังพระเทศน์ฉลองต้นพานแล้วรับพรเป็นอันเสร็จพิธี หลังจากออกพรรษาได้ประมาณ 10 วัน ก็จะเริ่มมีการทอดผ้ากฐิน การทอดองค์กัณกฐิน โบราณบอกว่าห้ามให้เกินวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ถ้าเกินจะทอดไม่ได้ การทอดผ้ากฐินจะทำได้ปีละหนึ่งครั้งเท่านั้น การทอดผ้าป่าสามารถทำได้หลายครั้ง[1]

วันลอยกระทง[แก้]

เป็นวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 การลอยกระทงเชื่อกันว่าเป็นการขอขมาพระแม่คงคา ซึ่งชาวบ้านฝายจะมีพิธีกรรมเช่นเดียวกับชาวไทยทั่วไป แต่มีคาถาวันลอยกระทง (ฉบับบ้านฝาย จ.อุตรดิตถ์) ซึ่งกล่าวบูชาลอยพระพุทธบาท ซึ่งตั้งอยู่ริมหาดทรายฝั่งแม่น้ำยมนานที เมืองโยนก และขอขมาแม่พระคงคา


ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 1.12 1.13 พระครูโพธิชัยวงศ์ และพระมหาเทวประภาส วชิรญาณเมธี. (๒๕๕๙). โครงการบันทึกข้อมูลท้องถิ่นเพื่อการอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย จังหวัดอุตรดิตถ์. อุตรดิตถ์ : หน่วยวิทยบริการวัดหมอนไม้ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

17°44′14″N 100°41′46″E / 17.737137°N 100.696132°E / 17.737137; 100.696132